แมวเหมียวสัตว์เลี้ยงยอดฮิตของคนในยุคปัจจุบัน ด้วยขนาดตัวที่ไม่ใหญ่มากจึงเหมาะสำหรับการเลี้ยงให้เป็นเพื่อนในพื้นที่จำกัด นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร และน้ำที่เราจะต้องจัดหาให้แมวแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ไม่แพ้กันก็คือการป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนแมว
การฉีดวัคซีนแมวถือเป็นพื้นฐานของเจ้าของแมวที่ควรทำให้แมวอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนรู้ว่าหากจะรับเลี้ยงแมวสักตัว สิ่งที่ต้องที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ การพาแมวไปตรวจร่างกายและฉีดวัคซีน
ว่าแต่ที่เขาพูดกันว่าฉีดวัคซีนแมว มันมีอะไรบ้างล่ะ? โอ๊ย แมวเลี้ยงปล่อยไม่ต้องฉีดก็ได้มั้ง แพง! ไม่สะดวกวันที่หมอนัด พาไปฉีดวันอื่นได้ไหม ฯลฯ หลากหลายคำถามที่เราได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้วที่นี่ที่เดียว
ไฮไลท์สำคัญ
- การฉีดวัคซีนแมวควรออกแบบให้เหมาะสมตามไลฟ์สไตล์ของแมวเป็นรายตัวไป
- ตารางวัคซีนแมวของแต่ละโรงพยาบาลจะมีความหลากหลายในเรื่องของความถี่ในการนัดหมายและจำนวนเข็มในการกระตุ้นวัคซีนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งอ้างอิงที่โรงพยาบาลนั้น ๆ เลือกใช้
- แมวทุกตัวควรได้รับวัคซีนหลัก (วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดหวัดแมว และพิษสุนัขบ้า)
- ผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนที่ร้ายแรงที่สุดคือการเกิดมะเร็ง (FISS) เวลาพาแมวไปฉีดวัคซีน สัตวแพทย์อาจเลือกฉีดวัคซีนแมวในตำแหน่งที่จำเพาะเจาะจง เช่น ขาหลังของแมวและหาง เนื่องจากหากแมวตัวนั้นโชคร้ายจะได้ทำการรักษาได้ง่ายกว่าการเกิดมะเร็งที่ตำแหน่งอื่น ๆ
ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน
วัคซีนแมวเข็มแรกเริ่มที่อายุเท่าไหร่?
คำถามนี้ก่อนจะตอบต้องดูอายุแมวก่อน เพราะฉะนั้นจึงขอแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีลูกแมว
ลูกแมวที่เลี้ยงเองตั้งแต่แรกเกิด สามารถให้วัคซีนครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ขึ้นกับความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมที่แมวอยู่และวิจารณญาณของสัตวแพทย์ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าสถานพยาบาลสัตว์โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นโปรแกรมวัคซีนแมวที่อายุ 8 สัปดาห์ (2 เดือน)
กรณีรับลูกแมวมาเลี้ยง ก่อนพาไปทำวัคซีนต้องกักโรคดูอาการอย่างน้อย 7-14 วัน ถ้าร่าเริงแข็งแรงดีจึงพาไปทำวัคซีน ระยะเวลาในการกักโรคที่คุณหมอแต่ละคนแนะนำจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่สัตวแพทย์กังวลว่าน้องแมวจะเป็นและความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมของน้องแมวต่อโรคต่าง ๆ ระยะเวลากักโรคที่พวกเราแนะนำจึงเป็นช่วง 7-14 วัน
ในกรณีที่เจ้าของต้องการทำวัคซีนให้น้องไว ๆ สามารถปรึกษาสัตวแพทย์ให้ออกแบบโปรแกรมที่เหมาะสมแก่น้องแมวแต่ละตัวได้เลยค่ะ แต่อย่างไรก็ตามระยะเวลาขั้นต่ำในการกักโรคจะยืนพื้นอยู่ที่ 7 วัน เพื่อความปลอดภัยแก่ตัวของสัตว์เลี้ยงเอง
รู้หรือไม่
การฉีดวัคซีนก็เหมือนกับการฉีดเชื้อโรคที่อ่อนแรงแล้วเข้าสู่ร่างกาย หากแมวสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคแอบแฝงอยู่
การฉีดวัคซีนจะส่งผลเสียต่อแมวมากกว่าผลดี
ตัวอย่างตารางฉีดวัคซีนแมวของโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง
กรณีแมวโต
กรณีรับแมวโตมาเลี้ยงและไม่ทราบประวัติที่แน่นอน ให้กักโรคเช่นเดียวกันกับแมวเด็กที่ 7-14 วัน ถ้าน้องสุขภาพแข็งแรงดีให้พาแมวไปหาคุณหมอได้เลย ถ้าคุณหมอตรวจร่างกายหรือบางครั้งอาจจะของตรวจเลือดเพิ่มแล้วผลออกมาปกติดี คุณหมอก็จะทำการฉีดวัคซีนให้แมว
กรณีแมวโตที่ตอนเด็ก ๆ ได้รับวัคซีนครบแต่ไม่ได้มากระตุ้นซ้ำตามที่คุณหมอนัด ถ้าเราเป็นคนเลี้ยงดูแมวตัวนี้และมีปฏิสัมพันธ์กับน้องแมวเป็นประจำทุกวันและน้องสุขภาพแข็งแรงดีก็สามารถพาไปฉีดวัคซีนกับคุณหมอได้เลย แต่อาจจะต้องเริ่มโปรแกรมวัคซีนใหม่
ตัวอย่างตารางฉีดวัคซีนแมวโตของโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง
แมวท้องฉีดวัคซีนได้ไหม?
ไม่แนะนำนอกจากจะมีความจำเป็นจริง ๆ ความจำเป็นที่ว่าก็คือการเลี้ยงในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคหรือแมวที่อยู่รวมกันจำนวนมากมีโอกาสได้รับเชื้อไข้หัดสูง มีวัคซีนบางชนิดสามารถให้แก่แมวท้องได้ คือ วัคซีนไข้หัดแมวชนิดเชื้อตาย แต่ในความเป็นจริงแล้วเวลาพาแมวโตไปหาหมอมักจะได้รับวัคซีนมากกว่า 1 เข็มเสมอ
เหตุการณ์น่าเศร้าที่มักเจอเป็นประจำในการทำงานก็คือ แมวถูกเลี้ยงแบบปล่อย เจ้าของไม่ทราบว่าแมวท้องและพาน้องแมวมาทำวัคซีนตามที่คุณหมอนัด คุณหมอก็ไม่รู้ว่าแมวท้องเพราะอายุครรภ์ยังน้อย เมื่อฉีดวัคซีนให้แมวท้องแมวจะได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนบางชนิดที่ใช้ในคลินิกอาจเป็นวัคซีนเชื้อเป็นซึ่งสามารถส่งผลให้แมวแท้งได้
เพราะฉะนั้นหากเลี้ยงแมวแบบปล่อยและแมวยังไม่ได้ทำหมันควรแจ้งแก่สัตวแพทย์ทุกครั้ง ใครที่อยากให้แมวเป็นแม่พันธุ์ควรฉีดวัคซีนและกระตุ้นให้ครบก่อนการตั้งครรภ์โดยวางแผนโปรแกรมวัคซีนร่วมกับคุณหมอ เพื่อที่แม่แมวจะได้สร้างภูมิคุ้มกันและถ่ายทอดภูมิคุ้มกันผ่านไปยังนมน้ำเหลืองให้แก่ลูกได้
รู้หรือไม่
วัคซีนเชื้อเป็นคือวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคแต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ วัคซีนเชื้อตายคือวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัว (whole cell) หรือบางส่วนของเชื้อที่ตายแล้ว โดยสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโปรแกรมวัคซีนในแมว (WSAVA) แนะนำใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น
เนื่องจากสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดจดจำได้ดีและเป็นระยะเวลานาน1
วัคซีนแมวมีอะไรบ้าง
วัคซีนที่ถูกผลิตออกมาเพื่อป้องกันโรคในแมว ณ ขณะนี้ปี 2020 มีอยู่ทั้งหมด 9 โรคด้วยกัน โดยสามารถจัดกลุ่มวัคซีนแมวเป็นกลุ่มได้ดังนี้
วัคซีนหลัก (Core Vaccine)
คือวัคซีนที่แมวทุกตัวต้องได้ฉีด!! เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและโรคเหล่านี้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้แก่
- วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (rabies)
- วัคซีนเชื้อไวรัสไข้หัดแมว (Feline Parvovirus: FPV)
- วัคซีนเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus: FHV-1)
- วัคซีนเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus: FCV)
ทั่วโลกมีคนติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากกว่า 70,000 คนต่อปี นั่นเท่ากับว่าทุก ๆ 10 นาที จะมีคนติดโรคนี้ 1 คน2 ส่วนใหญ่แล้วจะระบาดในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยังไงก็ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า อ่านเกี่ยวกับความร้ายกาจของโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มเติมได้ที่ โรคพิษสุนัขบ้าฉบับเข้าใจง่าย
ส่วนโรคไวรัสไข้หัดแมว เชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสและแคลิซิไวรัสแมว โรคเหล่านี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงแก่แมวอย่างมากโดยเฉพาะโรคไข้หัดแมว มักพบในแมวเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
วัคซีนทางเลือก (Non-core Vaccine)
จะฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อและสภาพแวดล้อมที่แมวอยู่ วัคซีนในกลุ่มนี้ได้แก่
- วัคซีนลิวคีเมียไวรัส (Feline Leukemia virus: FeLV)
- วัคซีนไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline Immunodeficiency) Virus: FIV
- Chlamydia felis
- Bordetella bronchiseptica
วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียไวรัสในบางหน่วยงานได้จัดให้อยู่ในกลุ่มวัคซีนหลัก ทั้งนี้หากพื้นที่ที่แมวอยู่มีการระบาดของโรคอยู่มาก แนะนำให้สอบถามคุณหมอถึงความจำเป็นต่อการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้เลยค่ะ
โรคลิวคีเมียและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว เป็นไวรัสในกลุ่ม Retroviruses โดยโรคไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถติดต่อผ่านทางแผลที่ถูกแมวที่มีเชื้อกัด และแมวที่เป็นโรคลิวคีเมียมักจะติดโรคผ่านทางน้ำลาย (แผลถูกกัด การทำความสะอาดตัวให้แก่กันและกัน การใช้ชามน้ำชามอาหารร่วมกัน) ปัสสาวะ (ผสมพันธุ์) เลือด และน้ำนมจากแมวที่มีเชื้อตัวนี้อยู่ นั่นหมายความว่าแมวที่มีความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้คือแมวที่ถูกเลี้ยงปล่อยนอกบ้านและกลุ่มแมวที่มีแมวเป็นโรคลิวคีเมียเป็นสมาชิกอยู่นั่นเอง
ก่อนจะฉีดวัคซีนโรคลิวคีเมียและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมวครั้งแรก ควรมีการตรวจเลือดยืนยันว่าแมวปลอดจากโรคเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงการให้วัคซีนโดยไม่จำเป็น
Chlamydia felis จัดอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรียแกรมลบ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการที่พบได้บ่อยในโรคติดเชื้อคลามัยเดียในแมว ได้แก่ เยื่อบุตาอักเสบ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล และหายใจลำบาก จะพิจารณาการใช้วัคซีนป้องกัน Chlamydia felis เมื่อแมวเลี้ยงรวมกันหลายตัวในสภาพแวดล้อมที่มีการยืนยันว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของอาการทางคลินิก
Bordetella bronchiseptica เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อผ่านทางน้ำลายและน้ำมูก ทำให้แมวมีอาการไอ จาม และมีไข้อ่อน ๆ การให้วัคซีนจะพิจารณาจากแมวที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น แมวที่อยู่รวมกันเป็นจํานวนมาก
วัคซีนที่ไม่แนะนำให้ฉีด (Non-recommended Vaccine)
วัคซีนในกลุ่มนี้มีเพียง 1 ชนิดเท่านั้นคือ วัคซีนโรคช่องท้องอักเสบ (FIP: Feline infectious peritonitis)
ที่ไม่แนะนำให้รับวัคซีนเนื่องจาก ข้อมูลไม่เพียงพอ มีรายงานว่าแมวที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโคโรนาไวรัสมาก่อนอาจมีการสร้างภูมิคุ้มโรคได้บ้างภายหลังได้รับวัคซีน แต่ในความเป็นจริงมีโอกาสน้อยมากที่จะพบแมวที่มีอายุมากกว่า 4 เดือนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโคโรนาไวรัส3
รู้หรือไม่ วัคซีนเชื้อไวรัสไข้หัดแมว (Feline Parvovirus: FPV) วัคซีนเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus: FHV-1) และวัคซีนเชื้อแคลิซิไวรัสแมว (Feline Calicivirus: FCV) บริษัทวัคซีนจะรวมให้อยู่ในเข็มเดียวกัน มักถูกเรียกว่า วัคซีนรวมแมว หรือวัคซีนไข้หัดหวัดแมว
เลือกโปรแกรมวัคซีนที่เหมาะสมกับแมวของเราอย่างไร?
กาโตโระแนะนำโปรแกรมวัคซีนดังนี้
ราคาที่ทางเราค้นหามาเป็นเพียงราคาเริ่มต้นเท่านั้น มีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้เจ้าของสัตว์สามารถประเมินว่าโปรแกรมไหนที่เหมาะสมกับคุณ และหวังผลเพื่อให้เจ้าของสัตว์ได้เตรียมพร้อมก่อนการนำแมวไปฉีดวัคซีน ซึ่งราคาที่แท้จริงของแต่ละโรงพยาบาลอาจแตกต่างกันไป โปรดสอบถามโดยตรงกับโรงพยาบาลสัตว์ที่ต้องการพาแมวไปฉีดวัคซีน
หลังจากเลือกโปรแกรมวัคซีนได้แล้ว แมวสุขภาพดีก็สามารถพาน้องแมวไปรับวัคซีนได้เลย โปรแกรมวัคซีนของแต่ละโรงพยาบาลสัตว์และระยะห่างของการกระตุ้นวัคซีนซ้ำก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนมากแล้วโปรแกรมวัคซีนแมวจะเริ่มที่อายุ 8 สัปดาห์ และนัดกระตุ้นซ้ำห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จนอายุไม่ต่ำกว่า 16 สัปดาห์
ฉีดวัคซีนแมวก่อนกำหนด
ไม่สะดวกวันที่คุณหมอนัด ไปฉีดวัคซีนแมวก่อนกำหนดได้กี่วัน?
ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังฉีดวัคซีนโปรแกรมไหนอยู่ ไม่สามารถใช้คำตอบเดียวมาตอบคำถามนี้ได้ในแมวทุกตัว ถึงระยะเวลาในการนัดกระตุ้นระหว่างเข็มจะเป็นช่วง 2-4 สัปดาห์ก็จริง แต่คนในอินเตอร์เน็ตคงไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าหมอจะนัดห่างจากเข็มที่แล้วกี่วัน เพราะฉะนั้นสัตวแพทย์ที่ดูแลแมวของเราจะสามารถให้คำตอบได้ดีที่สุด
แมวหลุดออกไปนอกบ้าน
ในกรณีที่แมวหลุดออกไปนอกบ้านและมีหลักฐานว่าไปสัมผัสกับแมวตัวอื่นมาแน่ ๆ เช่น มีแผลโดนกัด อย่าลืมสอบถามสัตวแพทย์ถึงความจำเป็นในการกระตุ้นวัคซีนก่อนกำหนดด้วย
เตรียมตัวไปหาคุณหมอครั้งแรก
การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการไปหาคุณหมอครั้งแรก เป็นเรื่องที่เจ้าของแมวทุกคนควรใส่ใจ ความประทับใจแรกพบนี่แหละที่จะกำหนดชะตาชีวิตของแมวและทาสแมวตลอดไป หากแมวชอบหมอชอบโรงพยาบาลก็มีโอกาสที่ครั้งต่อ ๆ ไปที่พวกเขาไปหาหมอจะง่ายขึ้น หากแมวตื่นตกใจและหวาดกลัวในการหาหมอครั้งแรกแล้วล่ะก็ ชีวิตทาสแมวต่อจากนี้มีแววลำบากพอตัวเลยล่ะ
ทริคน่ารู้ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน
อาบน้ำก่อนพาไปฉีดวัคซีน หากแมวของเราคุ้นเคยกับการอาบน้ำและไม่หงุดหงิดอารมณ์เสียให้จัดการอาบน้ำให้แมวให้เรียบร้อย เนื่องจาก หลังฉีดวัคซีนคุณหมอไม่แนะนำให้อาบน้ำ และคุณหมออาจจะจ่ายยาหยอดหลังป้องกันหมัด-ไรในหูให้น้องแมว ซึ่งยาบางชนิดไม่แนะนำให้อาบน้ำหลังจากหยอดยา
เลือกใช้กรงที่เหมาะสม เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ แมวเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นมาก อาจเกิดความตื่นตกใจหากต้องไปประจัญหน้ากับสัตว์ชนิดอื่น เพราะฉะนั้นพาน้องแมวออกจากบ้านทุกครั้ง หากรงหรือกระเป๋าใส่ให้น้องเถอะ นอกจากแมวจะรู้สึกปลอดภัยแล้วยังป้องกันอันตรายจากสัตว์ตัวอื่นได้อีกด้วย
แมวเครียด ล่อลวงแทบตายก็ยังเครียดอยู่ ลองใช้แคทนิปแมว ยัดใส่ของเล่นที่น้องชอบแล้วพามาด้วยเลย ก็เป็นอีกทางเลือกนึงในการทำให้น้องสบายใจขึ้น แนะนำว่าใช้ก่อนที่จะพาน้องมาถึงโรงพยาบาลสัตว์ เพราะหากน้องแมวมาถึงหมอและเกิดความเครียดไปแล้ว แคทนิปก็เอาไม่อยู่
ฉีดวัคซีนเสร็จแล้วต้องดูอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน
เช่นเดียวกันกับการฉีดวัคซีนในสุนัข แมวสามารถพบผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ตั้งแต่
- พบอาการ บวม ร้อน แดง เจ็บปวดและขนร่วงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- ซึม อ่อนแรง มีไข้ จากการศึกษาเมื่อปี 2005 ของ Moore4 พบว่าอาการนี้พบได้บ่อยที่สุดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนทั้งหมด
- อาการแพ้วัคซีนแบบรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในแมว แต่ถ้าหากกรณีนี้เกิดขึ้นแมวจะมีอาการ หน้าบวม อาเจียน ท้องเสีย น้ำลายไหลมาก หายใจลำบาก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการแพ้วัคซีนรุนแรงจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 20-30 นาทีหลังจากได้รับวัคซีน
- FISS
นับว่าเป็นความโชคร้ายที่เกิดขึ้นกับแมวเพียงบางตัวเท่านั้น หลังจากถูกฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนลิวคีเมีย วัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือยาบางชนิด แมวบางตัวอาจพัฒนาก้อนมะเร็งหลังจากได้รับยาฉีด มะเร็งชนิดนี้มีชื่อว่า FISS (feline injection-site sarcomas)
กลไกการเกิดมะเร็งชนิดนี้นักวิจัยยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ คาดว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับยาและวัคซีนบางชนิด โดยมะเร็งชนิดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 1,000 จนถึง 1 ใน 10,0005
มะเร็งชนิดนี้มีความรุนแรงสูง ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่แมว เกิดการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด เกิดเนื้อตาย รักษาได้ยากและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหลังจากได้รับการรักษา
ในทางสัตวแพทย์จึงมีการกำหนดบริเวณที่จะทำการฉีดวัคซีนให้แมว เพื่อหลีกเลี่ยงผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน องค์กรที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนรณรงค์ให้สัตวแพทย์ฉีดวัคซีนให้แก่แมวในตำแหน่งที่จำเพาะ เช่น ขาหลังของแมว หรือ หางเนื่องจากหากแมวตัวนั้นพัฒนาก้อนมะเร็งขึ้นมาจะได้ทำการรักษาได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ
คำแนะนำหลังจากฉีดวัคซีน
ภายใน 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน
ครั้งแรกของการฉีดวัคซีนให้รอดูอาการแมวอย่างน้อย 20-30 นาที เพราะแมวอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้แบบรุนแรงได้ ถึงโอกาสจะน้อยมากก็ตาม
ภายใน 7 วัน
หลังฉีดวัคซีนให้หลีกเลี่ยงการอาบน้ำแมวอย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะของแมวกำลังทำงานแมวบางตัวอาจมีไข้อ่อน ๆ ได้ แต่ไม่ใช่ทุกตัว
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องอาบน้ำแมวจริง ๆ เช่น แมวหลุดออกไปเปื้อนโคลน ติดกาวดักหนูหรือตัวแมวถูกปกคลุมไปด้วยสารเคมี/สารพิษ สามารถอาบน้ำแมวได้และรีบเป่าไดร์ให้แห้ง
หลังจาก 1 เดือนเป็นต้นไป
ลูบคลำและสังเกตบนตัวแมวว่ามีก้อนเกิดขึ้นบนชั้นใต้ผิวหนังของแมวหรือไม่ (ลูบไปแล้วผิวแมวไม่เรียบ เหมือนมีก้อนอยู่ข้างใน) โดยใช้กฎ 3-2-1 คือ พบก้อนเกิดขึ้นมาแล้วนานเกินกว่า 3 เดือน ก้อนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร หรือก้อนนี้ขยายขนาดใหญ่ขึ้นภายใน 1 เดือนหลังจากได้รับวัคซีน
ฉีดวัคซีนแล้วทำไมยังป่วยได้อีก
มีหลายปัจจัยที่ทำให้การฉีดวัคซีนไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แมวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพวัคซีนที่ถูกเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม บางครั้งเกิดเหตุสุดวิสัยไฟตกไฟดับทำให้ตู้เย็นรักษาอุณหภูมิไม่ได้ วัคซีนก็เสื่อมสภาพได้เช่นกัน
เรื่องของตัวสัตว์เอง แมวเป็นสัตว์ที่เก่งในเรื่องของการอมโรค น้องป่วยแต่ไม่แสดงออกมา พอพาไปฉีดวัคซีน การกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็ไม่ดีเท่ากับตัวที่แข็งแรงอยู่แล้ว บางตัวเลี้ยงแบบปล่อยก็เป็นการเพิ่มโอกาสการสัมผัสเชื้อโรคแก่น้องแมว ซึ่งสายพันธุ์ของเชื้อที่แมวได้รับอาจจะไม่ได้มีอยู่ในวัคซีน
วิธีการฉีดวัคซีน ได้ฉีดวัคซีนโดยสัตวแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์หรือไม่? ถ้าพาแมวไปฉีดวัคซีนโดยสัตวแพทย์ที่มีใบรับรองจากสัตวแพทยสภาก็สามารถสบายใจได้ระดับหนึ่งว่าน้องแมวน่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
เทรนด์การฉีดวัคซีนแมวในอนาคต
เทรนด์ต่างประเทศ นิยมเลี้ยงแมวแบบระบบปิด เน้นการฉีดวัคซีนแมวให้ครอบคลุมทุกตัวเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ มากกว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในแมวเพียงตัวเดียวหลาย ๆ ครั้ง และพวกเขาพยายามที่จะลดความถี่ของการให้วัคซีนแมวเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับแมว และไม่ใช่ทุกตัวต้องฉีดทุกอย่าง
- ไม่เน้นการฉีดวัคซีนประจำปี เปลี่ยนเป็น การตรวจร่างกายประจำปี เน้นการตรวจสุขภาพแบบองค์รวม เพิ่มการตรวจระดับภูมิคุ้มกันของโรคที่เคยฉีดวัคซีนเข้าไป หากยังมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ อยู่ ก็เว้นระยะการฉีดวัคซีนไปอีก
- ในกลุ่มแมวสุขภาพดี วัคซีนชนิดหลัก (Core-vaccine) เลือกให้วัคซีนเชื้อเป็นมากกว่าวัคซีนเชื้อตาย เนื่องจากสามารถสร้างภูมิคุ้มกันชนิดจดจำได้เป็นระยะเวลานานกว่า ในวัคซีนไข้หัดแมวเว้นความถี่ของวัคซีนประจำปีเป็นฉีดทุก 3 ปี หรือ หากยังมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอยู่ก็จะเว้นระยะห่างไปอีก
- การกระตุ้นวัคซีนหลัก ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่บางครั้งอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 20 สัปดาห์) วัคซีนเข็มสุดท้ายของการกระตุ้นปีแรกควรมีการกระตุ้นวัคซีนซ้ำที่อายุ 6 เดือน หรือเมื่อแมวอายุ 12 เดือน เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดเข้าไปเมื่อลูกแมวมีภูมิคุ้มกันจากแม่อาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะมีภูมิคุ้มกันของแม่ป้องกันโรคอยู่
- ไม่ฉีดวัคซีนบริเวณหนังคอ (Scruff) เปลี่ยนตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนไปเรื่อย ๆ โดยจดบันทึกตำแหน่งและชนิดของวัคซีนที่ฉีดในแต่ละครั้ง เว้นระยะเวลาในการกระตุ้นวัคซีน
เทรนด์ประเทศไทย สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ VPAT ยังคงแนะนำให้มีการกระตุ้นวัคซีนทุกปีอยู่ ทางสมาคมขอรวบรวมข้อมูลในประเทศไทยให้มากขึ้นก่อนจะประกาศใช้แนวทางอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนั้นแนวทางอื่น ๆ เรื่องวิธีการฉีด ตำแหน่งที่ฉีดและการกระตุ้นวัคซีนก็เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับของต่างประเทศ
ส่งท้าย
ผู้เขียนหวังว่าเจ้าของแมวคงจะเลือกโปรแกรมวัคซีนแมวที่เหมาะสมให้กับน้องแมวได้ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลสัตว์มีโปรแกรมวัคซีนและวันนัดกระตุ้นซ้ำ รวมถึงราคาที่แตกต่างกันไป ในส่วนนี้คงต้องยกให้เป็นหน้าที่ของคุณผู้อ่านในการตัดสินใจไปใช้บริการ
สิ่งหนึ่งที่อยากให้เจ้าของแมวทำความเข้าใจคือเรื่องของผลอันไม่พึงประสงค์ในการฉีดวัคซีนในแมว แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ในฐานะเจ้าของสัตว์ควรที่จะมีความรู้ในเรื่องนี้เพื่อที่จะได้สังเกตอาการของแมวเราได้อย่างทันท่วงที
ใครอยากแชร์ประสบการณ์พาน้องแมวไปฉีดวัคซีน หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนในแมว สามารถพูดคุยกับพวกเราได้ในคอมเม้นต์ด้านล่างนี้เลยค่ะ
อ้างอิง
1.https://wsava.org/wp-content/uploads/2020/01/WSAVA-vaccination-guidelines-2010-Thai.pdf
2.https://www.oie.int/animal-health-in-the-world/rabies-portal/
3.https://www.vpatthailand.org/