ทาสแมวเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าแมวเหมียวที่ดูพุงกลม ๆ นี่แค่อ้วนหรือร่างกายของแมวกำลังส่งสัญญาณเตือนว่าเจ้าเหมียวกำลังป่วยกันแน่ รู้หรือไม่ว่าแมวท้องป่องเจอได้บ่อยมาก อาจเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตประจำโรงพยาบาลสัตว์เลยล่ะ
เมื่อนี่คือปัญหาชวนปวดหัวระหว่างแมวอ้วนหรือแมวป่วย กาโตโระสรุปสาเหตุที่พบบ่อยของเจ้าเหมียวท้องป่อง ไม่งง ไม่สับสนอีกต่อไป
1.น้ำในช่องท้อง
พบได้บ่อยมากจากกลุ่มแมวท้องป่องที่เข้ามาตรวจกับคุณหมอเลยล่ะ น้ำในกรณีนี้ไม่ใช่น้ำเปล่าที่แมวกินเข้าไปนะ แต่มันคือของเหลวปริมาณมากอะไรก็ตามที่อยู่ในช่องท้องของแมวซึ่งผิดปกติอย่างแน่นอน
แมวปกติสามารถพบน้ำในช่องท้องได้เล็กน้อยคล้ายสารหล่อลื่นของอวัยวะภายในท้อง แต่เมื่อใดก็ตามที่มีของเหลวปริมาณเยอะมาก ๆ จนท้องป่องกลม เช่น เลือด หนอง น้ำดี ปัสสาวะหรือของเหลวอื่น ๆ จากอวัยวะภายในและน้ำรั่วจากเส้นเลือด (plasma) จะทำให้เรามองเห็นท้องของแมวป่องเหมือนลูกโป่ง
น้ำในท้องที่เกิดจากโปรตีนในเลือดต่ำไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เจ้าเหมียวท้องป่อง เนื่องจากแมวกินอาหารโปรตีนสูงอยู่แล้ว แต่อาจมีความเป็นไปได้ในกรณีแมวขาดสารอาหารและแมวที่มีความผิดปกติในการดูดซึมโปรตีนจากอาหาร
อาการ: ท้องป่องกลมและอาจมีอาการหายใจหอบหรือหายใจลำบากร่วมด้วยถ้าน้ำเยอะจนดันเบียดกระบังลมทำให้ปอดขยายได้ไม่เต็มที่
สาเหตุยอดฮิตของน้ำในช่องท้อง
- อุบัติเหตุรุนแรงที่ทำให้เลือดออกในช่องท้องหรือปัสสาวะรั่วในท้องเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะฉีกขาด
- โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบหรือ FIP เป็นโรคยอดฮิตตลอดกาลของเจ้าเหมียวที่ทาสแมวกลัวมากที่สุด ถ้าแมวป่วยแล้วรักษายากมาก โอกาสตายสูง FIP แมว มักจะท้องป่อง ตัวผอม เหงือกซีดหรือเหลือง มีไข้ อาจหายใจลำบากหากมีน้ำในช่องท้องหรือช่องอกปริมาณมาก
- เนื้องอกหรือมะเร็งในช่องท้อง เช่น ลิมโฟมา (lymphoma) มักทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและระบบน้ำเหลือง ทำให้เกิดน้ำในช่องท้องได้
Tips: ลูกแมวแรกเกิดยังมีไขมันในช่องท้องค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับแมวโต อาจทำให้เกิดการสับสนได้หากดูฟิล์มเอ็กเรย์ ซึ่งจะดูคล้ายมีน้ำในท้องมองอวัยวะภายในไม่ชัดเจน กรณีนี้สามารถเช็กให้แน่ใจได้ด้วยการอัลตร้าซาวน์
2.ไขมัน
แมวอ้วนตัวจริงอยู่ตรงนี้ ใคร ๆ ก็ชอบที่เจ้าเหมียวตัวกลมปุ๊กดูน่ากอด แต่ในความเป็นจริงแล้วแมวอ้วนมักตามมาด้วยโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและข้อเสื่อมเนื่องจากแบกรับน้ำหนักที่มากเกินไป
ก่อนที่แมวจะอ้วนจนพุงห้อยเราสามารถรู้ก่อนง่าย ๆ ว่าแมวเริ่มอ้วนด้วยการชั่งน้ำหนักแมวอย่างสม่ำเสมอ แมวที่น้ำหนักมากกว่าน้ำหนักมาตรฐานตามสายพันธ์ุ ราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเริ่มอวบและเมื่อแมวมีน้ำหนักเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักมาตรฐานจึงถือว่าเจ้าเหมียวเป็นแมวอ้วน2
Tips: เคยจกพุงแมวแล้วเจอก้อนนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ มั้ย อย่าเพิ่งคิดว่านี่คือเจ้าแมวอ้วน แต่แมวมีพุงนุ่มนิ่ม ซึ่งเป็นส่วนผิวหนังและไขมันเรียกว่า Belly pouches หรือ Primodial pouches ที่ช่วยปกป้องอวัยวะภายในท้องและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกายแมวเป็นพิเศษขณะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว3
3.อาหาร
แมวกินเก่งสามารถกินอาหารจนท้องป่องได้ แมวโตไม่ค่อยมีปัญหานี้ แต่ลูกแมวโดยเฉพาะลูกแมวแรกเกิดที่หิวบ่อยกินเก่งเหลือเกินจนดูเหมือนลูกแมวท้องป่องตลอดเวลา ลักษณะพุงจะป่องกลมจนบางครั้งเจ้าของเองก็ไม่แน่ใจว่าลูกแมวกินเยอะเกินไปหรือเปล่า หากเจ้าเหมียวยังนอนหลับสบายไม่กระวนกระวาย ร้องงอแงหลังกินนม ก็หมายความว่าลูกแมวแค่กินเก่งเท่านั้น ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ไม่ต้องกังวลใจหากแมวท้องป่อง ถ่ายปกติ
คลิ๊ก เลือกอาหารลูกแมวแรกเกิดจนถึงหย่านมอย่างไรให้ถูกใจเหมียว อีกหนึ่งบทความจากกาโตโระที่ช่วยให้การดูแลลูกแมวแรกเกิดเป็นเรื่องง่าย
Tips: ลูกแมวพุงป่องตัวผอม อาจมีสาเหตุมาจากพยาธิในลำไส้ แม้ว่าแมวจะกินเก่งแค่ไหนก็ยังผอมแถมพุงกางอีกต่างหาก พยาธิอาจทำให้เกิดลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร แย่งอาหารจนลูกแมวขาดสารอาหาร อาจเสียชีวิตได้ในรายที่อาการรุนแรง
4.อุจจาระ
อึเต็มท้องแมว ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเพราะนิสัยส่วนตัวของเจ้าเหมียวคือสัตว์กินเนื้อที่ไม่ชอบกินน้ำ แมวกับอาการท้องผูกหรืออึแข็งมากจนค้างเต็มลำไส้เป็นปัญหาสุขภาพที่เจอได้บ่อยมาก นอกจากนั้นกระบะทรายที่เต็มแล้วเต็มอีก มีทั้งอึทั้งฉี่เก่า ๆ ไม่ชวนให้แมวอยากขับถ่าย เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของแมวท้องผูก หากปล่อยให้แมวท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้ลำไส้ใหญ่ขยายขนาดอย่างถาวร
อาการ: แมวท้องป่อง ไม่ถ่าย ท้องกาง ท้องแข็ง แมวเจ็บและหงุดหงิดเมื่อจับพุง กระวนกระวาย เข้ากระบะทรายบ่อย เบ่งอึจนตัวเกร็ง แมวอาจร้องด้วยความเจ็บปวดขณะเบ่งด้วย หากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์
5.อากาศในทางเดินอาหาร
ลมจะเข้าไปอยู่ในท้องแมวได้อย่างไรกันนะ แมวไม่ได้เล่นกลเสกอากาศเข้าท้อง แต่แมวกำลังไม่สบายอย่างแน่นอนหากมีอากาศมากมายในช่องท้องของแมว ตามปกติแมวท้องอืดมีอากาศหรือแก๊สในช่องท้องได้ แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้นโดยเฉพาะส่วนกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่เกิดจากการกลืนอากาศเข้าไปขณะกินอาหารหรือแบคทีเรียในลำไส้หมักย่อยอาหารเกิดแก๊สขึ้นมา
อาการ: ท้องป่องกลมเหมือนลูกโป่ง แมวอึดอัดไม่สบายตัว แมวหอบ เหยียดคอยืดคอหายใจหากมีอากาศเยอะมาก ๆ จนเบียดกระบังลม
สาเหตุที่พบได้หากแมวมีอากาศในช่องท้องจนท้องป่องผิดปกติ
- กลืนอากาศ มักเกิดขึ้นเมื่อแมวหอบ แมวหายใจทางปากทำให้กลืนอากาศเข้าไปในกระเพาะอาหาร อากาศมักทำให้อึดอัด ถ้าไม่เยอะมากก็หายไปได้เอง แต่ประเด็นสำคัญคือ สาเหตุที่ทำให้แมวอ้าปากหายใจมากกว่าที่น่ากังวล เช่น ปอดอักเสบรุนแรง หอบเพราะมีไข้สูง แม้แต่เจ็บมาก ๆ หรือเครียดมาก แมวก็หอบหายใจแรงได้เช่นกัน
- ลมรั่วจากปอด ตัวอย่างเช่นแมวเกิดอุบัติเหตุรุนแรงทำให้ปอดรั่วและกระบังลมฉีก ทำให้ลมในปอดรั่วเข้ามาในช่องท้องได้ แน่นอนว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิต
- แก๊สในทางเดินอาหารที่มากกว่าปกติ เช่น ลำไส้อักเสบรุนแรงจาก หัดแมว ที่ทำให้แบคทีเรียในลำไส้ช่วยกันสร้างแก๊สไม่หยุดหย่อน แก๊สปริมาณมากอาจอยู่เฉพาะในทางเดินอาหารหรือกระจายเข้าสู่ช่องท้องได้หากเกิดรูรั่วของลำไส้
6.อวัยวะภายในใหญ่ผิดปกติ
แมวท้องป่องที่เกิดจากอวัยวะภายในที่ขยายใหญ่เจอได้บ่อยมาก ๆ และไม่ใช่แมวสุขภาพปกติ ต้องมีอะไรเกิดขึ้นในท้องอย่างแน่นอน หากสงสัยว่าแมวท้องขยายใหญ่ร่วมกับมีอาการผิดปกติ เช่น ซึมลง มีไข้ กินอาหารน้อย ไม่อึหรือไม่ฉี่ อย่านิ่งนอนใจพาเจ้าเหมียวไปหาคุณหมอด่วน
สาเหตุยอดฮิตของอวัยวะภายในที่ใหญ่กว่าปกติ
- มดลูกอักเสบเป็นหนอง อันตรายมากหากปล่อยไว้ไม่รักษานอกจากแมวเจ็บปวดจากมดลูกที่อักเสบจนแทบจะระเบิด เจ้าเหมียวยังเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ กรณีนี้การผ่าตัดเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยชีวิตแมว กินยาฆ่าเชื้อเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้หายขาด
- กระเพาะปัสสาวะที่เต็มไปด้วยปัสสาวะ หนึ่งในปัญหายอดฮิตของแมวโดยเฉพาะแมวตัวผู้คือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือ FLUTD
- เนื้องอกของอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ม้าม มดลูกหรือต่อมน้ำเหลือง อาจทำให้ท้องใหญ่จากก้อนเนื้องอกหรือเนื้องอกผลิตน้ำขึ้นมาจนทำให้ช่องท้องของแมวเต็มไปด้วยน้ำ
7.ฮอร์โมนผิดปกติ
ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ผลิตออกมามากเกินไปหรือกลุ่มอาการคูชชิ่ง (hyperadrenocorticism หรือ Cushing’s syndrome) ทำให้แมวมีอาการท้องป่อง กินเก่งมากแต่กล้ามเนื้อลีบลง ไร้เรี่ยวแรง ผิวบางเป็นแผลง่ายและขนร่วง
โรคนี้ตามธรรมชาติของแมวพบได้ไม่บ่อยนัก แต่อาจพบแมวป่วยจากการใช้ยาบางชนิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์หรือฮอร์โมนสำหรับคุมกำเนิด (progestogens) เนื่องจากเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่รบกวนการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติของร่างกาย4
Tips: ปัจจุบันไม่ใช้ยาฉีดหรือยากินคุมกำเนิดแมวกันแล้วนะ เพราะผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งความเสี่ยงมดลูกอักเสบ เต้านมอักเสบ แมวท้องคลอดเองไม่ได้และอาการคูชชิ่งหากใช้ยาคุมกำเนิดปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน
8.แมวท้อง
เจ้าเหมียวไม่ได้ตัวอ้วนแต่ท้อง!! เมื่อลูกแมวตัวน้อยในท้องค่อย ๆ เติบโตขึ้นทำให้ท้องของแม่แมวขยายใหญ่ แมวท้องป่องแบบนี้ดูง่ายมากสังเกตอาการแมวท้อง ไม่ใช่เรื่องยากเมื่อเทียบกับสาเหตุทั้งหมดก่อนหน้า
แมวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุ 4-6 เดือนและสามารถผสมพันธุ์หลังคลอดได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าลูกแมวจะยังไม่หย่านมก็ตาม หากไม่มีแผนจะเลี้ยงลูกแมวในอนาคต การทำหมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
Q&A : คำถามยอดฮิตที่เจ้าของข้องใจเมื่อพาแมวมาตรวจ
เจ้าเหมียวท้องป่อง เมื่อมาถึงมือคุณหมอจะโดนอะไรบ้าง
คุณหมอจะถามประวัติจากเจ้าของแมว ก่อนเลือกวิธีตรวจหาสาเหตุ เช่น เอ็กซเรย์ อัลตร้าซาวน์ ซีทีสแกน (CT scan) ร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพแมว (ตามความจำเป็น)
รักษาก่อนได้มั้ย ยังไม่สะดวกตรวจ
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณหมอจะวินิจฉัยและรักษาเจ้าเหมียวด้วยการคาดเดา เนื่องจากตาดู หูฟังหรือมือสัมผัสไม่สามารถบอกได้เลยว่าท้องป่อง ๆ นั้นมีอะไรอยู่ภายใน
เอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์อย่างเดียว ไม่ตรวจเลือดได้หรือไม่
กรณีนี้ขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุของท้องป่องคืออะไร หากน่าสงสัยว่าอวัยวะภายในอาจผิดปกติ ควรตรวจอย่างละเอียดเพื่อประเมินความผิดปกติของแมว
เอ็กซเรย์แล้วทำไมคุณหมอยังขออัลตร้าซาวน์เพิ่มขึ้นอีกล่ะ
ภาพที่เห็นจากเอ็กซเรย์และอัลตร้าซาวน์นั้นแตกต่างกัน วิธีการตรวจแต่ละอย่างอาจไม่สามารถทดแทนกันได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น แมวท้องสามารถอัลตร้าซาวน์ตรวจว่าท้อง-ไม่ท้องได้ตั้งแต่วันที่ 16 ของการตั้งครรภ์ แต่การนับจำนวนลูกแมวใช้การเอ็กซเรย์นับกระดูกสันหลังหรือกะโหลกศีรษะ พร้อมทั้งวัดขนาดเชิงกรานแม่แมวในคราวเดียวกัน แนะนำวันที่ 55 ของการตั้งครรภ์จะแม่นยำที่สุด
อ้างอิง
1.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7155495/pdf/main.pdf
2.https://www.petmd.com/cat/conditions/digestive/c_ct_obesity
3.https://www.livescience.com/cats-primordial-pouch.html
4.https://icatcare.org/advice/hyperadrenocorticism-cushings-disease/