เห็บหมัด ปัญหากวนใจของคนรักสุนัข ในสุนัขสุขภาพดีโตเต็มวัยมีผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดมากมายให้เลือกใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบหยอดหลัง แบบเม็ดสำหรับกิน ปลอกคอ และอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วถ้าเป็นลูกสุนัขล่ะ เราจะมีวิธีกำจัดเห็บหมัดในลูกสุนัขอย่างปลอดภัยด้วยวิธีไหนบ้าง
หลายคนคงสงสัยว่าทำไมบทความนี้ต้องเน้นไปที่ลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ นั่นก็เป็นเพราะว่า ลูกสุนัขในช่วงอายุนี้ยังไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ตามที่กล่าวมาข้างต้นได้เลย ด้วยผิวหนังที่บอบบางและการรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ไม่ดีในลูกสุนัข ทำให้การอาบน้ำในลูกสุนัขแรกเกิดมีความท้าทายอย่างมากเลยทีเดียว แล้วเราทำอะไรได้บ้างล่ะ บทความนี้มีคำตอบ
1.หวี แหนบ และสองมือ
ประสิทธิภาพ
5/5
ความปลอดภัย
4/5
ความรวดเร็ว
1/5
วิธีพื้นฐานที่ทุกคนต้องเคยผ่านกันมาบ้าง คือการใช้มือนี่แหละหยิบเห็บหมัดออกมาจากตัวลูกสุนัขโดยตรงเลยถึงแม้จะช้าหน่อย แต่ในกรณีที่ลูกสุนัขยังเด็กมาก ๆ ไม่สามารถอาบน้ำได้วิธีนี้ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อลูกสุนัขที่สุดแล้ว อุปกรณ์ที่ช่วยทุ่นแรง เช่น หวี และแหนบ ก็สามารถทำให้การหยิบเห็บออกรวดเร็วมากขึ้น
ข้อควรระวัง
บางครั้งการหยิบเห็บออกจากตัวสุนัขโดยตรงอาจทำให้มีเลือดออกจากจุดที่เห็บฝังอยู่บนตัวสุนัขได้
คำแนะนำ
ควรเตรียมสำลีเอาไว้เพื่อกดห้ามเลือด
2.แป้งโรยกำจัดเห็บหมัด
ประสิทธิภาพ
3/5
ความปลอดภัย
3/5
ความรวดเร็ว
4/5
แป้งโรยสำหรับกำจัดเห็บหมัดมักมีส่วนประกอบหลักคือ เพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งเป็นสารกําจัดแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์ ที่มีพิษต่อแมลงสูงแต่มีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่ำ มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกําจัดเห็บหมัด
วิธีการใช้แป้งโรยได้รับความนิยมเนื่องจากใช้งานสะดวกแต่ในด้านประสิทธิภาพของการใช้เพอร์เมทรินในการกำจัดเห็บหมัดมีรายงานการวิจัยในประเทศปานามาว่าเห็บ Rhipicephalus sanguineus ซึ่งเป็นเห็บชนิดเดียวกับที่พบในบ้านเรามีการดื้อต่อเพอร์เมทรินในระดับสูง1
ข้อควรระวัง
- ด้วยขนาดอนุภาคที่เล็กและการฟุ้งกระจายได้ดีของแป้ง เวลาใช้ในลูกสุนัขต้องระมัดระวังไม่ให้แป้งเข้าปาก ตา หรือจมูกของสุนัข
- ไม่ควรนำลูกสุนัขที่ทาแป้งไปให้แม่สุนัขทันที เพราะแม่สุนัขอาจเลียเอาแป้งที่มีส่วนผสมของยาเข้าไปได้
คำแนะนำ
ทาแป้งทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง และใช้แปรงหวีเอาเศษแป้งที่เหลืออยู่ออกไป ก่อนนำลูกสุนัขเข้าไปรวมกับสุนัขตัวอื่น
3.จัดการเห็บหมัดบนตัวแม่สุนัข
การจัดการเห็บหมัดบนตัวแม่สุนัขก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เห็บหมัดที่อยู่บนตัวแม่สุนัขสามารถกระจายไปสู่ลูกสุนัขได้อย่างง่ายดาย ตามพัฒนาการลูกสุนัขในช่วงแรกจะต้องอาศัยการดูแลจากแม่สุนัขเป็นหลัก เรียกได้ว่าลูกสุนัขต้องอยู่กับแม่ตลอดเวลาเลยทีเดียว
แม่สุนัขที่กำลังให้นมลูกสุนัขอยู่ก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ได้ทุกประเภท จากการรวบรวมข้อมูลของยากำจัดเห็บหมัดที่มีทะเบียนถูกต้องในประเทศไทยและสามารถใช้ได้ในกรณีนี้ได้แก่
Revolution
ประสิทธิภาพ
4/5
ความปลอดภัย
5/5
ความรวดเร็ว
4/5
ยาหยอดหลังยอดฮิตติดตลาดอีกตัวหนึ่ง มีความง่ายในการใช้งาน แค่แกะผลิตภัณฑ์แล้วหยอดไปบริเวณหลังของตัวสัตว์ก็สามารถป้องกันเห็บหมัดได้ถึง 1 เดือนเลยทีเดียว มีความสะดวกในการใช้งาน และมีฤทธิ์ป้องกันปรสิตอื่น ๆ อีกมากมาย
Revolution มีส่วนประกอบหลักคือ เซราเมกติน (Selamectin) ใช้รักษาและป้องกันหมัดเห็บ ป้องกันพยาธิหัวใจ ไรในหู โรคขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptes) และพยาธิตัวกลม มีฤทธิ์อยู่ได้ 1 เดือน สามารถใช้ในแม่สุนัขตั้งท้องและให้นมลูกได้
ข้อควรระวัง
หลังหยอดยาไม่ควรให้สุนัขตัวอื่นมาเลียสุนัขตัวที่ถูกหยอดยา ควรทิ้งให้ยาแห้งอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
คำแนะนำ
- ตำแหน่งที่เหมาะสมในการหยอดยาคือบริเวณหลัง ตรงกลางระหว่างไหล่ทั้งสองข้างของสุนัข
- ควรใช้ยาก่อนหรือหลังสุนัขอาบน้ำ 2 ชั่วโมง
Bravecto
ประสิทธิภาพ
5/5
ความปลอดภัย
4/5
ความรวดเร็ว
3/5
มีทั้งรูปแบบเม็ดเพื่อให้สุนัขกินและชนิดหยอดหลัง ออกฤทธิ์ป้องกันเห็บหมัดยาวนานถึง 3 เดือน ตามฉลากเขียนเอาไว้ว่าสามารถใช้ได้กับสุนัขตั้งท้อง สุนัขให้นมและสุนัขแม่พันธุ์ได้
Bravecto มีส่วนประกอบหลักคือ Fluralaner ซึ่งทำให้เกิดการยับยั้งการส่งสัญญาณประสาท ทำให้เห็บและหมัดเป็นอัมพาตและตายได้ ออกฤทธิ์กำจัดเห็บตาย ภายใน 12 ชั่วโมง กำจัดหมัดตาย ภายใน 8 ชั่วโมง ใช้เสริมประกอบการรักษา ไรขี้เรื้อน ขี้เรื้อนแห้ง ไรในหู
ข้อควรระวัง
อาการไม่พึงประสงค์ที่สามารถพบได้ ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำลายไหลยืด ลมชักและอ่อนแรง (พบ 1 ใน 10,000 ตัว)
คำแนะนำ
- ควรซื้อยาโดยตรงจากสัตวแพทย์
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันทีหลังการใช้ยา
Bayticol
ประสิทธิภาพ
4/5
ความปลอดภัย
4/5
ความรวดเร็ว
2/5
ภายในกล่องจะเป็นผลิตภัณฑ์เข้มข้นที่เราต้องเอาออกมาผสมน้ำเพื่อเจือจางให้ได้อัตราส่วนตามต้องการ สามารถใช้ได้ทั้งการอาบชโลมในขั้นตอนหลังจากอาบแชมพูหรือสามารถนำไปใช้ทำความสะอาดพื้นที่ที่สุนัขอยู่เพื่อจัดการกับเห็บที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมก็ได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความสารพัดประโยชน์และความคุ้มค่ามากเลยทีเดียว
แต่ในแง่ของความรวดเร็วได้ไปที่ 2 คะแนนเพราะการอาบน้ำสุนัขบางตัวไม่ใช่เรื่องง่าย!! และในระหว่างที่ต้องรอให้ตัวสุนัขแห้งเพื่อให้ยาซึมเข้าไปและระมัดระวังไม่ให้สุนัขเลียยาโดยการใส่คอลล่าร์ สุนัขบางตัวก็ไม่ยอมให้เราจัดการได้ง่าย ๆ เหมือนกัน
Bayticol มีส่วนประกอบหลักคือ ฟลูเมทริน (Flumethrin) มีฤทธิ์ควบคุมและกำจัด เห็บ หมัด ของสุนัข สามารถกำจัดเห็บ ตัวอ่อนของเห็บทุกระยะ ตลอดจนยับยั้ง การวางไข่ของเห็บตัวเมีย
วิธีใช้
ผสมไบติคอล 1 ซีซี / น้ำ 1.5 ลิตร ในกล่องจะมีถ้วยตวงแถมมาให้อยู่แล้ว ใช้งานสะดวกมาก ๆ เมื่อผสมเสร็จแล้วนำไปใช้อาบบนผิวหนังของสุนัขได้ทันที
ข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้ ไบติคอล 6% อีซี ในกรณีที่สุนัขมีแผลขนาดใหญ่ที่ผิวหนัง ระมัดระวังในการใช้ยาบริเวณใบหน้าของสุนัข
คำแนะนำ
ควรอาบน้ำแม่สุนัขด้วยแชมพูให้สะอาดก่อนใช้ Bayticol
4.สิ่งแวดล้อมก็สำคัญนะอย่าละเลย!
ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าวงจรชีวิตของเห็บที่พบในประเทศไทย (Rhipicephalus sanguineus) หรือเห็บสีน้ำตาลต้องขึ้น ๆ ลง ๆ บนตัวสุนัขและพื้นถึง 3 รอบกว่าที่เห็บจะโตเต็มวัยและพร้อมวางไข่ได้ การที่พวกเราจะจัดการกับเห็บสายย่อ (ขึ้น ๆ ลง ๆ) ได้เนี่ย ต้องจัดการเห็บที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมด้วยถึงจะตัดวงจรเห็บสายย่อได้อย่างสมบูรณ์
ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำสำหรับกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อม
Bayticol
ประสิทธิภาพ
4/5
ความปลอดภัย
4/5
ความรวดเร็ว
4/5
จะเห็นได้ว่าเราเพิ่มคะแนนความรวดเร็วให้ในกรณีที่ใช้กับพื้นหรือตามสิ่งแวดล้อม เพราะจากประสบการณ์ที่เคยใช้มา ใช้งานค่อนข้างสะดวก ผสมไบติคอล 1 ซีซี / น้ำ 1.5 ลิตร เคลียร์ของออกจากห้อง ราดพื้น รอให้แห้ง เสร็จเรียบร้อย ในระหว่างนี้อาจเห็นเห็บไต่ขึ้นมาตามผนังก็ราดใส่ผนังหรือนำน้ำยาไปใส่ฟ็อกกี้แล้วก็ฉีดตามพื้นที่แนวตั้งให้ทั่วได้เลย ทำซ้ำได้ทุก 2 อาทิตย์จนกว่าจะพอใจ
ราดไบติคอลบนพื้นหญ้า หญ้าจะตายไหม?
ขอสารภาพตามตรงว่าตัวผู้เขียนยังไม่เคยมีโอกาสเอาไปทดสอบราดบนพื้นหญ้าด้วยตัวเอง แต่จากการรวบรวมข้อมูลของผู้อื่นที่เคยใช้โดยตรงพบว่าใช้ได้ ถ้าไม่แน่ใจแนะนำให้นำไปราดพื้นหญ้าในบริเวณเล็ก ๆ ดูก่อน
คำแนะนำ
- เล็มหญ้าให้สั้น เพราะเห็บจะตามหาเหยื่อโดยการไต่ขึ้นไปบนยอดพุ่มไม้ หญ้า ผนังหรือรั้ว เพื่อรอสัญญานการเคลื่อนไหวหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหยื่อหายใจออกมา การเล็มหญ้าจะช่วยลดโอกาสที่เห็บจะตามหาเหยื่อเจอ
- จำกัดบริเวณแม่สุนัขไม่ให้ไปเดินเล่นที่สนามหญ้า
นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ยอดฮิตตัวอื่นที่ผู้อ่านอาจได้รับการแนะนำมาเช่น Frontline spray ซึ่งหากดูตามฉลากของประเทศไทยถูกเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามมีฉลากของผลิตภัณฑ์ Frontline spray ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษและอินเดีย ที่เขียนว่าใช้ได้ในสุนัขอายุตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป ซึ่งผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศมีส่วนผสมที่เหมือนหรือแตกต่างกันกับผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยอย่างไรบ้าง
จากข้อมูลข้างต้นนี้การใช้งาน Frontline spray ในสุนัขแรกเกิดจึงถือว่าเป็นการใช้งานนอกเหนือจากฉลาก เพราะฉะนั้นควรใช้งานภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด
หลังจากลูกสุนัขอายุมากกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกสุนัขสามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้เองสามารถที่จะอาบน้ำและใช้แชมพูกำจัดเห็บหมัด หรือใช้ผลิตภัณฑ์หยอดหลังเพื่อกำจัดเห็บหมัดได้บ้างแล้ว เมื่ออายุ 8 สัปดาห์ ก็พร้อมสำหรับการพาไปฉีดวัคซีนเข็มแรกและมีทางเลือกสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดที่หลากหลายมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้องกับการดูแลลูกสุนัขในแง่มุมอื่น ๆ
อ่านเรื่องคู่มือดูแลสุนัขแรกเกิดฉบับคุณแม่มือใหม่จนถึงมือโปร
สรุป
ลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ มีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ยามากมาย 4 วิธีกำจัดเห็บหมัดในลูกสุนัขที่เราเสนอมานั้น เป็นการดูแลลูกสุนัขในองค์รวมทั้งบนตัวลูกสุนัขเอง ตัวแม่สุนัข และในสิ่งแวดล้อม หากผู้อ่านสามารถทำตามนี้ได้ทั้งหมด พวกเราเชื่อว่าผู้อ่านจะสามารถจัดการปัญหาเห็บหมัดที่กวนใจลูกสุนัขได้อย่างปลอดภัยแน่นอนค่ะ
ใครมีปัญหาหรืออยากแชร์วิธีการที่เคยใช้แล้วได้ผลดี สามารถแชร์ให้เพื่อน ๆ ฟังได้ที่กล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้เลยนะคะ
อ้างอิง
Coles T.B. and Dryden M.W. Insecticide/Acaricide resistance in fleas and ticks infesting dogs and cats. Parasites & Vectors 2014. P.1 -10.