แมว สิ่งมีชีวิตที่ทาสอย่างเรา ๆ เดาใจกันไม่ค่อยออก เวลาเราอยากเข้าใกล้ แมวกลับหนี พอเราทำเป็นไม่สนใจกลับเข้ามาเอาอกเอาใจซะอย่างนั้น จะเอายังไงกันแน่!? แมวมีนิสัยไหม หรือแมวก็คือแมวใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณไปวัน ๆ
วันนี้กาโตโระจะมาเปิดเผยความลับ นิสัยแมว 5 แบบ มาดูกันว่าแมวของคุณมีนิสัยเป็นอย่างไร และเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ได้ยังไงบ้าง
รู้จักนิสัยแมวไปทำไม
การรู้จักนิสัยแมวสำหรับตัวผู้เขียนเองแล้วเนี่ยเหมือนได้รู้ความลับของจักรวาลเลยแหละ มันทั้งน่าสนใจและน่าค้นหาอย่างมากเลย มันช่วยคลายความสงสัยในใจบางอย่างว่า เอ๊ะ ทำไมแมวถึงทำพฤติกรรมอย่างนั้น
การรู้จักนิสัยของแมวยังมีประโยชน์ในแง่ของการสังเกตความปกติที่เกิดกับแมวอีกด้วย หากเรารู้ว่า “นิสัยปกติ” ของแมวเราเป็นแบบนี้ เช่น แมวเราเป็นแมวนักสำรวจชอบแอบส่องนกที่ริมหน้าต่าง วันดีคืนดีแมวเรากลับมีพฤติกรรมที่แปลกไป ก็อาจจะเป็นเบาะแสบางอย่างที่ช่วยบอกใบ้เราได้ว่าแมวอาจจะมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น
ที่แน่ ๆ การรู้จักนิสัยแมวช่วยทำให้ทาสแมวเข้าใจพฤติกรรมของแมวมากขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อเราเข้าใจพวกเขาเราจะได้จัดการสภาพแวดล้อมให้กับพวกเขาได้อย่างเหมาะสมเพื่อที่จะลดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา และยังช่วยลดภาวะแมวเบื่อหรือโรคที่มาพร้อมกับภาวะเครียดอย่างแมวกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อีกด้วย
นิสัยแมว 5 แบบ
นิสัยแมว 5 แบบหลัก ๆ อ้างอิงจากงานวิจัยของ University of South Australia1 ซึ่งทำการวิจัยกับแมวทั้งหมด 2,802 ตัว มาประเมินกันว่าแมวของคุณมีนิสัยต่าง ๆ อยู่ในระดับสูงหรือต่ำกันนะคะ เริ่มกันเลย
1.วิตกจริต
แมวที่มีความวิตกจริตอยู่ในระดับสูงจะมีบุคลิกภาพที่เด่น ๆ เลยก็คือ ขี้อาย ชอบหลบซ่อนตัว นอกจากนี้แมววิตกจริตยังแสดงพฤติกรรมอื่น ๆ ออกมาอีก เช่น ตื่นตระหนกตกใจง่าย กลัวการปฏิสัมพันธ์กับแมวและคน ไม่มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่
ในขณะที่แมวที่มีความวิตกจริตต่ำจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอาศัยอยู่ และมีความสงบไม่ขี้ตกใจ
เราสามารถจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยส่งเสริมให้แมววิตกจริตมีความสุขในบ้านมากขึ้นได้โดย จัดพื้นที่ซ่อนตัวให้กับแมว ลองสังเกตดูว่าระหว่างวันแมวเราชอบไปอยู่ที่ไหน บนชั้นวางของหรือใต้เตียง ลองจัดพื้นที่นั้น ๆ ให้มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยสำหรับแมววิตกจริตโดยเฉพาะ เช่น หากแมวชอบไปมุดใต้เตียงเป็นประจำ ลองตรวจสอบให้แน่ใจว่าใต้เตียงไม่มีสัตว์ชนิดอื่นอาศัยอยู่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าไปรบกวนแมวเราได้หรือไม่ การเพิ่มกล่องให้แมวก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แมวชอบและต้นทุนไม่แพง
ในสถานการณ์อื่น ๆ เช่น การพาแมวไปหาหมอ เป็นอีกสถานการณ์ที่มีความท้าทายสำหรับแมววิตกจริตมากเลยทีเดียว วิธีการเตรียมความพร้อมสำหรับแมวในกรณีนี้ก็คือ ควรจับแมวใส่กระเป๋าหรือกรงสำหรับขนส่งสัตว์ให้เรียบร้อย เพราะในโรงพยาบาลสัตว์ แมวจะต้องเจอสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย หากเราอุ้มแมวไปโดยไม่ใส่กรง มีโอกาสสูงมากที่แมวจะดิ้นหลุดจากมือเราและโดนสัตว์ชนิดอื่นเข้ามาทำร้ายได้
2.เข้าสังคมเก่ง
ลักษณะเด่นของแมวที่เข้าสังคมเก่งคือ มีความฉลาด อยากรู้อยากเห็น กระตือรืนร้น ในขณะที่แมวเข้าสังคมไม่เก่งจะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมใด ๆ เลย ซึ่งทางผู้วิจัยให้ความเห็นว่า แมวเข้าสังคมไม่เก่ง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมมักจะมีความเกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มขึ้นหรืออาจมีโรคประจำตัวแอบแฝงอยู่ ควรได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์เพิ่มเติม
เราจะส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้กับแมวที่เข้าสังคมเก่งยังไงดี?
แมวที่เข้าสังคมเก่งจะมีความเบื่อหน่ายและเซ็งในชีวิตได้ง่ายหากไม่มีกิจกรรมอะไรให้พวกเขาทำ โดยเฉพาะแมวที่ถูกเลี้ยงอยู่ในระบบปิด การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นกิจกรรมตามธรรมชาติของแมวจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแมวในกลุ่มนี้อย่างมาก ผู้เขียนขอแนะนำเคล็ดลับ 3 เล่น ดังนี้ค่ะ
พื้นที่เล่น จัดพื้นที่ที่แมวอาศัยอยู่ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชั้นสำหรับปีนป่ายของแมว หรือพื้นที่หน้าต่างที่สามารถมองออกไปแล้วเห็นนกหรือใบไม้ที่ขยับ ๆ ได้ เพียงเท่านี้ก็ช่วยแก้เบื่อได้บ้างแล้วค่ะ
ของเล่น ของเล่นแมวไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นที่มีราคาแพง ของเล่นถูก ๆ อย่างไม้ตกแมวสำหรับเล่นไล่จับ หรือจะเป็นลังกระดาษสำหรับลับเล็บแมว แค่นี้แมวก็แฮปปี้แล้วค่ะ ส่วนใครที่มีงบประมาณสามารถจัดหาคอนโดแมว หรือของเล่นแมวอื่น ๆ ก็สามารถลองซื้อมาให้แมวดูได้เลยค่ะ แต่อาจจะต้องทำความเข้าใจกันหน่อยเรื่องของเล่น หากเราซื้อแล้วมาวางทิ้งไว้เฉย ๆ แล้วหวังว่าแมวจะเข้ามาเล่นเอง ไม่มีการสลับไปใช้ของเล่นอื่นเลย สุดท้ายแมวก็อาจจะเบื่อได้เหมือนเดิม
เล่นด้วยกัน ข้อนี้ตามความเห็นของผู้เขียนคิดว่าสำคัญที่สุดแล้วค่ะ เพราะของเล่นแพง ๆ มากมาย หากเราซื้อมาแล้วแต่ไม่มีโอกาสใช้มันกับแมวเลย มันก็ไม่คุ้มใช่ไหมคะ ตัวเรานี่แหละคือของเล่นแมวที่สามารถเอนเตอร์เทนแมวได้ดีที่สุดแล้ว
การละเล่นที่ผู้เขียนชอบและอยากแนะนำคือ Cat stalker ค่ะ ลองแอบมองแมวจากมุม ๆ นึงแล้วโผล่หัวออกไปให้แมวเห็นว่า เรามองเธออยู่นะ แล้วหลบแมวไปสัก 5 วินาที แล้วโผล่หัวไปอีกที ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แมวจะคิดว่าเราเป็นเหยื่อแล้วแมวจะแอบย่องตามเรามา เป็นการละเล่นง่าย ๆ ที่สนุกและช่วยกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าของแมวได้ดีทีเดียวเลยค่ะ
บทความแนะนำในหัวข้อนี้
เริ่มจากการสังเกต แมวเบื่อ แมวที่เบื่อหน่ายจะมีพฤติกรรมที่แปลกไปอย่างไรบ้าง? และ การจัดบ้านให้ถูกใจแมว รวมเทคนิคจัดบ้านสำหรับแมวเลี้ยงระบบปิด
3.ก้าวร้าว
แมวที่มีความก้าวร้าวสูงจะชอบกลั่นแกล้งแมวตัวอื่น ก้าวร้าวใส่แมวตัวอื่น และชอบตีกับสัตว์ชนิดอื่น ในขณะเดียวกันแมวที่มีความก้าวร้าวต่ำจะเป็นแมวตัวที่ถูกกลั่นแกล้งและเป็นมิตรกับแมวตัวอื่น
แมวที่มีความก้าวร้าวสูงจะมีปัญหาในสถานการณ์ที่ต้องเลี้ยงแมวรวมกันหลายตัวในบ้าน แมวกร่างจะสร้างความรำคาญใจให้กับแมวตัวอื่นอย่างมาก
การจัดการสภาพแวดล้อมที่ช่วยลดความเครียดเมื่อมีแมวกร่างอาศัยอยู่ในบ้านสามารถจัดการได้โดย จัดหาความต้องการพื้นฐานให้เพียงพอกับจำนวนแมวที่มีอยู่ทั้งหมดในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันเช่น จำนวนชามน้ำ ชามอาหาร และจำนวนกระบะทรายให้เหมาะสมกับจำนวนแมวที่เรามี สามารถอ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียดได้ในบทความ แมวตีกันการสงบศึกระยะสั้นและการแก้ปัญหาระยะยาว
4.หุนหันพลันแล่น
นิสัยแมวอีกข้อหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ความหุนหันพลันแล่น แมวที่มีความหุนหันพลันแล่นสูงจะอารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยผู้วิจัยได้ให้ความเห็นว่าความหุนหันพลันแล่นของแมวมักจะมีสาเหตุมาจากสภาวะแวดล้อมภายนอกที่กดดันแมว และแมวกลุ่มนี้มีปัญหาในการปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมนั่นเอง
ในขณะเดียวกันแมวกลุ่มที่มีนิสัยหุนหันพลันแล่นต่ำ จะเป็นแมวที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ได้อย่างง่ายดาย มีความชิลในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สติแตกเวลาต้องเจอสถานการณ์ที่ท้าทายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับแมวที่มีความหุนหันพลันแล่นสูง แน่นอนว่าต้องหาให้เจอก่อนว่าอะไรหรือสิ่งไหนในบ้านที่เป็นตัวกระตุ้นให้แมวเกิดความเครียดอยู่ตลอดเวลา
เรามีเช็คลิสต์สถานการณ์ยอดฮิตที่มักจะทำให้แมวเกิดความเครียด มาลองเช็คดูกันก่อนนะคะ ว่ามีสิ่งเหล่านี้กำลังรบกวนแมวของเราอยู่หรือไม่
- เลี้ยงสัตว์รวมกันหลายตัว (สัตว์ชนิดอื่น-แมว หรือ แมว-แมว)
- เพิ่งย้ายบ้าน
- ถูกปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยวเป็นเวลานาน แต่ข้อนี้ขึ้นอยู่กับนิสัยแมวแต่ละตัวด้วยนะ บางตัวก็ติดคนต้องการมนุษย์ บางตัวก็ชอบที่จะอยู่ตัวเดียวมากกว่าปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์
- ความเครียดที่เกิดจากแหล่งขับถ่ายไม่เหมาะสม เช่น จำนวนกระบะทรายไม่เหมาะสมน้อยเกินไป , ขนาดไม่เหมาะสม , ไม่สะอาด เป็นต้น
- เปลี่ยนอาหารอย่างฉับพลัน
- อากาศเปลี่ยนแปลง
- มีสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ หรือเด็กทารก
- มีการต่อเติมบ้านหรือไม่ (เสียงดัง)
- มีการเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือไม่
- เจ้าของเปลี่ยนแปลงตารางการทำงานไหม ทำให้ต้องทิ้งแมวไว้ตัวเดียวนานขึ้น
- เจ้าของเครียดหรือไม่
นี่เป็นเพียงตัวอย่างสถานการณ์ที่มักจะกระตุ้นให้แมวเกิดความเครียดได้ อย่างไรก็ตามหากลองปรับดูทุกอย่างแล้วพบว่าแมวของเราก็ยังไม่หายเครียด กาโตโระแนะนำว่าให้ไปปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เขาช่วยหาสาเหตุจะดีกว่าค่ะ
5.เป็นมิตร
นิสัยแมวเป็นมิตรที่ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ แมวที่มีความเป็นมิตรสูงสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เลยค่ะ โดยแมวกลุ่มนี้มักจะเป็นที่รักของทั้งคนและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ขี้อ้อน ติดคน ชอบแสดงความรัก
ในขณะที่แมวที่มีความเป็นมิตรต่ำจะชอบอยู่ตัวเดียว ไม่สุงสิงกับใคร มีความสบายใจที่จะใช้เวลาเงียบ ๆ ในมุมใดมุมหนึ่งของบ้านมากกว่าการเข้าสังคม
แมวมีความเป็นมิตรสูงจะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้ใช้เวลาอยู่กับพวกเราค่ะ การที่แมวมีความเป็นมิตรสูงและแสดงออกว่ามีความสุขขนาดนี้แสดงว่าสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ต้องมีความเหมาะสมพอสมควรอยู่แล้วค่ะ ขอแสดงความยินดีด้วยจริง ๆ กับทุกท่านที่โชคดีได้พบเจอแมวเฟรนด์ลี่
ส่วนใครที่มีโอกาสได้เลี้ยงแมวที่มีความเป็นมิตรต่ำก็ไม่ต้องน้อยใจไปค่ะ ทำความเข้าใจแล้วยอมรับกับนิสัยของพวกเขา ไม่ต้องไปบังคับฝืนใจให้พวกเขาให้เป็นอะไรที่ไม่ได้เป็น แค่จัดหามุมสงบ ๆ ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขภายในบ้าน แค่นี้แมวก็แฮปปี้แล้วค่ะ
ฝากถึงเจ้าของแมวทุกตัว
หวังว่าทุกคนคงได้คำตอบกันไปแล้วนะคะว่าแมวแต่ละตัวก็มีนิสัยเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปเฉกเช่นเดียวกับคน การทำความเข้าใจนิสัยแมวแต่ละตัวจะทำให้ความสัมพันธ์ของเราและแมวดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ อยากให้ผู้อ่านทุกคนลองใช้เวลาในการศึกษานิสัยของแมวแต่ละตัวค่ะ เพราะเมื่อเรารับเขาเข้ามาในชีวิตแล้วเนี่ย เขาจะอยู่กับเราไปเป็น 10 ปีเลย ความสัมพันธ์ที่ดีต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทนในการสานสัมพันธ์ แล้วความสุขในการได้ใช้ชีวิตกับแมวจะไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ
อ้างอิง