วายร้ายใกล้ตัวมะหมา พยาธิเม็ดเลือดในสุนัข E.canis

ภัยร้ายใกล้ตัวน้องหมา “พยาธิเม็ดเลือดในสุนัข” ทาสหมามือโปรหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับโรคนี้ดี เมื่อพบน้องหมาเลือดกำเดาไหล ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ก็จะนึกเชื่อมโยงไปถึงโรคพยาธิเม็ดเลือดเป็นอันดับแรก ๆ แต่โรคนี้มันคืออะไรกันแน่ พยาธิเม็ดเลือดที่เราเรียก ๆ กันมันคือพยาธิอะไร และทำไมมันถึงรักษายากเย็น บางตัวเป็นแล้วเป็นอีกรักษาไม่หายสักที มาทำความรู้จักกับเจ้าวายร้ายใกล้ตัวมะหมาให้มากขึ้นในบทความนี้ได้เลย

จุดเริ่มต้นของพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข

คำว่าพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขเป็นคำที่เรียกรวม ๆ กัน ของโรคที่เกิดจากกลุ่มเชื้อก่อโรคที่แอบอยู่ในเม็ดเลือดของสุนัข ได้แก่ Babesia sp., Hepatozoon sp. และ  Ehrlichia sp. มีชื่อคุ้น ๆ สักชื่อไหมคะ ใช่แล้ว เจ้า E.canis ที่คุณหมอชอบพูดถึงนั่นเอง (E มาจาก Ehrlichia) และในบทความนี้เราจะกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขที่เกิดจาก E.canis เท่านั้น

แล้วสุนัขของเราไปติดพยาธิเม็ดเลือด E.canis มาจากที่ไหน??

โรคนี้มากับศัตรูตลอดกาลของสุนัข “เห็บ” วายร้ายตัวเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นดิน ฝาผนังบ้านหรือมุมอับชื้นต่าง ๆ เช่น รอยแยกของฝาผนัง พื้นดิน ซอกกรง สนามหญ้า

เห็บตัวนำเชื้อพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข

เห็บ (Rhipicephalus sanguineus หรือ Brown dog tick) ขึ้นมาบนตัวสุนัขเพื่อมาหากินและหาคู่ เรียกได้ว่าบนตัวสุนัขก็คือรังรักของเห็บดี ๆ นั่นเอง ในขั้นตอนการหากินของเห็บ เมื่อเห็บที่มีเชื้อ E.canis ดูดเลือดสุนัข เชื้อจะถูกถ่ายทอดผ่านทางน้ำลายของเห็บเข้าไปสู่ร่างกายของสุนัข

หลังจากเห็บตัวเมียผสมพันธุ์บนตัวสุนัขเสร็จ ตัวเมียก็จะลงไปวางไข่บนพื้น การวางไข่แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้มากถึง 5,000 ฟอง หลังจากวางไข่เสร็จตัวเมียก็ตายไป หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมลูกหลานเห็บก็จะเจริญเติบโต รอคอยวันที่จะได้ไปหากินและหาคู่บนตัวของสุนัข เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขอาการเป็นอย่างไร

อาการยอดฮิตที่เจ้าของสุนัขสามารถสังเกตเห็นได้หากสุนัขติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดก็คือ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ สุนัขเลือดกำเดาไหล

บทความแนะนำที่เกี่ยวข้อง

ภาวะฉุกเฉินในสุนัข

วิธีปฐมพยาบาลสุนัขเลือดกำเดาไหล

ความรุนแรงของโรคพยาธิเม็ดเลือดสามารถแบ่งตามระยะเวลาของการติดเชื้อได้ดังนี้

  1. ติดเชื้อมาแล้ว 8-20 วัน จะเรียกระยะนี้ว่าการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน สุนัขจะแสดงอาการ อ่อนแรง เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด เลือดกำเดาไหล บางตัวพบจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechial and ecchymotic hemorrhages) บางตัวพบอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ เมื่อตรวจเลือดมักพบภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ
  2. ติดเชื้อมาแล้วมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป บางตัวอยู่ในระยะนี้นานเป็นปี หากสุนัขไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สุนัขจะเข้าสู่ระยะป่วยแต่ไม่แสดงออก (Subclinical) ซึ่งในระยะนี้หากตรวจเลือดมักจะพบว่าสุนัขมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย แต่จะไม่แสดงอาการอื่น ๆ ให้เจ้าของเห็น
  3. ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดเรื้อรัง สุนัขตัวไหนที่พัฒนาโรคมาจนถึงระยะนี้โรคจะมีความรุนแรงทำให้สุนัขถึงแก่ชีวิตได้ อาการที่สุนัขแสดงออกมาจะเหมือนกับระยะเฉียบพลันคืออ่อนแรง เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด  เลือดกำเดาไหล มีอาการทางประสาท ร่วมกับการติดเชื้อในอวัยวะอื่น ๆ ม้ามโต เลือดไหลไม่หยุดนานขึ้นและบ่อยขึ้น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน ปัสสาวะมีเลือด กล้ามเนื้ออักเสบ กดการทำงานของไขกระดูกซึ่งส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง

จะเห็นได้ว่าอาการของการติดเชื้อระยะเฉียบพลันกับอาการของการติดเชื้อระยะเรื้อรังมีความคล้ายคลึงกันจนบางครั้งก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ด้วยตาเปล่า คุณหมอจำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติเพิ่มเติมจากเจ้าของสุนัขและตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและการพยากรณ์ความรุนแรงของโรคได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

รู้หรือไม่ โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข (E.canis) สามารถเกิดได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกวัย และทุกสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการติดโรคและแสดงอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ2

สุนัขพันธุ์เยอะมันเชพเพิร์ดมีความไวต่อโรคพยาธิเม็ดเลือด
สุนัขพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ด

ความน่ากลัวของโรคพยาธิเม็ดเลือดก็คือ มันอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่าโมโนไซต์ (Monocyte) ของสุนัข ซึ่งเชื้อตัวนี้สามารถเดินทางไปได้ทั่วทั้งร่างกายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ผ่านทางกระแสเลือดของสุนัขและสร้างความเสียหายต่อร่างกายสุนัข โดยภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้หากติดพยาธิเม็ดเลือดได้แก่

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวโมโนไซต์
ภาพจำลองเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ที่พยาธิเม็ดเลือด E.canis ชอบไปอาศัยอยู่
  • ภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดตนเอง (Immune-Mediated Hemolytic Anemia) พยาธิเม็ดเลือด E.canis เป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดของตัวเอง สุนัขจะมีอาการไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไม่มีแรง ปัสสาวะปนเลือด หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
  • โรคไต พยาธิเม็ดเลือด E.canis สามารถทำให้เกิดความเสียหายที่โกลเมอรูลัส (Glomerulus) หรือกระจุกหลอดเลือดฝอยที่ทำหน้าที่กรองของเสียในไต ส่งผลให้เกิดการรั่วของโปรตีน ซึ่งสุนัขที่ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ (proteinuria) จะมีแนวโน้มในการเสียชีวิตมากกว่าสุนัขที่ตรวจไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขรักษาหายไหม

การรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขจะหายหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการติดเชื้อและสายพันธุ์ของสุนัข กล่าวคือหากเจ้าของสุนัขสังเกตพบอาการป่วยและรีบพาสุนัขไปให้คุณหมอรักษาทันที มีโอกาสที่โรคยังพัฒนาไปไม่เยอะ สุนัขก็จะมีโอกาสหายจากโรคได้

แต่อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ก็มีโอกาสที่สุนัขจะป่วยแบบเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงแก่ชีวิต

รู้หรือไม่ สุนัขที่ป่วยเป็นพยาธิเม็ดเลือดและมีภาวะเลือดจางรุนแรง (severe anemia) เม็ดเลือดขาวต่ำ (severe leukopenia) โพแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) การแข็งตัวของเลือดยาวนานผิดปกติ (prolong activated partial thrombin time) และสูญเสียโปรตีนทางไต (protein-losing nephropathy) การพยากรณ์โรคมีแนวโน้มแย่ สุนัขมีโอกาสเสียชีวิตสูง2

สุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดกินยาอะไร

ยารักษาหลักที่ใช้สำหรับการรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดคือ Doxycycline นอกจากนั้นคุณหมออาจเพิ่มยาบำรุงอื่น ๆ มาให้แก่สุนัข เช่น ยาบำรุงเลือด ยาบำรุงตับ เป็นต้น

คำเตือน กาโตโระไม่สนับสนุนให้เจ้าของสุนัขวินิจฉัยโรคและซื้อยามารักษาสุนัขเอง การวินิจฉัยว่าสุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดหรือไม่นั้นต้องอาศัยการซักประวัติ การตรวจเลือดอย่างละเอียดถึงจะยืนยันได้ว่าสุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดจริง ๆ การให้สุนัขทานยา Doxycycline โดยปราศจากการดูแลจากสัตวแพทย์อาจส่งผลให้เป็นพิษต่อตับและไต การสร้างกระดูกและฟันในสุนัขเด็กผิดปกติ การดื้อยา ที่สำคัญคือเสียทั้งเงินและเวลาในการรักษาเอง(สุนัขอาจจะไม่ได้เป็นพยาธิเม็ดเลือดอย่างที่เราคิด) แถมยังไม่หายจากโรคอีกด้วย

สุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดดูแลอย่างไร

เมื่อคุณอ่านมาถึงหัวข้อนี้ เราขอแสดงความยินดีด้วยค่ะที่คุณหมออนุญาตให้คุณได้มีโอกาสดูแลสุนัขที่คุณรักด้วยตนเอง แสดงว่าอาการของสุนัขไม่หนักมาก จึงไม่จำเป็นต้องแอดมิทที่โรงพยาบาลสัตว์

เพราะฉะนั้นในหัวข้อนี้จะขอแนะนำวิธีการดูแลสุนัขในกรณีเจ้าของที่ต้องดูแลสุนัขที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพยาธิเม็ดเลือดและได้รับยากลับมากินที่บ้าน

สิ่งสำคัญในการดูแลสุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดก็คือ ทานยาให้ครบและไปตรวจตามที่หมอนัด เท่านี้เลยจริง ๆ บางคนคิดว่าทานยาให้หมดแล้วก็คือจบคอร์สรักษาแล้ว ในบางกรณีคุณหมอเจ้าของเคสอาจให้ยามาก่อนแค่ 3 วัน หรือ 7 วัน เพื่อนัดมาดูอาการว่าดีขึ้นหรือมีอาการอื่น ๆ ที่ต้องดูแลเพิ่มเติมไหม ก่อนจะจ่ายยารักษาต่อเนื่องจนครบคอร์ส (28-30 วัน)

การให้ยา Doxycycline แก่สุนัข โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องให้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาที่สามารถระคายเคืองทางเดินอาหารได้ อย่างไรก็ตามการให้ยา Doxycycline ไม่ควรให้พร้อมกับอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก (Iron) แคลเซียม (Calcium) อะลูมิเนียม (Aluminium) และซิงค์ (Zinc)4 เช่น นม เครื่องในสัตว์ที่มีธาตุเหล็กสูง (ตับและม้าม) ยาบางชนิด (ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ Aluminium) เป็นต้น

อาหารสำหรับสุนัขที่เป็นพยาธิเม็ดเลือด

ในปัจจุบันยังไม่มีอาหารที่จำเพาะเจาะจงสำหรับสุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือด สามารถจัดหาอาหารตามอาการและโรคที่สุนัขเป็นอยู่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น

  • สุนัขไม่ยอมกินอะไรเลยและไม่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ  แนะนำอาหารเหลวสูตร Recovery หรือ A/D ซึ่งสามารถบรรจุใส่ไซริงค์และป้อนให้สุนัขได้อย่างสะดวก เมื่อสุนัขกลับมาทานได้ปกติแล้วจึงเปลี่ยนกลับไปใช้อาหารสูตรเดิม
  • สุนัขที่มีโรคประจำตัว แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเจ้าของเคสก่อนเปลี่ยนสูตรอาหาร

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขค่ารักษาประมาณเท่าไหร่

ค่ารักษาพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความรุนแรงของโรคพยาธิเม็ดเลือดที่สุนัขเป็น เกรดของโรงพยาบาลสัตว์ ขนาดตัวของสุนัข และโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากพยาธิเม็ดเลือด โดยการคาดการณ์ราคาในหัวข้อนี้นำราคาอ้างอิงมาจากโรงพยาบาลสัตว์ขนาดกลางในเขตกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง

สุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดไม่รุนแรงมาก สุนัขพันธุ์ปอมเจ้าของพามาหาหลังจากเห็นสุนัขซึม ๆ มา 2 วันแล้ว ถูกวินิจฉัยว่าเป็นพยาธิเม็ดเลือด คุณหมอประเมินแล้วว่าสามารถให้ยากลับไปกินเองที่บ้านได้และใช้วิธีโทรไปสอบถามอาการเรื่อย ๆ จากเจ้าของ ในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ดังนี้

  • ค่าตรวจวินิจฉัย 5xx-1,2xx
  • ค่ายารักษาพยาธิเม็ดเลือด 7xx
  • ค่าอาหารเหลว 180
  • ค่าที่ป้อนยาเม็ด 120
  • ค่ายากำจัดเห็บ 750

รวม 3,xxx

สุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดแบบรุนแรง สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ มาด้วยอาการเลือดกำเดาไหลรุนแรง เจ้าของไม่สามารถห้ามเลือดได้เอง จึงพามาส่งโรงพยาบาล ตรวจเบื้องต้นพบว่ามีไข้สูง 103.5F ในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่เจ้าของสัตว์ต้องคำนึงถึง ดังนี้

  • ค่าตรวจวินิจฉัย 5xx-1,5xx
  • ค่ายาลดไข้ 2xx-5xx
  • ค่าน้ำเกลือ 2xx-4xx
  • ค่าแอดมิท 2xx-5xx
  • ค่าอาหารสัตว์ป่วย 1xx
  • ค่ายาฉีดในกรณีที่สุนัขยังไม่สามารถกินยาเม็ดได้ 2xx-4xx
  • ค่ายากำจัดเห็บ 750

รวม มากกว่า 3,xxx 

หมายเหตุ ราคาข้างต้นเป็นราคาต่อ 1 วันเท่านั้น (ค่าแอทมิท ค่ายาฉีด ค่าน้ำเกลือ ค่าอาหารสัตว์ป่วย) เมื่อสุนัขกินอาหารได้เอง ไม่มีไข้แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเป็นยากินกลับบ้านเพิ่มขึ้นด้วย

สุนัขป่วยด้วยโรคพยาธิเม็ดเลือดแทรกซ้อนด้วยโรคไต
สุนัขป่วยด้วยโรคพยาธิเม็ดเลือดอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น

สุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดแบบรุนแรงมาก สุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล ป่วยมาสักพักแล้ว สภาพคือนอนมา ลุกไม่ไหว เหงือกซีดมาก ตรวจแล้วพบว่าเป็นพยาธิเม็ดเลือด และเลือดจางมาก ๆ ถ้าไม่ถ่ายเลือดอาจเสียชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

  • ค่าตรวจวินิจฉัย 5xx-2,xxx
  • ค่าตรวจความเข้ากันได้ของเลือด 5xx-1,5xx
  • ค่าเลือดและถ่ายเลือด 9,xxx-13,xxx
  • ค่าแอทมิท 2xx-4xx
  • ค่ายาฉีด 5xx-1,xxx
  • ค่าน้ำเกลือ 2xx-4xx
  • ค่าอาหารสัตว์ป่วย 1xx
  • ค่ายากำจัดเห็บ 750

รวม มากกว่า 18,xxx

หมายเหตุ ราคาข้างต้นเป็นราคาต่อ 1 วันเท่านั้น (ค่าแอทมิท ค่ายาฉีด ค่าน้ำเกลือ ค่าอาหารสัตว์ป่วย) เมื่อสุนัขกินอาหารได้เอง ไม่มีไข้แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเป็นยากินกลับบ้านเพิ่มขึ้นด้วย

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขติดต่อใครได้บ้าง

สุนัขแพร่เชื้อไปสู่สุนัขตัวอื่นได้อย่างไร ผ่านการถูกเห็บที่มีเชื้อกัดและเห็บตัวนั้นนำเชื้อไปแพร่สู่สุนัขตัวอื่นต่อไป หรือการถ่ายเลือดของสุนัขที่มีเชื้อพยาธิเม็ดเลือดให้แก่สุนัขก็สามารถทำให้สุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือดได้

สุนัขป่วยแพร่เชื้อสู่คนได้ไหม ใครที่กำลังดูแลสุนัขป่วยด้วยโรคพยาธิเม็ดเลือด E.canis อยู่สามารถวางใจได้ สุนัขป่วยไม่สามารถแพร่เชื้อ E.canis สู่มนุษย์ได้

เห็บมีเชื้อ E.canis แพร่เชื้อสู่คนได้ไหม เกิดขึ้นได้แต่ยากมาก เห็บแพร่เชื้อโดยการกัดมนุษย์ เมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อ E.canis จะทำให้มีอาการมีไข้ ปวดหัว ปวดข้อ อ่อนล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกระดูกและถ่ายเหลว ในบทความของ Iowa state university เมื่อปี 2013 ที่ผู้เขียนนำมาอ้างอิงพบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อ E.canis ทั้งหมด 7 คนเท่านั้น5

รู้หรือไม่ หากคุณอยู่อาศัยในภาคพื้นทวีปอื่นมีเห็บชนิดอื่น ๆ เช่น Lone star tick (พบในตอนใต้ของทวีปอเมริกา) Blackleggeg tick (พบในโซนตะวันออกของทวีปอเมริกา) เห็บเหล่านี้สามารถก่อโรค Lyme disease, anaplasmosis, Powassan virus infection, และ babesiosis ในมนุษย์ได้6

พยาธิเม็ดเลือดในสุนัขป้องกันได้อย่างไร

การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขที่ดีที่สุดคือการกำจัดเห็บ การกำจัดเห็บอย่างมีประสิทธิภาพควรกำจัดทั้งบนตัวสุนัขอย่างเป็นประจำและในสิ่งแวดล้อม

กำจัดเห็บตามพื้นหญ้าเพื่อป้องกันพยาธิเม็ดเลือดที่มากับเห็บ
เห็บพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือด E.canis สามารถพบได้ตามพื้นดิน พื้นหญ้าและมุมอับ

บทความแนะนำที่เกี่ยวข้อง วิธีกำจัดเห็บหมัดในลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์

ส่งท้าย

จะเห็นได้ว่าการรักษาพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง ราคาที่ต้องจ่ายนี้ไม่ใช่แต่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ในบางกรณีนั้นหมายถึงชีวิตของสุนัขที่คุณรักอีกด้วย ในทางกลับกันการป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพียงใช้ยากำจัดเห็บหมัดบนตัวสุนัขอย่างเป็นประจำ ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบทั้งแบบหยอดหลัง แบบปลอกคอ แบบเม็ดสำหรับกิน ให้เจ้าของสุนัขได้มีโอกาสเลือกตามที่สะดวก หากใครที่มีโอกาสได้ดูแลสุนัขเป็นพยาธิเม็ดเลือด สามารถแชร์เรื่องราวของคุณได้ในกล่องความคิดเห็นด้านล่างนี้เลยค่ะ


อ้างอิง

  1. Ettinger, S. J. (2016). The Ehrlichiosis. In the Textbook of Veterinary Internal Medicine. essay, Elsevier Saunders. 
  2. Bruyette, D. (2020). Clinical Small Animal Internal Medicine, 2 Volume Set. Wiley & Sons, Limited, John.
  3. Suemanotham, N., 2018. The concurrence of naturally occurring Ehrlichia canis infection and renal dysfunction in dogs: kidney diseases and survival analysis. Journal of Applied Animal Science, Vol.11(No.3), pp.47-56.
  4. ​​Papich, M. G. (2011). Doxycycline. In Saunders Handbook of veterinary drugs: Small and large animals. essay, Elsevier Saunders. 
  5. https://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/pdfs/ehrlichiosis.pdf
  6. https://www.cdc.gov/ehrlichiosis/stats/index.html

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า