เมื่อสุนัขมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการแบบไหนที่เรียกว่า “อาการฉุกเฉินในสุนัข” มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิต ซึ่งถ้าหากเจ้าของสามารถสังเกตอาการได้อย่างรวดเร็วและรีบนำสุนัขไปรับการรักษาจากสัตวแพทย์ได้ทันเวลา ก็จะลดโอกาสสูญเสียสุนัขที่เรารักไปได้
1. เลือดไหลปริมาณมาก สุนัขเลือดไหลไม่หยุดนานกว่า 5 นาที
เหตุการณ์บางอย่าง เช่น อุบัติเหตุรถชน แผลจากการกัดกัน ถูกของมีคมบาด ทำให้เกิดเลือดไหลออกมาปริมาณมากและสุนัขเลือดไหลไม่หยุดนานกว่า 5 นาที1 แสดงว่ามีการฉีกขาดของเส้นเลือดขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าของไม่สามารถกดห้ามเลือดเพื่อให้เลือดหยุดไหลได้เอง
การเสียเลือดปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ทำให้ความดันต่ำลงและเลือดไม่พอสำหรับส่งไปทุกอวัยวะในร่างกาย บางครั้งหลังการเกิดอุบัติเหตุที่มีการกระแทกรุนแรง ภายนอกร่างกายอาจไม่พบบาดแผล แต่อาจเกิดเลือดออกที่อวัยวะภายในได้ หากพบอาการซึม เหงือกซีด ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์
“หลังเหตุการณ์รุนแรงแม้ไม่มีแผลภายนอก แต่สุนัขมีอาการผิดปกติ อาจเกิดเลือดออกภายในร่างกายได้”
- อาการ: สุนัขซึมลงอย่างรวดเร็ว เหงือกและลิ้นสีซีด
- คำแนะนำ: กดห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาด รีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์
2. สำลักหรือหายใจลำบาก
การสำลักหลังกินอาหารหรือน้ำถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัข เพราะการสำลักอาจทำให้มีน้ำหรือเศษอาหารไหลเข้าไปในหลอดลม เกิดการอุดตันหรือทำให้หลอดลมและปอดอักเสบ อาการที่ตามมาคือ สุนัขหายใจลำบาก ขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้
หายใจลำบากเกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น สำลักอาหาร ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาการแพ้ หรือหลอดลมตีบ (Tracheal stenosis)
อาการหายใจลำบากเนื่องจากหลอดลมตีบ ซึ่งพบได้บ่อย ๆ โดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน พุดเดิ้ล และยอร์คเชียร์เทอร์เรีย สุนัขอ้วนมีโอกาสหลอดลมตีบได้มากกว่าสุนัขที่รูปร่างสมส่วน เนื่องจากมีไขมันหนากว่าและกดเบียดหลอดลมได้ง่ายและสุนัขแก่ที่ร่างกายเริ่มมีความเสื่อมเกิดขึ้นกระดูกอ่อนของหลอดลมไม่แข็งแรงเหมือนสุนัขเด็กจึงอ่อนตัวลงทำให้หลอดลมตีบแคบ
- อาการ: สุนัขหายใจแรงและสุนัขหายใจเร็วมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที เหงือกและลิ้นสีม่วงคล้ำ ไม่เป็นสีชมพูเหมือนปกติ นอกจากนั้นขณะหายใจสุนัขจะยืดคอขึ้นและหน้าท้องยุบลง เนื่องจากต้องใช้ความพยายามในการหายใจ
- คำแนะนำ: ปลอบให้สุนัขอยู่ในความสงบ ลดความตื่นเต้น และไม่กดรัดบริเวณอกและท้องของสุนัข
3. เลือดไหลออกจากอวัยวะต่าง ๆ
เมื่อพบเลือดไหลออกมาจากอวัยวะต่าง ๆ แสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกาย บางครั้งเลือดที่ออกมาปริมาณไม่มาก สุนัขไม่ได้ดูซึมมากเหมือนกรณีเลือดไหลไม่หยุด แต่อาการเหล่านี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างเร่งด่วน
เลือดออกแบบไหนไม่น่าไว้ใจ
- สุนัขเลือดออกจมูกหรือสุนัขเลือดออกปากส่วนใหญ่อาการฉุกเฉินในสุนัขเกิดจากอุบัติเหตุ การกระแทกบริเวณใบหน้า ในบางครั้งพบว่าอาการเลือดไหลมาจากสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอกหรือแผลในปาก
- ไอออกมาเป็นเลือดสด
- เลือดไหลออกจากอวัยวะเพศ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ สุนัขเพศเมียที่มีปัญหามดลูกอักเสบ หรือมีเนื้องอกบริเวณอวัยวะเพศ
- เลือดไหลออกจากทวารหนักหรือสุนัขถ่ายเป็นเลือด สาเหตุส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระแข็งมากหรือมีเศษกระดูกในอุจจาระ ทำให้บาดลำไส้และลำไส้อักเสบติดเชื้อ
- คำแนะนำ: กรณีเลือดไหลออกจากจมูก พยายามทำให้สุนัขอยู่ในความสงบ และใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณสันจมูก รีบพาส่งโรงพยาบาลสัตว์
- Tip: เลือดสดไหลออกจากจมูกแบบปริมาณมาก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในสุนัขที่ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งได้รับเชื้อมาจากเห็บ
4. ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระ, ปัสสาวะ หรือมีอาการเจ็บปวดขณะขับถ่าย
“การสังเกตการขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะของสุนัขเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นคำถามยอดฮิตที่สัตวแพทย์จะถามเสมอเมื่อสุนัขมีอาการป่วย”
อุจจาระไม่ออก
อุจจาระที่ค้างอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ อาจทำให้ลำไส้เกิดการอุดตันจนลำไส้ไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ตามปกติ และทำให้สุนัขปวดท้องมาก
สุนัขที่ไม่สามารถอุจจาระได้ มีหลายสาเหตุ เช่น อุจจาระแข็งผิดปกติ, ต่อมลูกหมากโตในสุนัขแก่ ทำให้ปวดมากจนเบ่งอุจจาระไม่ได้, ลำไส้เกิดการอุดตัน, สุนัขมีปัญหาระบบประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายและสาเหตุที่พบบ่อยคือ สุนัขที่กินกระดูกอาจทำให้อุจจาระแข็งและกระดูกคม ๆ ปนออกมา ทำให้อุจจาระลำบาก เป็นต้น
ปัสสาวะไม่ออก
สุนัขปัสสาวะไม่ออกถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัข ต้องรีบได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสุนัขไม่สามารถระบายแร่ธาตุและของเสียที่เป็นส่วนเกินของร่างกายออกมาทางปัสสาวะได้2
สุนัขปัสสาวะไม่ออก มีหลายสาเหตุ เช่น สุนัขมีปัญหาระบบประสาทที่ควบคุมการขับถ่าย, ต่อมลูกหมากโตจนเบียดท่อปัสสาวะ, มีก้อนนิ่วอุดตันท่อปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะฉีกขาดจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
อาการและคำแนะนำหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสุนัขมีปัญหาการขับถ่าย
- อาการ: เจ้าของไม่เห็นอุจจาระหรือปัสสาวะของสุนัขเลย สุนัขกระวนกระวาย เกร็งท้อง ปวดท้อง พยายามเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะหลายครั้ง หรือร้องอย่างเจ็บปวดขณะพยายามขับถ่าย
- คำแนะนำ: รีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์
5. อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับดวงตา
การบาดเจ็บบริเวณดวงตาของสุนัขเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ การกระแทก หรือสุนัขกัดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขหน้าสั้นที่มีดวงตากลมโต เช่น ชิสุห์ เฟรนช์บูลด็อก หรือปั๊ก มีความเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับดวงตาได้ง่าย
“การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับดวงตาถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขเพราะเป็นส่วนที่เจ็บปวดมากและดวงตาของสุนัขถูกยึดไว้ด้วยกล้ามเนื้อให้ติดอยู่ในเบ้าตาหากเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงจนกล้ามเนื้อฉีกขาดอาจทำให้สุนัขต้องสูญเสียดวงตา”
- อาการ: สุนัขตาทะลัก มีแผลที่ดวงตา สุนัขตาอักเสบและหรี่ตาข้างที่เจ็บหรือดวงตาดูช้ำเป็นจ้ำเลือด
- คำแนะนำ:พยายามไม่ให้สุนัขเกาตาหรือเอาหน้าไถพื้นเนื่องจากความเจ็บปวด
การเกิดแผลเล็ก ๆ ที่กระจกตา หากไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นการติดเชื้อจนสุนัขต้องตาบอดได้ การใส่คอลล่า (Elizabethan collar) วิธีที่ดีมากในการป้องกันสุนัขเกาตา
6. สงสัยว่าได้รับสารพิษ
พิษจากสารเคมี
สารพิษสามารถพบได้อยู่รอบ ๆ บริเวณบ้านและสุนัขที่ไม่รู้ว่าสารพิษคืออะไรก็อาจเผลอกินเข้าไป เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดหนู ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอาหารธรรมดาของมนุษย์ก็อาจกลายเป็นสารพิษสำหรับสุนัขได้ เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น
อ่านบทความ 9 อาหารยอดฮิตของมนุษย์เป็นอันตรายต่อสุนัขหรือไม่
ยารักษาโรคต่าง ๆ หากกินเกินขนาดก็เป็นอันตรายได้ควรปรึกษาเรื่องการใช้ยาจากสัตวแพทย์ไม่ควรซื้อยาให้สุนัขกินเอง
- อาการของสุนัขกินสารพิษมีความแตกต่างไปตามสารพิษที่สุนัขได้รับ เช่น สุนัขน้ำลายฟูมปาก อาเจียน ชัก เกร็ง เดินเซ ถ่ายเหลว เป็นต้น
- “ห้ามทำให้อาเจียน” โดยเฉพาะกรณีสารพิษที่กัดกร่อน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เพราะสารพิษจะเป็นอันตรายต่อหลอดอาหารและอาจทำให้สุนัขสำลักได้ รีบพาสุนัขไปหาสัตวแพทย์ พร้อมทั้งสารพิษที่กินเข้าไป (ถ้าเป็นไปได้) แต่ในกรณีสารพิษที่ไม่ระคายเคืองทางเดินอาหาร เช่น สุนัขกินช็อกโกแลต กาแฟหรือยา การอาเจียนออกมาช่วยลดพิษในร่างกายได้
อ่านบทความ สุนัขกินช็อกโกแลต: อันตรายจากช็อกโกแลต วิธีสังเกตอาการและการช่วยชีวิตเบื้องต้น
พิษจากสัตว์
สัตว์มีพิษกัด เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หรือตัวต่อ ก็ถือว่าเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขเช่นกัน สุนัขบางตัวอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากพิษที่ได้รับหรือจากอาการแพ้
- อาการ: บวมบริเวณที่ถูกกัด ผิวหนังแดงช้ำเป็นจ้ำ อาจพบร่องรอยที่ถูกกัด
- คำแนะนำ: รีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์
- กรณีสุนัขโดนงูกัด ถ้าทราบชนิดของงูพิษหรือนำงูมาด้วยได้ จะทำให้สัตวแพทย์สามารถเลือกเซรุ่มถูกต้องตามชนิดของงูพิษ นอกจากนั้นการให้เซรุ่มโดยไม่ทราบชนิดของงูพิษอาจส่งผลเสียต่อสุนัขมากกว่าผลดี
7. กระดูกหักหรือไม่สามารถเดินได้
สาเหตุที่ทำให้สุนัขกระดูกหัก คือ อุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งกรณีนี้เป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขที่ทำให้เจ็บปวดอย่างมาก บ่อยครั้งการกระแทกอย่างรุนแรงอาจทำให้กระดูกที่หักทิ่มทะลุออกมา
สุนัขที่ไม่สามารถเดินได้ อาจเกิดจากกระดูกหัก ร้าว หรือเกิดความเสียหายของระบบประสาท โดยเฉพาะการถูกกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณกระดูกสันหลัง อาจทำให้สุนัขไม่สามารถขยับร่างกายได้
- อาการ: เห็นความผิดปกติบริเวณที่กระดูกหัก เช่น ขาผิดรูป มีกระดูกทิ่มทะลุ หรือไม่สามารถลงน้ำหนักขาข้างที่หักหรือเดินไม่ได้ ส่วนสุนัขที่มีปัญหาระบบประสาท โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังอาจไม่สามารถลุกยืนได้เลย
- คำแนะนำ: ระมัดระวังขณะเคลื่อนย้ายสุนัข เพราะความเจ็บปวดอาจทำให้สุนัขกัดเจ้าของได้ หลีกเลี่ยงการขยับเขยื้อนกระดูกที่หัก หากพบว่ามีเลือดไหลไม่หยุด ให้ใช้ผ้าสะอาดกดห้ามเลือด
- Tip: ผ้าห่มหนา ๆ ก็สามารถใช้ห่อตัวสุนัขเอาไว้ เพื่อลดการขยับตัวของสุนัขได้
8. ไข้สูง ลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat stroke)
สุนัขตัวร้อน มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นได้ทั้งกรณีสุนัขเป็นไข้ สุนัขอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท จนทำให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน เรียกว่า ลมแดดหรือฮีทสโตรก
อุณหภูมิร่างกายสูงขนาดไหน จึงถือว่าเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัข?
- อุณหภูมิร่างกายปกติของสุนัขคือ 101-102.5 ˚F (38.3 – 39 ˚C)
- เริ่มมีไข้อุณหภูมิร่างกายจะสูงประมาณ 103 ˚F (39.5 ˚C)
- สุนัขที่มีไข้สูงหรือเป็นฮีทสโตรก อุณหภูมิร่างกายอาจสูงถึง 106 ˚F (41 ˚C) ซึ่งความร้อนของร่างกายในระดับนี้ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ ถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขและมีโอกาสเสียชีวิตได้3,4
ตัวร้อน มีไข้สูง
สาเหตุที่ทำให้สุนัขตัวร้อน มีไข้สูง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อในร่างกาย เช่น ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิเม็ดเลือด เป็นต้น
ลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)
สาเหตุที่ทำให้สุนัขเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรก เกิดจากอากาศร้อนอบอ้าว สุนัขอยู่ในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น อากาศในฤดูร้อน หรือสุนัขถูกขังอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้ และสุนัขสายพันธุ์ที่มีหน้าสั้น เช่น บูลด็อก เฟรนช์บูลด็อก ปักกิ่ง ปั๊ก เป็นต้น มีความเสี่ยงเกิดฮีทสโตรกในฤดูร้อนมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ5
- อาการ: สุนัขตัวร้อนจัด หอบ ลิ้นและเหงือกแดง น้ำลายไหล สุนัขอาจหมดสติได้
- คำแนะนำ: นำสุนัขออกจากบริเวณที่อากาศร้อน เช็ดตัวสุนัขด้วยผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติเน้นบริเวณอุ้งเท้า ใบหู ใต้ท้อง รีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์ และไม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด เพราะอุณหภูมิร่างกายจะลดลงเร็วจนเกินไป
- Tip: สุนัขขนหนามาก เช่น ไซบีเรียนฮัสกี้ อาจใช้ผ้าชุบน้ำเปียก ๆ เช็ดได้ทั้งตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
9. อาเจียนหรือถ่ายเหลวอย่างรุนแรง
“อาการอาเจียนและถ่ายเหลวอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสียน้ำและแร่ธาตุ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัขและอาจเสียชีวิตได้จากภาวะช็อก”
สุนัขอาเจียนและถ่ายเหลวได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก คือ ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบติดเชื้อพาร์โวไวรัส แพ้อาหาร ได้รับสารพิษ เป็นต้น ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ตับอักเสบ ไตวาย ตับอ่อนอักเสบ การติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นต้น
- อาการ: สุนัขอาเจียนหรือสุนัขถ่ายเหลวอย่างต่อเนื่อง สุนัขอาเจียนทุกครั้งที่กินอาหารหรือน้ำ สุนัขซึม ไม่มีแรง
- คำแนะนำ: กรณีอาเจียนหลายครั้ง ไม่ควรป้อนน้ำหรืออาหาร เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขอาเจียนมากขึ้น ควรรีบพาสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์
- Tip: การติดเชื้อลำไส้อักเสบพาร์โวไวรัส มักมีอาการอาเจียนและถ่ายเหลวอย่างรุนแรงและทำให้ลูกสุนัขเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
อ่านบทความ “9 คำถามพบบ่อยเมื่อนำสุนัขไปฉีดวัคซีน”
10. เป็นลมหมดสติ(Syncope) vs ชัก(Seizure)
บางครั้งเจ้าของสุนัขอาจสับสนระหว่างสุนัขที่เป็นลมหมดสติกับสุนัขชักเกร็ง เนื่องจากระยะเวลาที่เกิดอาการค่อนข้างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามอาการทั้งสองมีความแตกต่างกันที่เจ้าของสามารถสังเกตได้6
ชัก (Seizure)
สาเหตุของอาการชัก ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งความผิดปกติที่เนื้อสมอง เช่น เนื้องอก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาการชักเกิดจากร่างกายที่ทำงานผิดปกติ เช่น ไตวาย ตับวาย หรือสุนัขเป็นลมชักแบบไม่ทราบสาเหตุ
เป็นลมหมดสติ (Syncope)
สาเหตุที่ทำให้สุนัขเป็นลมหมดสติ มักเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เช่น สุนัขแก่ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้หัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงจึงทำให้เป็นลมหมดสติ
อาการ: ชัก vs เป็นลมหมดสติ
อาการชักและเป็นลมหมดสติแตกต่างกันอย่างไร?
เป็นลมหมดสติ (Syncope)
- สุนัขทรงตัวไม่ได้ เดินเซ ล้มนอน
- เหยียดเกร็งตัว
- อาจพบว่าสุนัขปัสสาวะแบบควบคุมไม่ได้
- อาจมีเสียงร้องก่อนหมดสติ
- หมดสติ
ขอบคุณรูปภาพจาก https://youtu.be/yNpApDRceYA
ชัก (Seizure)
- นำ้ลายไหล*
- ตากระตุกหรือกลอกตา*
- กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก ปากกระตุก*
- เหยียดเกร็งตัว พบอาการขาเกร็งกระตุก
- ปัสสาวะหรืออุจจาระแบบควบคุมไม่ได้
* อาการเด่นของสุนัขชักที่แตกต่างจากสุนัขเป็นลม
ขอบคุณรูปภาพจาก https://youtu.be/D-0bAeAsSFY
คำแนะนำ: อาการทั้งสองแบบถือเป็นอาการฉุกเฉินในสุนัข บางครั้งอาการชักและเป็นลมหมดสติดูคล้ายกันมาก การถ่ายคลิปวิดิโอไว้ ช่วยให้สัตวแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น
สรุป
“10 อาการฉุกเฉินในสุนัข” อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้และมีความเสี่ยงที่จะทำให้สุนัขเสียชีวิต เจ้าของสุนัขจึงควรทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น สุนัขควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนโดยสัตวแพทย์ ถ้าหากเจ้าของสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สัตวแพทย์ได้มากที่สุด ก็จะทำให้สุนัขได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นอีกด้วย
อ้างอิง
1. https://www.avma.org/resources/pet-owners/emergencycare/13-animal-emergencies-requireimmediate-veterinary-consultation-andor-care
2. https://www.knose.com.au/does-my-dog-need-emergency-vet/
3. Amanda Boag. and Lesley King., 2018. BSAVA Manual Of Canine And Feline Emergency And Critical Care, 3Rd Edition. British Small Animal Veterinary Association (BSAVA).
4. https://pets.webmd.com/dogs/high-fever-in-dogs#1
5. https://www.rspca.org.au/blog/2017/warm-weather-worries-–-protect-pets-heatstroke
6. https://files.brief.vet/migration/article/39761/fptp_differentiation-syncope-fro-seizure-39761article.pdf