หัดแมว โรคติดต่อของเจ้าเหมียวที่ทาสแมวคุ้นหูกันแน่นอน แต่เรารู้จักโรคนี้ดีแค่ไหนกันล่ะ กาโตโระพาทาสแมวไปรู้จักโรคนี้ตั้งแต่หัดแมวเกิดจากอะไร อาการเริ่มต้น การดูแลและรักษาแมวเมื่อเกิดติดเชื้อนี้ขึ้นมา จนถึงหัดแมว โอกาสรอดมากน้อยแค่ไหน ทาสแมวยังมีความหวังรักษาน้องอยู่หรือเปล่า
หัดแมวเกิดจากอะไร?
หัดแมว คือโรคติดเชื้อรุนแรงที่มีต้นเหตุมาจากเชื้อไวรัสชื่อ “พาร์โวไวรัส” มีชื่อเรียกว่า Feline Parvovirus Enteritis หรือ Feline Panleukopenia Virus หรือ FPV เชื้อชนิดนี้เป็นไวรัสกลุ่มเดียวกันกับที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบรุนแรงในลูกสุนัข ดังนั้นไวรัสสามารถติดต่อจากแมวสู่สุนัขหรือสัตว์ตระกูลใกล้เคียงแมว (Felids) เช่น มิ้งค์ แรคคูน แมวป่า เสือและสิงโต แต่ไม่แสดงอาการรุนแรงมากนักกับสัตว์กลุ่มสุนัขเมื่อเทียบกับเชื้อพาร์โวไวรัสที่ติดเฉพาะสุนัข (type2 Canine Parvovirus หรือ CPV)
พาร์โวไวรัสขึ้นชื่อเรื่องความอดทน ตายยาก สามารถซ่อนตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมรอเวลาที่แมวโชคร้ายรับเชื้อเข้าไปในร่างกายและไวรัสจะเติบโตขึ้นอีกครั้ง ไวรัสมีชีวิตได้นานเป็นปีในอุณภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) และทนต่อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเกือบทุกชนิด
Warning!!! หัดแมวเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง ลูกแมวสามารถเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงภายหลังแสดงอาการป่วย อัตราการแพร่กระจายเชื้อและเสียชีวิตสูงมากโดยเฉพาะลูกแมวอายุน้อยกว่า 5 เดือน แมวที่ติดหัดแมว โอกาสรอดชีวิตประมาณ 20-51 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นที่คุณหมอพูดว่าโอกาสเสียชีวิต 50:50 นั้นไม่เกินความเป็นจริงเลย โรคนี้สามารถป้องกัน ลดความรุนแรงของอาการและลดโอกาสเสียชีวิตได้ หากแมวฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามโปรแกรมที่สัตวแพทย์แนะนำ
เจ้าเหมียวกลุ่มไหนที่เสี่ยงติดเชื้อหัดแมว
- ลูกแมวตั้งแต่แรกเกิด ไวรัสอาจเป็นสาเหตุของอาการลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรง
- แมวที่เลี้ยงในพื้นที่แออัด
- แมวที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค
- แมวอายุน้อยกว่า 1 ปี เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อสูงที่สุด
- ลูกแมวที่แม่แมวติดเชื้อไวรัสในขณะตั้งครรภ์
แม่แมวตั้งท้องโชคร้ายติดเชื้อหัดแมว อาการแย่แค่ไหนและลูกแมวจะได้รับผลกระทบหรือไม่
กรณีที่แม่แมวตั้งท้องและได้รับเชื้อไวรัส แม่แมวอาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแมว แต่มีโอกาสที่ลูกแมวในครรภ์จะได้รับเชื้อไวรัสทางสายรก หากแม่แมวตั้งครรภ์ได้ไม่นานลูกแมวเล็ก ๆ ก็จะตายและแท้งไปเอง
แม่แมวที่ตั้งครรภ์ระยะท้าย (ลูกแมวมีกระดูก) ก็มีโอกาสตายตั้งแต่ในท้อง (fetal mummification) หรืออาจคลอดออกมาได้ แต่ลูกแมวจะมีความผิดปกติของการพัฒนาสมอง (cerebral hypoplasia) ลูกแมวมีอาการชัก กล้ามเนื้อสั่นกระตุก มีปัญหาในการทรงตัว ขาอ่อนแรงและเดินขาไม่สัมพันธ์กัน
อาการของหัดแมว
แมวที่ติดเชื้อไวรัสสามารถแพร่ไวรัสไปสู่แมวตัวอื่น ๆ ผ่านทางสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระหรือแม้กระทั่งสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ชามอาหาร ชามน้ำ เบาะนอน รองเท้าหรือเสื้อผ้าของทาสแมวก็ไม่เว้น ล้วนทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้ มีรายงานว่าแมวที่รอดจากการติดเชื้อหัดแมวและไม่มีอาการแล้วสามารถแพร่เชื้อจากอุจจาระได้นานถึง 6 สัปดาห์
แมวได้รับเชื้อไวรัสผ่านทางการเลียกิน สูดดม สัมผัสสิ่งคัดหลั่ง อุจจาระและสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส มีระยะฟักตัว 2-7 วันก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย โดยหัดแมว อาการเริ่มต้นคือ ซึม แมวเบื่ออาหาร มีไข้สูง 104-107 องศาฟาเรนไฮน์ (40-41.7 องศาเซลเซียส) น้ำลายไหล ปวดท้องรุนแรง เริ่มอาเจียนหลังจากมีไข้ 1-2 วัน ส่วนอาการท้องเสียเป็นเลือดสดพบได้ไม่บ่อยนักเพียง 3-15 เปอร์เซ็นต์ของแมวป่วยเท่านั้น
แมวที่ติดเชื้อไวรัสมีโอกาสเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจากสภาพร่างกายที่ขาดน้ำอย่างรุนแรง (dehydrate) ทั้งจากการที่แมวไม่ทานน้ำและอาหาร อาเจียนร่วมกับท้องเสีย
ไวรัสมีเป้าหมายที่เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูกและผนังสำไส้ของแมว ไวรัสจะเลือกจู่โจมที่เม็ดเลือดขาวก่อนเป็นอันดับแรก ทำลายเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็วเป็นที่มาของชื่อ Feline Panleukopenia (เม็ดเลือดขาวทุกชนิดในร่างกายลดจำนวนลงเนื่องจากติดเชื้อพาร์โวไวรัส) ส่งผลให้ร่างกายแมวอ่อนแอมากเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อน
สัตวแพทย์จะถามประวัติ ตรวจอาการเบื้องต้นของแมวถ้าเข้าข่ายน่าสงสัยหัดแมว จะยืนยันด้วยการตรวจเลือดและตรวจอุจจาระร่วมด้วย หากพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวลดต่ำน้อยกว่า 2000 เซลล์/mcL ก็น่าจะติดเชื้อไวรัส ส่วนการใช้ชุดตรวจลำไส้อักเสบของสุนัข มีความแม่นยำ 50-80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอาจให้ผลลบทั้งที่แมวติดเชื้อได้
ปัจจุบันมีชุดตรวจหัดแมวโดยเฉพาะที่มีความแม่นยำมากกว่าของสุนัข แม้ขึ้นผลบวกจาง ๆ ก็แสดงว่าติดเชื้อไวรัสแน่นอน ส่วนวิธีที่แม่นยำที่สุดคือ real-time PCR หรือการตรวจหา DNA ของไวรัส ซึ่งทั้งชุดตรวจและ real-time PCR สามารถตรวจได้จากอาเจียนและอุจจาระ2
คำถามยอดฮิตที่เจ้าของทุกคนต้องอยากรู้ หัดแมว กี่วันหาย?
ระยะเวลาที่แมวแต่ละตัวจะแสดงอาการป่วยจนถึงหายดี ไม่สามารถบอกชัดเจนได้ว่ากี่วันหายแน่ ๆ เนื่องจากความรุนแรงของอาการป่วยที่เกิดกับแมวแต่ละตัวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอายุแมว ความแข็งแรงของร่างกาย ภูมิคุ้มกันโรคทั้งจากการสัมผัสเชื้อตามธรรมชาติ ภูมิคุ้มกันจากแม่แมวและวัคซีนที่แมวเคยได้รับมาก่อน
แมวแข็งแรงบางตัวติดหัดแมวโดยไม่แสดงอาการป่วยเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่แมวบางตัวอาการรุนแรงจนเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง ตามธรรมชาติร่างกายแมวสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง
แมวติดเชื้อจะเริ่มอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน หากพ้นช่วงอันตรายนี้ไปได้ก็มีโอกาสที่แมวจะรอดชีวิตมากขึ้นแม้ว่าแมวจะไม่แสดงอาการป่วยแล้วก็ยังมีโอกาสแพร่เชื้อผ่านอึได้นานถึง 6 สัปดาห์
หัดแมว ยาเขียวช่วยได้จริงหรือไม่?
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนไม่เคยใช้ยาเขียวในการรักษาสัตว์มาก่อน เนื่องจากตัวยาประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ที่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเรื่องความเป็นพิษในแมวและยังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยาชนิดนี้รักษาหัดแมว บทความนี้จึงไม่อาจแนะนำได้ว่าการใช้ยาเขียวสามารถรักษาโรคได้จริง
รับมือกับหัดแมว ไวรัสตัวร้าย
ติดหัดแมวแล้วทำยังไงดีล่ะ แมวตัวอื่น ๆ จะปลอดภัยมั้ย ไม่ต้องตกใจกาโตโระสรุปสั้น ๆ ให้พร้อมใช้งานได้จริง
ดูแลยังไงให้แมวติดเชื้อหัดแมว โอกาสรอดมากที่สุด
เมื่อแมวแสดงอาการน่าสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อหัดแมว ควรแยกแมวออกจากแมวตัวอื่นให้เร็วที่สุด พาแมวป่วยไปหาสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค พร้อมทั้งสังเกตอาการสุนัขและแมวตัวอื่น ๆ ที่ใกล้ชิดแมวป่วย
เนื่องจากไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับรักษาหัดแมวโดยตรง สัตวแพทย์จะรักษาแมวแบบประคับประคองและให้ยาที่จำเป็นตามอาการของแมว ดังนี้
- ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดหรือใต้ผิวหนัง
- ให้ยาลดไข้
- ให้ยาระงับอาเจียน
- ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียในลำไส้
- ยาฉีดกระตุ้นภูมิชนิด Recombinant feline interferon omega เป็นยาทางเลือกสำหรับเสริมการรักษา เนื่องจากการศึกษาประสิทธิภาพยายังมีข้อมูลจำกัด
- แมวสามารถทานอาหารย่อยง่าย ทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง หากไม่มีอาการอาเจียนรุนแรง
- หากต้องการฉีดวัคซีนให้แมวหลังจากหายป่วย ควรเว้นระยะเวลาให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างน้อย 7-14 วัน แน่ใจว่าแมวแข็งแรงมากพอที่ร่างกายจะรับวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันได้ ค่อยเริ่มโปรแกรมวัคซีนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
หมายเหตุ ค่าใช้จ่ายในการตรวจและรักษาหัดแมวค่อนข้างสูง อย่างน้อย 300-2000 บาทต่อครั้งที่ไปหาหมอ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ คลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ที่ใช้บริการ
การทำความสะอาดบ้านเมื่อต้องอยู่ร่วมกับแมวติดเชื้อ
แยกอุปกรณ์เครื่องใช้ทุกอย่างออกมาทำความสะอาด เช่น เบาะนอน ชามอาหาร ชามน้ำ ของเล่น เสื้อผ้า รวมทั้งทุกอย่างที่น่าสงสัยว่าแมวอาจสัมผัส นี่ไม่ต่างจาก big cleaning day เลยล่ะ ซึ่งเชื้อพาร์โวไวรัสต้นเหตุของหัดแมว ทำความสะอาดได้ด้วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
- 6% aqueous sodium hypochlorite หรือ น้ำยาซักผ้าขาวไฮเตอร์นั่นเอง โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1:32 แช่อุปกรณ์หรือล้างทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสแมวติดเชื้อ โดยให้แช่หรือพ่นทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที
- โพแทสเซียมเปอร์ออกซิโมโนซัลเฟต (potassium peroxymonosulfate) หรือที่รู้จักกันในชื่อ อ็อกซิโปร มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อรา ค่อนข้างปลอดภัยต่อคนและสัตว์ สามารถใช้ทำความสะอาดพื้นผิว กรง ชามอาหาร เป็นต้น
หมายเหตุ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดไม่ควรสัมผัสโดยตรงและระวังไม่ให้โดนเสื้อผ้า เพราะอาจทำให้เกิดรอยด่างบนผ้าสีได้
บทสรุป
กาโตโระหวังว่าบทความคงเป็นประโยชน์กับทาสแมว เมื่อต้องรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เจ้าเหมียวที่ติดเชื้อหัดแมว โอกาสรอดมากขึ้นแน่ ๆ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แม้ว่าร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสเองได้ แต่อย่านิ่งนอนใจเมื่อแมวดูอาการน่าเป็นห่วง ควรพาแมวไปหาสัตวแพทย์
สุดท้ายอย่าลืมพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี เพราะค่ารักษาแพงกว่าค่าวัคซีนแน่นอน วัคซีนยังช่วยลดโอกาสติดเชื้อและลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคร้ายด้วยนะ ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าเสียใจทีหลัง
อ้างอิง
1.https://www.msdvetmanual.com/generalized-conditions/feline-panleukopenia/feline-panleukopenia
2.https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/1098612X211005301