เจ้าเหมียวตัวร้อนเป็นไข้ ให้แมวกินยาพาราได้ไหมนะ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าของบางคนยังไม่แน่ใจว่าแก้ปวด แก้อักเสบที่มีในบ้านใช้ได้จริงกับเจ้าเหมียวหรือไม่ ยาแก้ไข้คนกับยาแก้ไข้แมวใช้ด้วยกันได้ไหม อ่านเลยกาโตโระสรุปมาให้แล้ว
1.แมวกินยาพาราได้ไหม
คำถามที่กาโตโระแน่ใจว่าทาสแมวมือโปรจะตอบเสียงดังฟังชัดอย่างแน่นอนว่า ไม่!!! แต่สำหรับทาสแมวมือใหม่ ไม่รู้ไม่เป็นไรนะ มาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลย
พาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออะซีตะมิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวด อยู่ในกลุ่มยาที่เรียกว่า NSAIDs (ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ลดไข้ ลดอาการอักเสบของร่างกายแบบไม่มีสเตียรอยด์) เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เรียกว่ามีทุกบ้าน หยิบกินง่าย ซื้อยามากินง่าย แต่อย่าลืมว่าเจ้าเหมียวไม่ใช่มนุษย์ตัวเล็ก การป้อนยาพาราให้แมวไม่ต่างจากป้อนยาพิษเลยล่ะ
สาเหตุที่ยาพาราคือยาพิษสำหรับแมว
ร่างกายของแมวค่อนข้างบอบบางเป็นพิเศษและไวต่อสารพิษมากกว่ามนุษย์หรือสุนัข โดยเฉพาะยากลุ่มลดไข้ ลดปวด ลดอักเสบ เนื่องจากแมวขาดเอนไซม์ Glucuronyl transferase ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการแปรรูปยาพาราเมื่อเข้าสู่ร่างกายแมว
ตับและเม็ดเลือดแดงเป็นจุดสำคัญที่ได้รับพิษไปเต็ม ๆ พิษจากยาพาราจะเริ่มส่งผลทำลายเม็ดเลือดแดงภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และเริ่มทำให้เซลล์ตับเกิดความเสียหายภายใน 24-36 ชั่วโมง1 นี่เป็นสาเหตุที่คุณหมออาจขอตรวจเลือดหลายครั้งเพื่อประเมินอาการเป็นระยะหลังแมวกินยาพาราเข้าไป
Fact: กลไกแปรรูปยาในร่างกายค่อนข้างซับซ้อน หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เมื่อแมวกินยาอะไรก็ตามเข้าไปจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนสารเคมีในยาให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามชนิดของยา (กรณีนี้คือลดไข้ ลดปวด ลดอักเสบ) ในขณะเดียวกันก็จะเกิดสารไม่พึงประสงค์ขึ้น ซึ่งร่างกายมีหน้าที่ต้องกำจัดสารเหล่านั้นหรือลดความเป็นพิษลงก่อนขับทิ้งไปผ่านทางอุจจาระหรือปัสสาวะ
ร่างกายมีวิธีกำจัดหรือลดความเป็นพิษของสารเหล่านั้นลงโดยเอนไซม์ต่าง ๆ ก่อนขับถ่ายออกจากร่างกาย แมวไม่มีเอนไซม์ Glucuronyl transferase ที่แปรรูปยาพาราเซตามอล ดังนั้นยาที่กินเข้าไปจึงกลายเป็นสารพิษที่ร่างกายแมวกำจัดออกไปได้อย่างยากลำบาก1,2 ยาพาราเป็นพิษโดยตรงต่อตับและเม็ดเลือดแดงของแมว ทำให้ตับอักเสบและเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่กินเข้าไปและน้ำหนักตัวของแมว
อาการของเจ้าเหมียวกินพารา
ยาพาราเซตามอลจะถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารอย่างรวดเร็วภายในเวลา 30 นาที4 เจ้าเหมียวจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติให้เราสังเกตได้ หากแมวได้รับยาเพียง 10-40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเท่านั้น1 นั่นหมายความว่าแค่เพียง ⅛ เม็ดยาพารา (500 มิลลิกรัม) ก็มีโอกาสทำให้แมวตายได้หากเผลอกินเข้าไป
- ซึม อ่อนแรง
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจหอบ
- ตัวเย็น
- ปวดท้องและอาเจียน
- ใบหน้าและอุ้งเท้าบวมน้ำ
- อาจพบแมวจมูกซีด เปิดดูเหงือกเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลคล้ำ เนื่องจากสารพิษทำลายเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง (อาการจะแสดงภายหลังแมวกินพาราเข้าไปไม่เกิน 12 ชั่วโมง4)
2.การแก้ไขเบื้องต้นเมื่อแมวกินยาพารา
ตอนนี้เรารู้แล้วแมวกินยาพารา อันตรายแค่ไหนไปแล้ว แต่หากแมวเผลอกินยาพาราเข้าไปแล้วล่ะ ไม่ต้องตกใจรีบทำตามขั้นตอน ดังนี้
- ประเมินคร่าว ๆ ว่าแมวกินยาเข้าไปมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้คุณหมอ
- หากแน่ใจว่าแมวกินพาราเข้าไปไม่เกิน 30 นาที การทำให้แมวอาเจียนจะช่วยลดปริมาณยาที่ดูดซึมสู่ร่างกายได้*
- ป้อนผงถ่าน (activated charcoal) ช่วยดูดซับยาพาราที่ยังเหลืออยู่ในกระเพาะอาหาร
- พาแมวส่งโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกทันที นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต รอดูอาการที่บ้านไม่ได้!!!
*อ่านวิธีการทำให้อาเจียนอย่างถูกต้องจากเรื่อง สุนัขกินช็อกโกแลต แมวก็ใช้วิธีเดียวกันนะ
Fact: สัตวแพทย์จำเป็นต้องรักษาเจ้าเหมียวและตรวจประเมินอาการหลายอย่าง เช่น ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน ตรวจเลือดเพื่อประเมินความเสียหายของเม็ดเลือดแดงและตับที่ถูกทำลายจากพิษของยา รวมทั้งให้ยาต่าง ๆ เพื่อพยุงอาการแมวไปจนกว่าสารพิษจะถูกกำจัดออกจากร่างกายจนหมด อาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน จึงจะแน่ใจได้ว่าแมวปลอดภัย ส่วนค่าใช้จ่ายมากน้อยขึ้นอยู่กับอาการของแมว เฉลี่ย 500-1500 บาทต่อวัน
3.ยาแก้ไข้แมว แบบไหนที่ปลอดภัย
ยาของคนไม่ใช่ยาที่ปลอดภัยสำหรับแมวเสมอไป นอกจากยาพาราเซตามอลแล้วยากลุ่มแก้ไข้ แก้ปวด แก้อักเสบอื่น ๆ เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาพร็อกเซน (Naproxen) หรือไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น ยาเหล่านี้เป็นยาทั่วไปที่กาโตโระเชื่อว่าทาสแมวต้องคุ้นชื่อหรือมีในบ้านแน่ ๆ ไม่สามารถให้แมวกินได้ทุกชนิด
เชื่อหรือไม่ ยานวดคลายกล้ามเนื้อที่มีตัวยาดังกล่าว หากแมวเลียกินเข้าไปก็สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ไม่ต่างจากกินยาเม็ดเข้าไปเลย3 หากต้องใช้ยานวดแล้วล่ะก็ ขอให้แน่ใจว่าล้างมือสะอาดก่อนจับแมวหรือปิดส่วนที่ทายาให้พ้นจากการถูไถหรือเลียของเจ้าเหมียว
คำแนะนำสำหรับเจ้าของที่ต้องการใช้ยาแก้ไข้แมว
- ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากต้องหาสาเหตุของอาการไข้ก่อน
- สัตวแพทย์จะประเมินอาการแมวก่อนจ่ายยากลุ่ม NSAIDs เสมอ แม้ว่าจะเป็นยาสำหรับสัตว์โดยเฉพาะ แต่ยากลุ่มนี้อาจส่งผลให้ตับและไตอักเสบได้ โดยเฉพาะการใช้ยากับลูกแมว แมวแก่ แมวป่วยและแมวที่ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง
- หากเป็นไปได้ ไม่ควรซื้อยามาให้แมวทานเอง ควรพาแมวไปหาหมอจะปลอดภัยกว่านะ หากอยากทราบข้อมูลเบื้องต้น ลองโทรปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านดูสิ
บทสรุป
แมวกินยาพาราได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้อย่างแน่นอน!!! หากเผลอกินเข้าไปแล้วต้องรีบพาแมวไปหาหมอแบบด่วน ๆ นี่คือเรื่องฉุกเฉินที่รอไม่ได้ นอกจากนั้นไม่มียาลดไข้ ลดปวด ลดอักเสบแบบไหนของคนที่ใช้กับแมวได้ มีเพียงยาสำหรับสัตว์เท่านั้นที่ปลอดภัยกับเจ้าเหมียว
สุดท้ายกาโตโระอยากฝากไว้ว่ายาทุกชนิดทั้งยาคนยาสัตว์ สามารถเป็นอันตรายได้หากใช้ยาไม่ถูกวิธี ยาทุกอย่างที่เลือกใช้จำเป็นต้องประเมินอาการแมว ขนาดยา ชนิดยาและระยะเวลาที่ใช้ยาเสมอ อย่าซื้อยามากินเองเลยนะเพื่อความปลอดภัยของแมวเหมียว
อ้างอิง
1.https://www.msdvetmanual.com/toxicology/toxicities-from-human-drugs/analgesics-toxicity
2.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC340185/
3.https://agriculture.vic.gov.au/livestock-and-animals/animal-welfare-victoria/cats/health/common-cat-poisons
4.https://www.isvma.org/wp-content/uploads/2020/10/YouGottaBeKittenMe.pdf