การได้เริ่มเลี้ยงฟูมฟักลูกแมวสักตัวอาจทำให้เรารู้สึกมีความสุขมาก ๆ ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดไม่น้อยเลย หากลูกแมวแรกเกิดที่เราดูแลอยู่เกิดเจ็บป่วย ลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรง หรือแม้กระทั่งลูกแมวแรกเกิดเสียชีวิต บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอาการแมวเฉามือ และในฐานะผู้เลี้ยงดูแมวเราจะสังเกตอาการอย่างไรและจะจัดการอย่างไรได้บ้าง
แมวเฉามือคืออะไร?
ที่มาที่ไปของคำว่าแมวเฉามือนั้นไม่สามารถหาต้นตอได้จริง ๆ ว่ามาจากไหน แต่คุณผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินจากผู้ใหญ่หลายท่านกันมาบ้างว่า “อย่าไปจับลูกแมวมากนะลูก เดี๋ยวแมวเฉามือตาย” คุ้น ๆ กับประโยคประมาณนี้กันไหมคะ ไม่ว่าผู้ใหญ่เขาจะพูดด้วยความเป็นห่วงเรา กลัวว่าเราจะติดโรคจากแมว หรือพูดด้วยความเป็นห่วงแมวกลัวแมวตายจริง ๆ ก็ตาม คำว่าแมวเฉามือต่างก็ให้ความรู้สึกต่อผู้ฟังว่า อย่าจับลูกแมวมาก เดี๋ยวลูกแมวจะตาย
คำถามก็คือ แล้วลูกแมวสามารถเฉามือได้จริง ๆ เหรอ? การที่เราจับลูกแมวบ่อย ๆ เป็นสาเหตุทำให้ลูกแมวตายได้ใช่ไหม?
จากคำถามเหล่านี้ ทำให้ผู้เขียนพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างการที่ลูกแมวถูกจับบ่อย ๆ นำไปสู่การเสียชีวิตของลูกแมวหรือไม่ ซึ่งปรากฎว่ายังไม่เจอหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันทฤษฎีนี้ แต่จากการค้นคว้าข้อมูลกลับพบว่าลูกแมวแรกเกิดมีโอกาสเสียชีวิตสูงอยู่แล้วในเหตุการณ์การคลอด ช่วง 2 สัปดาห์แรกของชีวิต ไปจนถึงช่วงเวลาหย่านม1
ทำไมลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรง
แม่แมวหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ดูแลลูกแมวแรกเกิด จากแมวที่กินนม ร้องหาแม่ ขับถ่ายปกติอยู่ดี ๆ กลายเป็นลูกแมวซึม ไม่กินอาหาร นอนอย่างเดียว ไม่ดูดนม ไม่ร้อง เหมือนน้องไม่อยากมีชีวิตต่อแล้วซะอย่างงั้น ในทางสัตวแพทย์เรียกอาการแบบนี้ว่า “Fading Kitten Syndrome” โดยอาการลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรงมักจะพบในช่วงแรกเกิดจนกระทั่งลูกแมวหย่านม
สาเหตุที่ทำให้เกิด Fading Kitten Syndrome
- เหตุการณ์การคลอดที่ผิดปกติ เช่น การคลอดยาก
- แม่แมวไม่เลี้ยงลูก
- น้ำหนักลูกแมวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ (น้ำหนักลูกแมวแรกเกิดปกติคือ 80-140g)
- ความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิด
- ไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่
- สารอาหารไม่เหมาะสม
- สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่เหมาะ เช่น อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป อากาศไม่ถ่ายเท แออัด
- โรคติดเชื้อต่าง ๆ จากไวรัสและแบคทีเรีย
- Neonatal Isoerythrolysis หรือ เม็ดเลือดแดงแตกในลูกแมวแรกเกิด
ลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรงสังเกตอาการได้อย่างไร
วิถีชีวิตของลูกแมวแรกเกิดจะใช้ชีวิตในทุก ๆ วันเพื่อตื่นขึ้นมา ร้อง กินนม ขับถ่ายและนอนหลับ วนเวียนอยู่เช่นนี้ นอกจากการสังเกตกิจวัตรประจำวันของลูกแมวแรกเกิดที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณเริ่มแรกของลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรงก็คือการเจริญเติบโตช้ากว่าลูกแมวปกติ
เพราะฉะนั้นคุณแม่แมวมือใหม่ต้องรู้ว่าลูกแมวแรกเกิดนั้นมีพัฒนาการปกติเป็นอย่างไรและเกิดขึ้นเมื่อไหร่
พัฒนาการที่สำคัญของลูกแมวแรกเกิด
Milestone (เหตุการณ์สำคัญ) ที่สำคัญของลูกแมวคือที่อายุ 3 วันสามารถพลิกตัวกลับได้เอง และที่ 14 วัน เริ่มเดิน คือหมุดหมายที่สำคัญ หากลูกแมวแรกเกิดไม่สามารถทำได้ตามเวลาที่ควรจะเป็น ให้เฝ้าระวังไว้เพราะมีโอกาสสูงมากที่ลูกแมวจะมีภาวะของ Fading kitten syndrome2
ลูกแมวไม่มีแรง: อาการอื่น ๆ ที่ควรเฝ้าระวัง
- ร้องตลอดเวลา เป็นการร้องที่สื่อถึงความเครียด ร้องแม้ว่าจะให้นมอิ่มแล้ว
- เริ่มเฉื่อยชาลงเรื่อย ๆ
- แมวไม่กินอาหาร
- ไม่ดูดนม
- อ่อนแรง
- น้ำหนักไม่เพิ่ม
- หายใจลำบาก
- อาเจียน
- ถ่ายเหลว
- มีน้ำมูก แมวตาแฉะ
หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปปรึกษาสัตวแพทย์ด่วน เนื่องจากการขาดน้ำและอาหารของลูกแมวอาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนถึงการช็อคและเสียชีวิตได้
ต้องทำอย่างไรหากพบลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรง
Fading Kitten Syndrome สามารถรักษาให้หายได้หากรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในลูกแมวตัวนั้นและพาไปรักษาได้ทันเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในลูกแมวเลี้ยงปล่อยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 75%1 เลยทีเดียว ในลูกแมวที่มีการจัดการสภาพแวดล้อมดี พ่อแม่พันธุ์ถูกคัดมาอย่างดี อัตราการเสียชีวิตจะต่ำกว่า 5%1
ในฐานะเจ้าของแมวสิ่งที่อาจจะช่วยชีวิตลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรงได้ก็คือ การสังเกตอาการผิดปกติของลูกแมวอย่างรวดเร็ว และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูกแมว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความสะอาด อุณหภูมิ อากาศถ่ายเท และที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือ สารอาหารลูกแมวแรกเกิดที่เหมาะสม บางครั้งนมจากแม่แมวอาจไม่เพียงพอ หรือไม่มีน้ำนมเลย ต้องสังเกตในส่วนนี้ด้วย
“หากพบอาการผิดปกติควรรีบพาไปหาสัตวแพทย์ทันที”
ส่งท้าย
ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งหย่านม เป็นช่วงเวลาวิกฤติของลูกแมวแรกเกิด การสังเกตอาการลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรงได้อย่างรวดเร็วและพาไปหาสัตวแพทย์ อาจเพิ่มโอกาสให้ลูกแมวตัวนั้นมีชีวิตรอดได้ จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุมากมายที่อาจทำให้ลูกแมวเสียชีวิตได้นอกจากการจับลูกแมวจนลูกแมวเฉามือ เพราะฉะนั้นการดูแลลูกแมวด้วยความรัก ความห่วงใย ใส่ใจสังเกตอาการเป็นสิ่งที่แม่แมวทุกคนควรทำได้อย่างสบายใจ
หากใครเคยมีประสบการณ์ดูแลลูกแมวแรกเกิดไม่มีแรง สามารถแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อน ๆ นักอ่านคนอื่นได้รู้ในกล่องความคิดเห็นด้านล่างนี้เลยค่ะ
อ้างอิง
- Little, S. E. (2012). The cat: Clinical medicine and management. St. Louis: Elsevier Saunders.
- https://www.petmd.com/cat/conditions/fading-kitten-syndrome-symptoms-and-treatment-options