คงจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากลูกสุนัขแรกเกิดทุกตัวมีแม่สุนัขที่สุขภาพดีคอยดูแล แต่ลูกสุนัขก็ไม่ได้โชคดีไปซะทุกตัว แม่สุนัขบางตัวก็มีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำนมตามปริมาณที่ลูกสุนัขต้องการได้ หรือหากโชคร้ายกว่านั้น ลูกสุนัขที่ไม่มีแม่สุนัขคอยดูแลเลยล่ะ
วันนี้กาโตโระจึงได้ทำคู่มือวิธีดูแลสุนัขแรกเกิดจนกระทั่งหย่านม โดยคู่มือนี้จะบอกถึงวิธีการดูแลลูกสุนัขแรกเกิดในทุกมิติ รวมถึงตอบคำถามที่ชาวเน็ตชอบถาม เช่น ลูกกสุนัขแรกเกิดร้องไม่หยุดทำอย่างไรได้บ้าง ลูกสุนัขแรกเกิดนอนกระตุกจะเป็นอะไรไหม
วิธีตรวจร่างกายลูกสุนัขแรกเกิดที่คุณทำได้เองที่บ้าน
มาเริ่มกันที่การตรวจร่างกายของลูกสุนัขเบื้องต้นกันก่อน นอกจากจะต้องตรวจว่ามีอวัยวะครบหรือไม่แล้วต้องดูเรื่องอะไรอีก
หลังจากลูกสุนัขคลอดออกมา ให้ตรวจสายรกของลูกสุนัขเป็นอันดับแรก โดยปกติแล้วหากแม่สุนัขคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ แม่สุนัขจะเป็นคนจัดการกัดสายสะดือนี้เอง หน้าที่ของเราคือคอยตรวจว่าสายสะดือที่แม่สุนัขกัดให้ลูกสุนัขไม่สั้นจนติดผนังช่องท้องและไม่มีเลือดออกมาจากสายรก หากมีเลือดไหลออกมาให้กดห้ามเลือดด้วยผ้าก็อซสะอาดจนกว่าเลือดจะหยุดและแต้มยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ เช่น เบตาดีน
ตรวจในช่องปากเพื่อดูว่าเพดานในช่องปากด้านบนปิดสนิทไหม ลูกสุนัขบางตัวอาจมีภาวะเพดานโหว่ ซึ่งการป้อนนมแบบธรรมดานั้นจะทำให้ลูกสุนัขที่มีภาวะนี้สำลักนมเข้าปอดและมีอันตรายถึงชีวิตได้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ถึงการดูแลลูกสุนัขในกรณีนี้
อย่าลืม
ตรวจแม่สุนัขด้วยว่ามีน้ำนมไหลออกมาจากเต้าไหม ตรวจได้ด้วยการนวดที่เต้านมและบีบเบา ๆ
เตรียมพร้อมก่อนการเป็นคุณแม่จำเป็น
ความต้องการพื้นฐานของลูกสุนัข
หากคุณต้องกลายเป็นคุณแม่จำเป็นของลูกสุนัขแรกเกิด คุณควรทดแทนความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ให้แก่ลูกสุนัขแรกเกิดได้
TIP
ในกรณีที่ลูกสุนัขแรกเกิดถูกทิ้ง ให้ลองหาแม่สุนัขตัวอื่นที่เพิ่งคลอดลูก
ลองให้แม่สุนัขตัวนั้นรับอุปการะลูกสุนัขกำพร้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
เนื่องจากการพัฒนาของลูกสุนัขแรกเกิดยังไม่สมบูรณ์ การแสดงออกต่อความต้องการหรือความเจ็บปวดจะค่อนข้างจำกัด ลูกสุนัขแรกเกิดทำได้เพียงร้องเสียงดังอย่างต่อเนื่องและร้องไม่หยุดเท่านั้น
หากลูกสุนัขเริ่มร้องอย่างไม่มีสาเหตุ ให้ลองพิจารณาดูก่อนว่าลูกสุนัขได้รับอาหารเพียงพอหรือไม่ หนาวหรือไม่ ขับถ่ายหลังป้อนนมครั้งล่าสุดหรือยัง หากลูกสุนัขยังไม่ยอมหยุดร้องเสียทีหลังจากที่เราจัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้แล้ว การปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยหาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้
วิธีดูแลลูกสุนัขแรกเกิดในภาพรวม
สารอาหารหลักของสุนัขแรกเกิดก็คือ “นมน้ำเหลือง” หรือ Colostrum ที่ผลิตจากต่อมน้ำนมของแม่สุนัขในระยะเวลา 1-3 วันแรกหลังจากคลอด นอกจากสารอาหารที่ได้จากนมน้ำเหลืองแล้ว นมน้ำเหลืองยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญและเป็นแหล่งภูมิคุ้มกันหลักของลูกสุนัขแรกเกิดอีกด้วย ซึ่งสุนัขควรได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่สุนัขภายใน 1-3 วันแรกหลังจากลืมตาดูโลก
หากแม่สุนัขไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ ให้สอบถามผลิตภัณฑ์ทดแทนน้ำนมแม่จากโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน ผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ถูกออกแบบมาเพื่อสุนัขโดยเฉพาะ โดยจะมีสารอาหารที่ลูกสุนัขแรกเกิดต้องการและช่วยลดโอกาสการเกิดท้องเสียในกรณีที่สุนัขย่อยสารอาหารบางอย่างในน้ำนมไม่ได้
รู้หรือไม่
ในน้ำนมวัวมีน้ำตาลชื่อ”แลคโตส”
ซึ่งสุนัขส่วนใหญ่ย่อยน้ำตาลชนิดนี้ไม่ได้ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
อุจจาระในครั้งแรกของลูกสุนัขจะมีสีดำปนเขียว สิ่งนี้เรียกว่า มิวโคเมียม (mucomium) หลังจากนั้นสุนัขจะถ่ายอุจจาระออกมาคล้ายยาสีฟันที่มีสีเหลือง ถือเป็นเรื่องปกติ
วิธีป้อนนม
ควรใช้ขวดนมที่ออกแบบมาเพื่อลูกสุนัขแรกเกิดโดยเฉพาะ หรือใช้ไซริงค์ฉีดยาขนาด 1 มล., 3 มล. หรือ 5 มล. หากใช้ไซริงค์ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดตัวและปริมาณที่ต้องการป้อนในแต่ละครั้ง หากป้อนเยอะและเร็วเกินไปอาจทำให้ลูกสุนัขสำลักได้ คุณแม่มือใหม่ควรเลือกใช้ขวดนมสำหรับลูกสุนัขจะปลอดภัยกว่า
อุณหภูมิของนมที่ป้อนต้องอุ่นพอดี โดยอุณหภูมิของลูกสุนัขแรกเกิดในช่วงสัปดาห์แรกอยู่ระหว่าง 35° ถึง 37.2°C1 ซึ่งเท่า ๆ กับอุณหภูมิปกติของร่างกายมนุษย์ อุณหภูมิของนมที่ควรป้อนให้ลูกสุนัขก็ควรมีความอุ่นอยู่ในช่วงนี้
วิธีคำนวณปริมาณนม
สำหรับคุณแม่มือใหม่ ให้สังเกตบนผลิตภัณฑ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานมักจะมีรายละเอียดบอกเอาไว้เสมอว่าลูกสุนัขน้ำหนักเท่าไหร่ ควรให้นมชนิดนี้ปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน
สำหรับคุณแม่มือโปร มาคำนวณกันค่ะว่าแท้จริงแล้ว ลูกสุนัขของคุณผู้อ่านควรจะได้น้ำนมปริมาณเท่าไหร่กันแน่ในหนึ่งวัน
สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วมาเริ่มคำนวณด้วยการใช้คณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น ค่อย ๆ ไปทีละสเต็ปกันนะคะ
ข้อมูลที่ต้องมีอยู่ในมือ
1.น้ำหนักลูกสุนัขหน่วยเป็นกรัม
2.ปริมาณแคลลอรี่ต่อน้ำนม 1 มิลลิลิตร ซึ่งคำนวณได้จากตารางข้อมูลโภชนาการบนฉลากของผลิตภัณฑ์
ตัวอย่างการคำนวณปริมาณแคลลอรี่ต่อน้ำนม 1 มิลลิลิตร
จากตารางข้อมูลโภชนาการ น้ำนมแพะปริมาณ 200 มล. มีพลังงานทั้งหมด 130 กิโลแคลอรี่เพราะฉะนั้นน้ำนมแพะ 1 มล. จะมีพลังงานเท่ากับ 130/200 = 0.65 กิโลแคลลอรี่
3.พลังงานที่ลูกสุนัขแรกเกิดต้องการต่อวันคือ 20-25 กิโลแคลลอรี่ / น้ำหนักตัว 100 กรัม / วัน
วิธีคำนวณ
เมื่อได้ข้อมูลครบแล้วลองมาคำนวณกันค่ะ โดยสมมติน้องหมาชื่อน้องเปโระเพิ่งเกิดใหม่ ชั่งน้ำหนักได้ 150 กรัม และมีลักษณะแคระแกร็น
คำนวณปริมาณแคลลอรี่ที่เปโระต้องการต่อวันก่อนโดยใช้สูตรพลังงานที่ลูกสุนัขแรกเกิดต้องการต่อวันคือ 20-25 กิโลแคลลอรี่/น้ำหนักตัว 100 กรัม / วันและการเทียบบัญญัติไตรยางค์ ดังนี้
น้ำหนัก 100 กรัม ต้องการพลังงาน 20 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
ถ้าน้ำหนัก 150 กรัม ต้องการพลังงาน = (150×20)/100 = 30 กิโลแคลลอรี่ต่อวัน
จากการคำนวณในหัวข้อข้อมูลที่ต้องมีอยู่ในมือ น้ำนมแพะ 1 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 0.65 กิโลแคลอรี่ แต่เปโระต้องการพลังงานทั้งหมด 30 กิโลแคลอรี่ใน 1 วัน คำนวณหาปริมาณนมที่เปโระต้องการต่อวัน ดังนี้
พลังงาน 0.65 กิโลแคลอรี่ ในน้ำนมแพะ 1 มิลลิลิตร
ต้องการพลังงาน 30 กิโลแคลอรี่ ต้องใช้น้ำนมแพะ = 30/0.65 = 46.2 มิลลิลิตร
จำนวนครั้งในการป้อนนม
สุนัขแรกเกิดในช่วงสัปดาห์แรกต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยคุณแม่มือใหม่อาจต้องป้อนนมลูกสุนัขทุก 2-4 ชั่วโมง ลูกสุนัขบางตัวหิวบ่อย บางตัวหิวช้า ให้เจ้าของจัดตารางการป้อนนมแตกต่างกันในแต่ละตัว โดยสังเกตจากอาการของลูกสุนัข ลูกสุนัขมักร้องไม่หยุดเมื่อต้องการนม
จากการคำนวณในข้อที่แล้ว เปโระต้องการนมแพะ 46.2 มิลลิลิตร เจ้าของวางแผนดูแลน้องเปโระด้วยการป้อนนมทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละ 3.85 มิลลิลิตร จำนวนทั้งหมด 12 ครั้ง
รู้หรือไม่
ในวันแรกของลูกสุนัข
สัตวแพทย์แนะนำให้สุนัขได้รับสารอาหารเพียงครึ่งเดียวของปริมาณที่คำนวณได้ เพื่อให้เวลาแก่สุนัขในการปรับสภาพร่างกาย
หลังจากปรึกษากับสัตวแพทย์ได้รับคำแนะนำมาว่าในวันแรกควรทดลองให้นมแก่เปโระเพียงครึ่งเดียวก่อนคือ 23 มิลลิลิตร ครั้งละ 1.9 มิลลิลิตร จำนวน 12 ครั้ง ทุก 2 ชั่วโมง ในวันถัดไปหากเปโระมีอาการปกติดีจึงค่อยเพิ่มนมตามปริมาณที่เปโระควรจะได้รับต่อวั
วิธีกระตุ้นการขับถ่าย
ตามธรรมชาติแล้ว หากมีแม่สุนัขดูแล แม่สุนัขจะทำหน้าที่เลียลูกสุนัขทั้งตัว หากไม่มีแม่สุนัขคอยดูแล เราสามารถกระตุ้นการขับถ่ายของลูกสุนัขแรกเกิดได้ด้วยวิธีการนำสำลีชุบน้ำอุ่น เช็ดบริเวณใบหน้า ลำตัว หน้าท้อง และบริเวณอวัยวะเพศรวมถึงก้น เพื่อกระตุ้นกระขับถ่ายของลูกสุนัขทุกครั้งหลังอาหาร
วิธีจัดที่อยู่
เนื่องจากลูกสุนัขแรกเกิดไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ เพราะฉะนั้นควรจัดสรรพื้นที่ปิด ไม่มีลมโกรก ไม่มีช่องให้ลูกสุนัขตกหรือหลุดออกมาได้ สามารถเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกสุนัขด้วยการใช้หลอดไฟแบบมีไส้หรือหลอดไฟอินฟาเรดที่ให้ความร้อนได้ อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของสุนัขแรกเกิดในช่วงสัปดาห์แรกอยู่ระหว่าง 29.5 ถึง 32°C3 หากมีลูกสุนัขหลายตัวให้สังเกตการกระจายตัวของลูกสุนัขดังนี้
แนะนำ
ให้วางหลอดไฟแค่มุมใดมุมหนึ่งของพื้นที่เท่านั้น ในกรณีที่ร้อนเกินไปซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ลูกสุนัข ลูกสุนัขจะสามารถหลบหนีไปยังมุมอื่น ๆ ได้
ระวัง!!
ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกสุนัขแรกเกิดเพราะลูกสุนัขสูญเสียความร้อนได้ง่าย ให้ทำความสะอาดลูกสุนัขโดยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นไปก่อนจนกระทั่งลูกสุนัขอายุ 6 สัปดาห์
จดน้ำหนักของลูกสุนัขเพื่อเฝ้าดูการเจริญเติบโต
การจดบันทึกน้ำหนักของลูกสุนัขนอกจากจะมีประโยชน์ในแง่ของการคำนวณปริมาณน้ำนมที่ลูกสุนัขแรกเกิดควรได้รับต่อวันแล้วยังช่วยทำให้เราทราบพัฒนาการของลูกสุนัขว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรกควรชั่งน้ำหนักลูกสุนัขทุกวัน หากลูกสุนัขได้รับสารอาหารเพียงพอจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ลูกสุนัขนอนกระตุกเป็นอะไรไหม?
เป็นอาการปกติของสุนัขเวลานอนหลับในระยะ REM (Rapid eyes
movement) และสามารถพบได้ในสุนัขทุกช่วงวัย
Walk through: การดูแลตั้งแต่วันแรกจนถึงหย่านม
เชคลิสต์ก่อนเริ่มเลี้ยงลูกสุนัข
- จัดหานมและอุปกรณ์สำหรับลูกสุนัข จัดหาที่อยู่ให้ลูกสุนัข
- ตรวจสภาพร่างกายของแม่สุนัข(หากมี) อย่างน้อยเชคว่ามีน้ำนมหรือไม่
- ตรวจร่างกายลูกสุนัข
เริ่มเลี้ยงลูกสุนัขวันแรก
ในช่วง 14 วันแรก ลูกสุนัขจะมีวิถีชีวิตคือ นอนหลับ หิว ร้อง ขับถ่าย ให้ดูแลลูกสุนัขในช่วงนี้ด้วยการป้อนนมตามปริมาณที่ลูกสุนัขต้องการ กระตุ้นการขับถ่ายหลังกินนม ดูแลความสะอาด ควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ให้เหมาะสม (29.5 ถึง 32°C) และจดบันทึกน้ำหนักของลูกสุนัข
สัปดาห์ที่ 2
- ลูกสุนัขลืมตาได้แล้ว
- สามารถปรับความถี่ของการป้อนนมแก่ลูกสุนัขให้น้อยลงได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละตัว
- ปรับอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมให้เย็นขึ้นอยู่ที่ประมาณ 26.7 °C
- การดูแลอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายพยาธิ
สัปดาห์ที่ 3-4
- เริ่มผสมอาหารเม็ดลงไปในนมเพื่อให้ลูกสุนัขทำความคุ้นเคยกับอาหารเม็ด
- เริ่มวางน้ำให้ลูกสุนัขทานเองระหว่างวัน
สัปดาห์ที่ 7-9
- เริ่มการหย่านม
- หลังจากหย่านมควรพาสุนัขไปทำวัคซีน
อ่านคำถามพบบ่อยเมื่อพาลูกสุนัขไปฉีดวัคซีน
ส่งท้าย…
การดูแลลูกสุนัขแรกเกิดอาจจะดูยุ่งยากสำหรับคุณแม่มือใหม่และต้องใช้ความเอาใจใส่อย่างมาก ขอให้คุณแม่มือใหม่ทุกคนจดจำสิ่งสำคัญที่ลูกสุนัขแรกเกิดต้องการนั่นก็คือ สารอาหาร ความอบอุ่น กระตุ้นการขับถ่าย ความสะอาด และความปลอดภัย หากคุณผู้อ่านสามารถจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้ลูกสุนัขแรกเกิดได้ทั้งหมด กาโตโระมีความเชื่อว่าลูกสุนัขที่คุณผู้อ่านดูแลอยู่นั้นจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีการพัฒนาการสมวัยอย่างแน่นอน
อ้างอิง
- https://vcahospitals.com/know-your-pet/puppy-orphaned
- Villaverde, Cecilia. “Chapter 171 Neonatal and Pediatric Nutrition” Textbook of Veterinary Internal Medicine, Elsevier, 2017, pp. 1834–1837.
- https://www.royalcanin.com/th/dogs/puppy/your-dog-home-birthing-and-first-48-hour