ทาสแมวรู้หรือไม่ว่า หน้าตาของเจ้าเหมียวสามารถบ่งบอกสุขภาพเบื้องต้นได้เลยนะ คงจะดีมากเลยล่ะถ้าทาสแมวสามารถตรวจสุขภาพเจ้านายง่าย ๆ ที่บ้านได้ และหนึ่งในจุดสนใจที่สุดบนหน้าแมวก็คือจมูกนั่นเอง แมวจมูกซีด เป็นสีจมูกปกติหรือแมวป่วยกันแน่นะ แมวจมูกซีด ไม่กินอาหาร เหงือกซีด อุ้งเท้าซีด ไม่ต้องสับสนอีกต่อไปอ่านบทความกันเลย
จมูกแมวปกติเป็นอย่างไร
จมูกแมวเป็นจุดสำคัญที่สัตวแพทย์ใช้บอกได้คร่าว ๆ เลยล่ะว่าแมวสุขภาพดีหรือไม่ เพราะเป็นจุดเด่นสุดบนใบหน้าและมีอาการป่วยหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับจมูกของเจ้าเหมียว สิ่งที่สังเกตได้ง่าย ๆ กับจมูกแมวมีดังนี้
- สีของจมูก ใช่แล้วล่ะที่เราจะมาเล่าเน้น ๆ ในเรื่องนี้คือ แมวจมูกซีดดูยังไง แบบไหนสีปกติ สีไหนซีด
- ความชุ่มชื้นของจมูก แยกให้ออกนะชุ่มชื้นแบบสุขภาพดีหรือน้ำมูกไหลกันแน่ จมูกผิดปกติในกรณีนี้คือ น้ำมูกไหลตลอดเวลา น้ำมูกเขียวหรือเหลือง ร่วมกับอาการจามหรือแมวตาแฉะ
- ร่องรอยโรคที่เกิดกับจมูก เช่น แผลที่จมูก แมวเป็นเชื้อรา เนื้องอก แมวเป็นภูมิแพ้ผิวจมูกแดงลอก เป็นต้น จมูกปกติก็ไม่ควรมีร่องรอยต่าง ๆ ถ้าพบร่องรอยเหล่านี้ไปหาคุณหมอได้เลย รักษาเร็วก็หายเร็วนะ
จมูกของแมวเป็นจุดที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นอย่าแปลกใจหากจมูกแมวจะเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิร่างกาย อากาศร้อนหรือเย็นและยังขึ้นอยู่กับสีผิวของแมวด้วย จมูกแมวปกติ มีสีได้ตั้งแต่ชมพูซีด ๆ ชมพูเข้ม ไปจนถึงน้ำตาลเข้ม แมวบางตัวมีจุดกระเกิดขึ้นที่จมูกอีกด้วย โดยเฉพาะแมวลายสลิด แมวส้ม แมวสามสีและแมวเปรอะ1
Special tip: จมูกแมวตกกระ (Lentigo) เป็นเรื่องปกติ มีขนาดตั้งแต่ 1-10 มิลลิเมตร เป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับแมวที่มียีนส์ขนสีส้ม จุดสีน้ำตาลเข้มหรือดำเหล่านี้เกิดจากการสะสมของเม็ดสีเมลานิน (malanin) จุดกระอาจเพิ่มมากขึ้นหรือใหญ่ขึ้นตามอายุของแมว เราอาจพบจุดกระได้ที่ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก เปลือกตาหรืออุ้งเท้า ซึ่งจุดกระปกติของแมวจะแนบเนียนไปกับผิวหนัง ไม่นูน ไม่บวม ผิวหนังรอบ ๆ ปกติ และแมวไม่แสดงอาการเจ็บเมื่อจับ
สีจมูกของเจ้าเหมียวไม่ต่างจากสีปากของคนเลย เพราะมีสีสันที่หลากหลาย เปลี่ยนสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงได้หรือมีจุดกระ ด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยนี่เองที่อาจทำให้เกิดการสับสนได้ว่าแมวซีดจริงหรือไม่ เจ้าของแมวดูจะบอกได้ชัดเจนที่สุด เพราะมองหน้าแมวทุกวันต้องสังเกตเห็นความแตกต่างได้มากกว่าคนอื่นแน่ ๆ เหมือนกับที่เราทักเพื่อนสนิทว่า วันนี้ปากซีดจังเลยนะนั่นเอง สีจมูกแมวไม่ชมพูสดใสก็ไม่เป็นไร ขอให้เป็นสีจมูกปกติของแมวก็พอแล้ว
สีจมูกปกติของแมวมีหลากหลายสีสัน
ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยให้ทาสแมวสังเกตความซีดของจมูกได้ง่ายขึ้นคือ ตามหาหลักฐานความเจ็บป่วยอื่น ๆ บนตัวแมว ดังนี้
- สีจมูกซีดหรือเหลือง ร่วมกับเหงือกซีดหรือเหลืองกว่าปกติ (สีเหงือกสังเกตได้ง่ายกว่าจมูกมาก ถ้าสงสัยว่าจมูกซีดก็อย่าลืมเปิดดูสีเหงือกด้วยนะ)
- แมวจมูกซีด อุ้งเท้าซีด ผิดปกติหรือไม่ อันนี้บอกยากหน่อย เนื่องจากสีอุ้งเท้ามองค่อนข้างยากไม่ต่างจากจมูกเลย นอกจากจะเหลืองหรือขาวซีดมาก ๆ เหมือนกระดาษจึงจะเห็นความผิดปกติชัดเจน
- แมวจมูกซีด ไม่กินอาหาร ไร้เรี่ยวแรง มีไข้หรือนอนซม
- แมวที่มีจมูกหรือเหงือกซีดเหลือง มักตาเหลือง อุ้งเท้า ใบหูและตัวเหลืองด้วย
- ลูกแมวมีโอกาสเกิดอาการแมวตัวซีดได้จากภูมิคุ้มกันที่ลูกแมวได้รับจากแม่แมว ทำลายเม็ดเลือดของลูกแมวช่วงแรกเกิด 2-3 วัน (Neonatal Isoerythrolysis) ลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรง ลูกแมวจะซึมหงอย ตัวซีดหรือเหลือง ร้องโดยไม่ทราบสาเหตุและมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
หมายเหตุ อาการทั้งหมดที่กล่าวมาถือว่าเป็น ภาวะฉุกเฉินสำหรับแมว พาน้องเหมียวไปหาคุณหมอโดยด่วนที่สุด
5 สาเหตุหลักที่ทำให้แมวจมูกซีด
จมูกสีซีดของเจ้าเหมียวเกิดจากภาวะโลหิตจาง (anemia) เป็นภาวะที่จำนวนเม็ดเลือดแดงในร่างกาย (hematicrit หรือ packed cell volume) มีปริมาณลดลงน้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ โดยแมวปกติมีจำนวนเม็ดเลือดแดงเฉลี่ย 25-45 เปอร์เซ็นต์ของน้ำเลือด สาเหตุที่พบได้บ่อยและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทาสแมวต้องเตรียมรับมือมีดังนี้
1.เสียเลือด (blood loss)
เจ้าเหมียวเสียเลือดปริมาณมากอย่างรวดเร็ว เช่น โดนรถชน โดนกัด ตกจากที่สูงหรือของมีคมบาด ไม่ว่าเราจะเห็นเลือดไหลหรือไม่ก็ตาม อุบัติเหตุรุนแรงเหล่านี้อาจทำให้เกิดเลือดออกภายในร่างกายได้และเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวเสียชีวิตหากเสียเลือดเกินกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณเลือดทั้งร่างกาย
เสียเลือดปริมาณมากเป็นหนึ่งในภาวะฉุกเฉินทั้งสุนัขและแมว อ่านบทความ 10 อาการฉุกเฉินที่ต้องรีบพาไปหาหมอแบบด่วนที่สุด
2.ติดเชื้อ (infection)
แมวติดเชื้อไวรัสมักเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวมีภาวะเลือดจาง เช่น แมวติดเอดส์แมว (FIV) ลิวคีเมีย (FeLV) หรือติดเชื้อโคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (FIP) แมวมักมีอาการซึม อ่อนแรง มีไข้ ตัวซีดเหงือกซีดมากเนื่องจากโลหิตจางและตัวเหลืองในบางกรณีที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลายอย่างรุนแรงโดยเฉพาะ FIP ซึ่งแมวที่ติดเชื้อเหล่านี้จะมีเชื้อไวรัสในร่างกายตลอดชีวิต รอเวลาที่แมวอ่อนแอ เชื้อไวรัสพร้อมเล่นงานแมวได้ตลอดเวลา
การติดเชื้ออื่น ๆ เช่น พยาธิเม็ดเลือด Mycoplasma haemofelis, Cytauxzoon felis หรือ Babesia ซึ่งแมวได้รับเชื้อเหล่านี้จากเห็บหรือหมัด รวมทั้งพยาธิในลำไส้บางชนิดเช่น พยาธิปากขอ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แมวโลหิตจางเช่นกัน
รู้หรือไม่ ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็สามารถทำลายเม็ดเลือดแดงได้เรียกว่า Immune-mediated hemolytic anemia หรือ IMHA ซึ่งสาเหตุที่กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายหันมาทำลายเม็ดเลือดแดงค่อนข้างหลากหลาย เช่น มีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง แมวติดเชื้อรุนแรง ได้รับยาบางชนิดหรือแม้กระทั่งการฉีดวัคซีนก็อาจทำให้เกิด IMHA ได้ แมวมักตัวซีดหรือเหลือง อ่อนแรง มีไข้ ซึ่งอาการอาจรุนแรงถึงเสียชีวิต
อ่านบทความ วัคซีนแมว: เรื่องที่ต้องรู้ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน
3.ขาดสารอาหาร (nutritional deficiencies)
แมวที่ขาดสารอาหารทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และแร่ธาตุ เช่น เหล็ก, ทองแดง, วิตามินบี12 , วิตามินบี6 , วิตามินบี3 , วิตามินบี2 และวิตามินอี ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวโลหิตจาง ซึ่งร่างกายสามารถกลับมาสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ได้หากได้รับสารอาหารและแร่ธาตุเพียงพอ
4.ได้รับสารพิษ (toxins)
สารพิษอยู่รอบ ๆ ตัวเรา หากทาสแมวไม่ระมัดระวังเจ้าเหมียวอาจเผลอได้รับสารพิษเข้าไปโดยไม่ตั้งใจและส่งผลให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายอย่างรุนแรงเสี่ยงเสียชีวิตได้ ดังนี้
- กลุ่มยารักษาโรคทั้งคนและสัตว์ เช่น ยาพาราเซตามอน ยาแอสไพรินหรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
- อาหารบางอย่างอาจเป็นพิษต่อแมว เช่น ถั่วปากอ้าและหัวหอม
- พืชหรือต้นไม้อาจเป็นพิษรุนแรงต่อแมวเหมียวที่ชอบชิมได้ เลือกต้นไม้ในบ้านที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยงจะปลอดภัยกว่า
- แร่ธาตุและโลหะหนัก เช่น สังกะสี, ตะกั่ว, ซีลีเนียมหรือทองแดงในปริมาณที่มากเกินไปก็เป็นพิษต่อร่างกาย
5.โรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease)
เม็ดเลือดแดงถูกสร้างมาจากไขกระดูก (bone marrow) โดยการช่วยเหลือของฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ซึ่งผลิตมาจากไต เม็ดเลือดแดงจะลอยวนเวียนอยู่ในกระแสเลือดคอยส่งออกซิเจนให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายราว 70-80 วัน ก่อนจะถูกทำลายทิ้งที่ตับและม้าม ก่อนที่ร่างกายแมวจะสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ขึ้นมาทดแทน
15-30 เปอร์เซ็นต์ของแมวอายุมากกว่า 10 ปี ประสบปัญหาโรคไตเรื้อรัง ซึ่งในกลุ่มแมวแก่ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง พบว่าแมวมีภาวะโลหิตจางราว 30-65 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิตินจากไตที่เสื่อมสภาพ3 แมวแก่กลุ่มนี้จะได้รับฮอร์โมนเพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามมีแมวแก่มากมายที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ฮอร์โมนเช่นกัน
แมวสุขภาพปกติหากเสียเลือดอย่างกระทันหัน เช่น อุบัติเหตุรุนแรงมีเลือดออกหรือได้รับสารพิษที่ทำลายเม็ดเลือดแดง ร่างกายมักสร้างเม็ดเลือดแดงทดแทนขึ้นมาใหม่ได้รวดเร็ว กรณีแมวป่วยเรื้อรัง เช่น ติดเชื้อไวรัสหรือขาดสารอาหาร ร่างกายสามารถสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ได้ แต่ใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายนานกว่า ส่วนแมวที่มีปัญหาโรคไตเรื้อรังหรือไขกระดูกถูกทำลาย อาจสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ไม่ได้เลยและมีภาวะโลหิตจางตลอดชีวิต
ดูแลสุขภาพแมวจมูกซีดให้กลับมาแฮปปี้
เมื่อเราทราบสาเหตุที่ทำให้แมวโลหิตจางและแมวได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว ก็ถึงเวลาแล้วที่ร่างกายของแมวจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีสุขภาพดีเหมือนเดิม มาเริ่มกันเลย
- ทาสแมวมาทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าแมวโลหิตจาง มีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าแมวปกติ แน่นอนว่าย่อมส่งกระทบต่อการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย แมวจะเหนื่อยง่ายและอ่อนแอมาก ควรระมัดระวังในขั้นตอนการดูแล หลีกเลี่ยงการบังคับแมวอย่างรุนแรง เพราะความตื่นเต้นตกใจอาจทำให้แมวอาการทรุดลงได้ ลองอ่าน การจับบังคับแมวอย่างถูกต้องและปลอดภัย ตามลิงค์นี้เลย
- จัดสถานที่เตรียมรับแมวป่วย เมื่อแมวต้องกลับมาพักฟื้นที่บ้าน การเตรียมที่นอน กระบะทราย อาหารและน้ำ แยกออกจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ปราศจากสิ่งรบกวนและเจ้าของยังสามารถสังเกตการขับถ่าย การทานอาหารและน้ำของแมวได้สะดวกอีกด้วย
- แมวโลหิตจางตัวซีดต้องการความอบอุ่น เนื่องจากแมวป่วยมักมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติได้ง่ายโดยเฉพาะลูกแมวแรกเกิดและแมวแก่ อุณหภูมิที่แนะนำสำหรับแมวป่วยโลหิตจางคืออุณหภูมิห้องปกติ 25-30 องศาเซลเซียส มีที่นอนนุ่ม ๆ อุ่น ๆ ให้แมวก็เพียงพอแล้ว
- อาหารและน้ำควรสะอาดอยู่เสมอ เพราะแมวปกติก็ช่างเลือกอยู่แล้ว แมวป่วยยิ่งทานยากมากขึ้นไปอีก เทคนิคง่าย ๆ ช่วงแมวป่วยคือ ลองให้แมวทานอาหารเปียกคุณภาพดี เพราะน่ากินกว่าอาหารเม็ดและมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่าอาหารเม็ด ซึ่งดีต่อแมวป่วยที่ทานน้ำยากมาก อย่างไรก็ตามแมวต้องทานน้ำสะอาดเพิ่มให้เพียงพอในแต่ละวันด้วยนะ (แมวจมูกซีดที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับและโรคเบาหวาน ควรปรึกษาสัตวแพทย์ในการเลือกอาหารค่ะ)
- วิตามินบำรุงร่างกายที่เหมาะกับแมวช่วงโลหิตจางและฟื้นฟูร่างกาย จริง ๆ แล้วทานอาหารคุณภาพดีที่มีสารอาหารครบถ้วนก็เพียงพอ ยกเว้นกรณีที่แมวขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก วิตามินอีและกลุ่มวิตามินบี แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้แมวทานวิตามินต่าง ๆ เพราะแมวอาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
บทสรุป
อาการแมวจมูกซีดอาจเกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะสาเหตุยอดฮิตอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ทาสแมวลองฝึกตรวจสุขภาพและสังเกตอาการผิดปกติของแมวอย่างง่าย ๆ ถ้าหากรู้ว่าแมวเริ่มมีอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้าน อย่าปล่อยให้แมวอาการหนักซะก่อนค่อยพาไปหาคุณหมอ รู้เร็ว ตรวจรักษาเร็ว ก็มีโอกาสรักษาหายขาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะแมวโลหิตจางเป็นอาการที่ทำให้แมวเสียชีวิตได้ จึงไม่ควรวางใจและปล่อยปละละเลย
อ้างอิง
1.https://www.catster.com/lifestyle/5-remarkable-facts-about-your-cats-nose-freckles
2.https://www.msdvetmanual.com/cat-owners/blood-disorders-of-cats/anemia-in-cats
3.https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/cornell-feline-health-center/health-information/feline-health-topics/anemia