ปัญหาแก้ไม่ตกของคนเลี้ยงแมวระบบปิดเมื่อเลี้ยงแมวรวมกันหลายตัวในพื้นที่จำกัด “แมวตีกัน” เอาเข้าจริงเมื่อพวกเราดูคลิปแมวขู่กัน แมวไม่ถูกกันทะเลาะกันในอินเตอร์เน็ตบางคลิปนำมาตัดต่อให้ดูตลกก็ช่วยสร้างความบันเทิงได้ระดับนึงเลยนะ แต่สำหรับเจ้าของแมวที่อยู่ในคลิป เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทาสแมวควรมองข้ามเลย
จากเรื่องเล็ก ๆ แค่แมวตีกันนี่แหละที่อาจนำไปสู่ปัญหาตามมามากมายไม่รู้จบ ที่เห็นกันชัด ๆ เลยก็คือเลือดตกยางออกกันไปทั้งแมวทั้งคนจับแยก ข้าวของเสียหายจากการทะเลาะกันของเจ้าเหมียวและไหนจะเสียงดังรบกวนข้างห้องอีก ไม่ใช่แค่เท่านี้ แมวที่อยู่ในสภาวะตึงเครียดนาน ๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้แมวตัวนั้นพัฒนาโรคแมวกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อีกด้วย
แล้วการจัดบ้านจะช่วยได้อย่างไร การจัดบ้านอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ 100% แต่สามารถช่วยลดการเผชิญหน้ากันของแมวคู่กัดและช่วยทำให้แมวผ่อนคลายขึ้นจากการใช้ชีวิตไร้กังวล
อย่างไรก็ตามการทะเลาะกันของแมวอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่พวกเราไม่อาจเข้าใจได้เช่น แมวทั้งสองเกลียดขี้หน้ากันจริง ๆ ชาตินี้อย่าหวังให้ญาติดีกันเลย เป็นต้น
การจัดบ้านให้แมวได้มีพื้นที่แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมวจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อยากให้คนเลี้ยงแมวได้ลองทำตาม ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แยกแมวตีกันอย่างปลอดภัยทำอย่างไร และวิธีแก้ปัญหาระยะยาว การจัดบ้านตามความต้องการพื้นฐานของแมว หากเจ้าของแมวเข้าใจธรรมชาติของพวกเขาไม่แน่อาจจะช่วยลดปัญหาแมวตีกันก็ได้ ลองดูเถอะไม่มีอะไรเสียหาย
วิธีการแยกแมวตีกันอย่างปลอดภัย
1.สังเกตสมรภูมิรบ
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก! ให้สังเกตสถานที่ที่แมวกำลังต่อสู้ก่อนเข้าหาแมว ลองดูว่ามีสิ่งของอะไรที่จะสามารถตกหล่นลงมาแล้วสร้างความเสียหายได้หรือไม่ บนพื้นมีอุปกรณ์อะไรที่จะเป็นอันตรายแก่คนและแมวได้หรือเปล่า มือใหม่ที่เข้าไปแยกแมวมักจะใจไม่นิ่งพออาจตื่นตกใจและชนข้าวของทำให้เสียหายได้ หากบริเวณที่แมวกำลังต่อสู้อยู่มีสิ่งของเช่น มีด แจกัน ชามแก้ว ขวดน้ำ ฯลฯ ให้ย้ายสิ่งของเหล่านั้นออกจากพื้นที่ก่อนที่จะเข้าไปแยกแมว
2.วิธีแยกแมวตีกัน
เทคนิคที่ 1: ต้อนแมวให้ไปสงบสติอารมณ์คนละห้องกัน (แนะนำมากที่สุด)
หากใครมีประสบการณ์เจอแมวทะเลาะกัน กว่าแมวจะตีกันได้เนี่ยแมวจะใช้เวลาในการขู่ใส่กัน ร้องใส่กันนานพอสมควรก่อนที่จะเริ่มตีกันจริง ๆ อย่างกับกำลังแข่งกันว่าใครร้องเสียงดังกว่าคนนั้นชนะ ขอให้เจ้าของแมวใช้จังหวะนี้หาอุปกรณ์ เช่น กระดาษลังที่แข็งและมีขนาดใหญ่กว่าตัวแมวหลายเท่า ต้อนแมวหรือครอบตัวแมว (เลือกมาสักตัว หากห้องที่จะต้อนแมวเข้าไปเป็นที่เล่นประจำที่คุ้นเคยของแมวA ให้เลือกต้อนแมวA) หลังจากนั้นต้อนแมว B ให้ออกห่างไกลจากสายตาของแมว A ให้เวลาแมวทั้งคู่สักพัก
ข้อควรระวัง
การให้อาหารแมวหรือขนมแมวเลียหลังจากที่แมวตีกัน อาจเป็นการส่งเสริมให้แมวคิดว่าการตีกันเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะนอกจากตีกันได้ระบายอารมณ์แล้วยังได้ของรางวัลอีก
เทคนิคที่ 2: โยนสิ่งของลงไปกลางวงต่อสู้ เป้าหมายเพื่อจะทำให้แมวแยกย้าย
สิ่งของที่จะโยนลงไปกลางวงต่อสู้ควรเลือกสิ่งที่มีน้ำหนักเบาแต่ก็ใหญ่มากพอและไม่เป็นอันตรายแก่แมว เช่น หมอนใบใหญ่ ก่อนโยนลงไปต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในกรณีที่แมวกำลังขู่กันอยู่วิธีการนี้อาจเป็นการกระตุ้นให้แมวต่อสู้กันเร็วมากขึ้นก็ได้ ก่อนที่จะโยนสิ่งของอะไรลงไปกลางวงต่อสู้ให้คิดถึงขั้นต่อไปก่อนว่า แมวแยกกันแล้วไปไหน? ภายในบ้านมีที่หลบภัยให้แก่แมวคู่กรณีทั้งสองตัวหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีที่ให้แมวหลบ แมวก็จะกลับมาเผชิญหน้ากันอีกอยู่ดี
ข้อควรระวัง
ไม่ควรโยนสิ่งของใส่แมวโดยตรง ควรโยนสิ่งของลงบนพื้นที่ใกล้ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากแมวเท่านั้น เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ
เทคนิคที่ 3: ใช้ปืนฉีดน้ำหรือทำเสียงดัง เพื่อดึงความสนใจแมวที่กำลังสู้กัน
ดึงความสนใจของแมวด้วยเสียงดังหรือใช้ฟ็อกกี้ใส่น้ำสะอาดฉีดใส่แมวเพื่อให้แมวแยกออกจากกัน ขอสารภาพตามตรงว่าเคยใช้ปืนฉีดน้ำฉีดใส่แมว ไม่เวิร์คเลย แมวไม่หนีแล้วก็ต้องมาทำความสะอาดพื้นที่เปียกน้ำอีก ใครจะลองดูก็ได้อาจจะได้ผลในแมวบางตัว
ข้อควรระวัง
น้ำที่ไม่สะอาดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่แมวได้ แมวหน้าสั้นควรหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำใส่เพราะจะมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าแมวที่มีโครงสร้างใบหน้าปกติ
เทคนิคที่ 4: แยกแมวโดยใช้มือเปล่า (ไม่แนะนำ)
สำหรับใครที่คิดว่า กับแมวตัวนี้พวกเรารักกัน เราสนิทกัน เรานอนด้วยกัน ขอให้หยุดความคิดนี้ไว้ก่อน แมวกำลังโกรธก็คือแมวกำลังโกรธ ห้วงอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน ใจที่กำลังจดจ่อกับศัตรูตรงหน้า ลองคิดดูว่าอยู่ ๆ มีมือเข้ามาจับในอารมณ์แบบนั้นแมวจะทำยังไง ไม่เหลือค่ะบอกเลย แขนสวย ๆ เป็นรอยแผลยาวตั้งแต่ต้นแขนไปถึงปลายแขน
ทุกส่วนของร่างกายแมวคืออาวุธ เรารวบหนังคอได้ก็จริงแต่ขาทั้งสี่ของแมวยังเป็นอิสระอยู่ ข้อเท็จจริงอีกอย่างก็คือการรวบที่หนังคอแมวโตไม่ได้ทำให้แมวนิ่งและนึกถึงพระคุณของแม่แมวแต่อย่างใด สำหรับแมวที่โตแล้วการถูกดึงหรือคาบหนังคอมักเกิดในขณะที่มีการผสมพันธุ์หรือการต่อสู้ ซึ่งการถูกจับบริเวณหนังคอในแมวโตเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียดและความกลัวมากกว่า อ่านวิธีจับแมวฉบับเต็มได้ที่นี่
หากจำเป็นจริง ๆ ต้องใช้มือเปล่าในการห้ามแมว แนะนำว่าให้ใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่รวบทั้งตัวแมวให้ได้ภายในครั้งเดียว แล้วรีบแยกให้แมวคู่กรณีไปสงบสติอารมณ์คนละห้อง
ข้อควรระวัง
ขาหลังของแมวทั้งสองข้างเป็นอาวุธชั้นเยี่ยมเลยแหละ หากใจนิ่งและคิดจะแยกแมวด้วยวิธีนี้แล้วก็ต้องระวังขาหลังของแมวข่วนเอาด้วยนะ จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วไม่แนะนำมือใหม่ให้ใช้วิธีนี้เลยค่ะ
แก้ปัญหาแมวตีกันระยะยาว
หนึ่งในสาเหตุที่มักทำให้แมวที่เลี้ยงในบ้านตีกันคือการแย่งชิงอาณาเขตและทรัพยากรที่มีจำกัด (น้ำ อาหาร พื้นที่อาบแดด กระบะทราย ที่นอนหรือแม้กระทั่งความสนใจจากมนุษย์) แมวเป็นสัตว์นักล่าโดดเดี่ยวตามธรรมชาติ แมวทุกตัวจำเป็นต้องมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเอง การนำแมวเข้ามาเลี้ยงรวมกันในสถานที่ปิดขนาดเล็กแล้วคาดหวังว่าแมวจะต้องเข้ากันได้ดีอาจจะไม่แฟร์สำหรับแมวเท่าไหร่นัก
คำแนะนำของพวกเราก็คือ ลองมาเรียนรู้ความต้องการพื้นฐานของแมวแล้วจัดบ้านให้ได้ตามความต้องการของแมวแต่ละตัวเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างแมวที่ไม่ชอบหน้ากันเถอะ!!
มาเริ่มกันเลย
1.ศิลปะการให้อาหารแมว
โอ้โห การให้อาหารแมวต้องมีศิลปะด้วย!? ก็แค่เทอาหารให้แมวแล้วแมวมากินก็น่าจะโอเคแล้วไม่ใช่เหรอ ถ้าแมวบ้านไหนรักใคร่กันดีก็ถือว่าเจ้าของทำบุญมาดีค่ะ แต่แมวที่เกลียดกันล่ะ เราจะมีเทคนิคอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันได้บ้าง
ธรรมชาติของแมวไม่ต้องการการเข้าสังคมหรือพูดคุยกันระหว่างกินอาหาร แมวจะสบายใจเมื่อได้กินอาหารเพียงตัวเดียวมากกว่าการกินอาหารในชามเดียวกัน การให้แมวแชร์ชามอาหารกันอาจนำไปสู่ปัญหาแมวทะเลาะกันได้เนื่องจาก แมวต้องคอยเฝ้าระวังว่าแมวตัวอื่นจะมาแย่งอาหารไหม ลองสังเกตดูว่าแมวของคุณกินอาหารแบบรีบร้อน กินเหมือนกลัวใครจะมาแย่งหรือไม่ นี่คือสัญญาณหนึ่งของความกังวลในแมว
การให้อาหารแมวในเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกัน อาจนำความเครียดมาสู่แมวได้โดยไม่ตั้งใจเนื่องจากแมวทุกตัวจะต้องมารวมกันในสถานที่เล็ก ๆ เพื่อกินอาหาร หากมีปัญหาแมวตีกันควรพิจารณาให้อาหารคนละสถานที่และเวลา
สิ่งสำคัญที่อยากเน้นให้เจ้าของแมวทราบก็คือ แมวแต่ละตัวควรมีชามอาหารเป็นของตัวเองโดยวางให้ห่างจากชามน้ำและกระบะทราย
ทำไมถึงไม่แนะนำให้วางชามน้ำและอาหารใกล้กัน? เผื่อกินอาหารไปแล้วข้าวติดคอแมว มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ ๆ ไม่ดีกว่าเหรอ
ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งชามน้ำและชามอาหารอยู่ใกล้กันทำออกมาขายอยู่ในตลาดเยอะแยะมากมาย แต่นักพฤติกรรมสัตว์ให้ความเห็นว่าแมวที่เป็นสัตว์นักล่าจะไม่ชอบล่าเหยื่อในบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำของตนเอง เนื่องจากอาจทำให้แหล่งน้ำนั้นปนเปื้อนแบคทีเรียจากอาหารได้ เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันการวางชามน้ำและชามอาหารใกล้กันมีโอกาสที่อาหารจะกระเด็นเข้าไปอยู่ชามน้ำได้ และแมวก็เป็นสัตว์ที่มีความไวต่อกลิ่นที่เปลี่ยนไปได้เร็วมาก แมวอาจจะรู้สึกไม่ดีหากต้องทานน้ำสกปรก
ส่วนการวางชามอาหารใกล้กระบะทรายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเนื่องด้วยเหตุผลเดียวกันคือเรื่องของความสะอาด
คำแนะนำจัดวางชามอาหารในที่ที่ปลอดภัยไม่มีคน สัตว์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนระหว่างกินอาหารได้
อยากให้แมวลองเปลี่ยนอาหารทำอย่างไรดี?
ก่อนเปลี่ยนอาหารให้ถามแมวก่อน ใช่แล้วคุณผู้อ่านอ่านถูกแล้ว วิธีการถามแมวก็คือการวางอาหารใหม่ที่เราต้องการให้แมวกินในชามอาหารอีกอันหนึ่งข้าง ๆ อาหารที่แมวกินประจำ หลังจากนั้นแมวจะตอบคำถามของคุณเองว่าชอบอาหารใหม่หรือไม่
2.เทคนิคการจัดชามน้ำให้แมวแบบมือโปร
เรื่องนี้เป็นปัญหาปวดหัวสำหรับคนเลี้ยงแมวเลย แมวกินน้ำน้อยเป็นสาเหตุหลักโน้มนำทำให้แมวมีปัญหาสุขภาพตามมา เช่น แมวกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เบื้องต้นอยากให้ผู้อ่านลองค้นหาสาเหตุดูก่อนว่าปัญหามันคืออะไร แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสม แมวไม่ชอบรสชาติของน้ำ หรือแมวไม่กล้าออกไปทานน้ำเพราะถูกกลั่นแกล้งจากแมวตัวอื่น
กระตุ้นให้แมวทานน้ำให้มากขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ ตามมาเลย
เริ่มจากตำแหน่งที่ตั้ง
ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งน้ำในแมวจะใช้หลักการเดียวกันกับชามอาหารคือ แมวแต่ละตัวควรมีชามน้ำเป็นของตัวเองโดยวางให้ห่างจากชามอาหารและกระบะทราย ถ้าให้ดีควรมีแหล่งน้ำมากกว่า 1 แห่ง กระจายอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน และน้ำต้องใหม่สะอาดเต็มชามเสมอ
ลักษณะของชามน้ำ
ชามน้ำที่แมวชอบของแมวแต่ละตัวอาจแตกต่างกันไป ต้องอาศัยการสังเกตจากเจ้าของแมวร่วมด้วย จากการหาข้อมูลเบื้องต้นพบว่าแมวส่วนใหญ่ชอบชามน้ำที่มีลักษณะดังนี้
- หลีกเลี่ยงชามน้ำพลาสติกเพราะอาจส่งผลให้กลิ่นและรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปได้ แนะนำให้ใช้วัสดุเป็นแก้วหรือเซรามิค
- แมวชอบชามน้ำขนาดใหญ่และเตี้ยเพื่อที่แมวจะได้มองเห็นอันตรายรอบตัวในระหว่างทานน้ำ
- แมวบางตัวชอบน้ำไหลมากกว่าน้ำนิ่ง
3.เรื่องกระบะทรายก็สำคัญนะ
แมวจะไม่ขับถ่ายในกระบะทรายที่ไม่สะอาดและไม่ชอบการใช้ห้องน้ำร่วมกับแมวตัวอื่น
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความจุกจิกเรื่องห้องน้ำอยู่พอสมควร ห้องน้ำไม่สะอาดเหรอ ไม่ฉี่ก็ได้ ต้องใช้ร่วมกับแมวตัวอื่นเหรอ หยี สกปรกอ่ะ ทรายอะไรเนี่ยมนุษย์ ทำไมมันแฉะจัง หรือสภาพแวดล้อมที่กดดันแมวอยู่ตลอดเวลา เช่น การทะเลาะกันระหว่างแมว และเหตุผลเยอะแยะอีกมากมายที่แมวจะอั้นฉี่จนกว่าจะอดทนไม่ไหวจริง ๆ
การจัดการเรื่องกระบะทรายให้เหมาะสมกับจำนวนแมวและความชอบของแมวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แมวสามารถใช้ชีวิตภายในบ้านได้อย่างไร้ความกังวลและช่วยหลีกเลี่ยงการปะทะกันของแมวได้
มาดูกันว่าเราต้องจัดการกระบะทรายแมวในแง่มุมไหนบ้าง
จำนวนกระบะทราย
หากใครตอบคำถามนี้ได้ว่าจำนวนกระบะทรายที่เหมาะสมสำหรับจำนวนแมวในบ้านคือเท่าไหร่ คุณคือทาสแมวตัวจริง!!
คำตอบก็คือ จำนวนกระบะทรายที่เหมาะสม = จำนวนแมว + 1
หมายความว่าแมว 1 ตัวมีกระบะทราย 2 กล่อง / แมว 2 ตัว มีกระบะทราย 3 กล่อง…… เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
ขนาดของกระบะทราย
ขนาดที่เหมาะสมต้องมีขนาดใหญ่มากพอให้แมวเข้าไปได้ทั้งตัวและมีพื้นที่ให้แมวฝังกลบทรายได้โดยไม่ต้องก้าวออกนอกกระบะทราย สำหรับใครที่ชอบความเป๊ะเราก็มีสูตรคำนวณมาให้ดังนี้
แล้วความสูงล่ะ?
สำหรับแมวสายฝังกลบที่ชอบตะกุยทรายจนเลอะเทอะไปหมด การใช้กระบะทรายที่มีฝาปิดมิดชิดนอกจะจะช่วยลดภาระที่พวกเราต้องทำความสะอาดทรายที่หล่นออกนอกกระบะทรายแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการเก็บกลิ่นอีกด้วย
ความสูงที่เหมาะสมของกระบะทราย ต้องมีความสูงในระดับที่แมวเข้าออกได้และแมวหมุนตัวไปมาได้อย่างสะดวก
รู้หรือไม่ สำหรับแมวสูงอายุควรเลือกทางเข้ากระบะทรายระดับต่ำ ๆ เพื่อให้แมวไม่ลำบากจนเกินไปในการเข้าไปใช้งาน
ตำแหน่งของกระบะทราย
ควรวางกระบะทรายแมวในที่ที่มีความสงบและไม่ไกลจนเกินไปนัก การเลี้ยงแมวระบบปิดในปัจจุบันที่นิยมเลี้ยงในคอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์ทำให้มีพื้นที่วางกระบะทรายแมวไม่มากนัก บางท่านจึงเลือกวางกระบะทรายแมวไว้ข้างถังซักผ้า เวลาเครื่องซักผ้าทำงานเกิดเสียงดังแมวบางตัวก็มีความไวต่อเสียงเหล่านั้นทำให้ไม่กล้าขับถ่ายก็มีนะ
หลีกเลี่ยงการวางกระบะทรายใกล้กับชามอาหารและชามน้ำของแมว เพราะทรายแมวอาจกระเด็นเข้าไปผสมกับอาหารของแมวได้
ทริคน่ารู้ กรณีที่เลี้ยงในกรงมีพื้นที่ไม่มากนักและจำเป็นต้องวางชามอาหารระดับเดียวกับกระบะทราย ให้ใช้อุปกรณ์เสริมในการยกระดับชามน้ำและชามอาหารให้สูงจากระดับของพื้นขึ้นมา ลองสังเกตดูว่าแมวชอบนั่งยอง ๆ ทานอาหาร หรือชอบนั่งตัวตรงขึ้นมาหน่อย แล้วให้ปรับระดับความสูงตามความเหมาะสมของแมวแต่ละตัว
ความสะอาด
แมวจะไม่ขับถ่ายในที่ที่สกปรกเด็ดขาด!! เพราะฉะนั้นควรทำความสะอาดกระบะทรายแมว เก็บของเสียออกให้บ่อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
4.ที่หลบภัย
เคยสังเกตไหมว่าทำไมแมวของพวกเราถึงชอบไปนอนอยู่ในกล่องหรือบนชั้นวางของสูง ๆ ก็เพราะว่าแมวจะรู้สึกปลอดภัยและสบายใจเมื่อได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แมวรู้สึกว่าสามารถควบคุมได้ยังไงล่ะ ทำไมแมวถึงชื่นชอบที่สูง เรื่องนี้มีคำอธิบาย แมวตามธรรมชาติแล้วเป็นสัตว์นักล่าที่สามารถใช้เวลานอนหลับได้มากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน การนอนบนที่สูงทำให้แมวสามารถเห็นศัตรูได้ในระยะไกลและมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่านอนบนพื้น จึงไม่แปลกเลยถ้าจะเห็นแมวบ้านชอบปีนป่ายขึ้นไปนอนบนที่สูง
คำแนะนำในกรณีที่เลี้ยงแมวหลายตัวในบ้าน ให้ลองสังเกตดูว่าแมวแต่ละตัวชอบใช้เวลาในแต่ละวันอยู่ในบริเวณไหนมากที่สุด บริเวณที่แมวสามารถนอนได้อย่างสบายใจนั้นถือเป็นแก่นสำคัญที่สุดของอาณาเขตของแมวแต่ละตัว เมื่อกำหนดขอบเขตของแมวแต่ละตัวได้แล้วให้เพิ่มความน่าอยู่ของสถานที่นั้น ๆ โดย
ประเมินว่าบริเวณนั้นสงบจริงไหม แมวหรือสัตว์ตัวอื่นสามารถเข้ามารบกวนได้ง่าย ๆ หรือเปล่า บริเวณที่แมวปีนป่ายขึ้นไปมีความปลอดภัยหรือไม่ ให้จัดการเอาสิ่งกีดขวางที่สามารถตกหล่นแล้วก่อให้เกิดอันตรายออกไปให้ได้มากที่สุด
สำหรับผู้ที่เลี้ยงแมวในคอนโด/อพาร์ทเม้นท์ หากไม่สะดวกในการจัดที่อยู่แมวในแนวตั้ง แค่กล่องสะอาด ๆ สักใบแมวของคุณก็แฮปปี้แล้วค่ะ ขอแค่ให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สงบสำหรับแมวตัวนั้นเพียงตัวเดียวก็พอ
สามารถอ่านเรื่องการจัดบ้านตามใจแมวเพิ่มเติมได้ที่นี่
ส่งท้าย
ปัญหาแมวตีกัน แมวไม่ถูกกัน แมวทะเลาะกันเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวอย่างมากสำหรับเจ้าของแมว พวกเราขอแนะนำวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการจัดบ้านให้มีทรัพยากรที่เหมาะสมแก่แมวทุกตัวในบ้านดูก่อน หากเจ้าของได้ลองทุกวิถีทางแต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาแมวตีกันได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพราะอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นต้นเหตุให้แมวก้าวร้าวใส่กันได้ค่ะ
ใครที่บ้านเลี้ยงแมวหลายตัว เพื่อน ๆ มีวิธีในการจัดการปัญหาแมวไม่ถูกกันอย่างไรบ้างคะ มาแชร์ให้พวกเราฟังได้ในกล่องความคิดเห็นด้านล่างนี้เลยค่ะ
อ้างอิง