6 อาการแมวแพ้วัคซีน เช็คด่วนก่อนรักษาไม่ทัน

ปัจจุบันการฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและบรรเทาความเจ็บป่วยจากโรคร้ายในสัตว์เลี้ยง ซึ่งเจ้าของแมวเกือบทุกคนคงต้องเคยมีประสบการณ์พาสัตว์เลี้ยงของท่านไปฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน และบางคนอาจจะกังวลเมื่อเห็นว่าแมวมีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิมหลังฉีดวัคซีน แบบนี้แสดงว่าแมวแพ้วัคซีนแล้วรึเปล่านะ ตามไปหาคำตอบเรื่องนี้กันได้เลย

วัคซีนแมวมีโอกาสทำให้แมวแพ้วัคซีนได้

แมวแพ้วัคซีนคืออะไร

แมวแพ้วัคซีนคือการที่เมื่อฉีดวัคซีนให้แมวแล้ว ตัวแมวเกิดปฏิกิริยาต่อต้านส่วนประกอบในวัคซีน ซึ่งอาจมีการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนตั้งแต่ 1 อย่างหรือมากกว่าก็ได้

โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เรามุ่งหวังจากการฉีดวัคซีนแมวคือการป้องกันเชื้อโรคและการเกิดโรคโดยการที่เราใช้เชื้อโรคหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อโรคมากระตุ้นให้มีการสร้างสารภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต่อสู้กับเชื้อโรคที่อาจจะเจอในอนาคต แต่ในบางครั้งที่มีการฉีดวัคซีน ร่างกายแมวเองก็อาจจะมีปฏิกิริยาต่อต้านส่วนประกอบที่อยู่ในวัคซีนได้ ทำให้มีอาการแพ้วัคซีนตามมา

สาเหตุที่อาจโน้มนำให้เกิดการแพ้วัคซีนในแมว

  • วัคซีนทำจากไวรัสเชื้อเป็น
  • มีการเพิ่มส่วนประกอบทางเคมีเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • แมวสายพันธุ์แท้มักมีประวัติการแพ้วัคซีนมากกว่า
  • มีการฉีดวัคซีนหลายเข็มในครั้งเดียว
  • เป็นแมวที่มีความไวต่อส่วนประกอบของวัคซีนอยู่แล้ว

6 อาการแมวแพ้วัคซีน มีอาการแบบไหนบ้าง

การแพ้วัคซีนในแมวจะเป็นแบบการแพ้แบบรุนแรงหรืออนาฟัยแลกซิส (Anaphylaxis) โดยมีอัตราการเกิดที่น้อยมากประมาณ 1 – 5 ครั้ง ใน 10,000 ครั้งที่มีการฉีดวัคซีน คิดเป็นประมาณ 0.05 % เท่านั้น โดยอาการที่พบส่วนมากที่เจ้าของจะต้องสังเกตหลังจากฉีดวัคซีนไป 30 นาที ถึง 2 – 3 ชั่วโมง คือ

1. อาเจียน

แมวที่มีอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนบางครั้งแสดงอาการอาเจียน โดยที่จะสังเกตว่ามีการอาเจียนหลายครั้งติดต่อกันหลังฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะอาเจียนเป็นน้ำลาย น้ำย่อยหรืออาหารก็ตาม ให้รีบพากลับไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน

2. ถ่ายเหลว

อาการถ่ายเหลวส่วนมากมักจะแสดงอาการพร้อม ๆ กับอาการอาเจียน โดยจะพบว่ามีการถ่ายเหลวหลายครั้ง อาจจะถ่ายเป็นสีปกติ ถ่ายเหลวปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำได้

3. หายใจลำบาก

แมวแพ้วัคซีนหายใจลำบาก
แมวอ้าปากหายใจมีลิ้นยื่นออกมาเป็นข้อสังเกตว่าแมวอาจจะหายใจลำบาก

แมวที่มีอาการหายใจลำบากจะสังเกตได้จากการที่แมวหายใจเร็วขึ้น แรงขึ้น บางครั้งหอบลิ้นยื่นออกมาให้เห็น แมวที่หายใจลำบากมากจะไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ทำท่านั่งยืดคอแหงนขึ้นหายใจ ปากและลิ้น เปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์อย่างเร่งด่วน

4. คันบริเวณหน้าและลำตัว

อาการคันของแมวสังเกตได้ไม่ยาก หากพบว่าแมวเอาใบหน้าหรือลำตัวถูกับสิ่งของอย่างเอาจริงเอาจัง ถูมันอยู่อย่างนั้นไม่ทำอย่างอื่นภายหลังจากที่พาไปฉีดวัคซีนแล้วหล่ะก็ ให้สงสัยไว้เลยว่าอาจจะแพ้วัคซีน ซึ่งบางครั้งอาการคันจะมาพร้อมกับการมีตุ่มผื่น หรือรอยแดงเป็นปื้นอย่างชัดเจน หากเราแหวกขนเปิดดูด้วยก็อาจจะช่วยให้เห็นถึงความผิดปกติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นได้

5. หน้าบวม

แมวแพ้วัคซีนมีอาการหน้าบวม

อาการหน้าบวมจะสังเกตเห็นค่อนข้างชัดเจนคือ มีอาการบวมขึ้นบริเวณสองแก้ม จมูก ปาก และหน้าผาก โดยจะเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนค่อนข้างไวหากมีอาการแพ้ บางครั้งจะพบว่ามีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย

6. เป็นลมหมดสติ

จะสังเกตเห็นว่าอยู่ดี ๆ แมวก็ฟุบหลับไป เรียกแล้วไม่มีการตอบสนองแต่ยังคงเห็นมีการกระเพื่อมของอกและท้องจากการหายใจอยู่ เจ้าของสามารถใช้ฝ่ามือนวดที่หน้าอกในระหว่างพามาพบสัตวแพทย์ได้

จะเห็นว่าอาการแพ้วัคซีนนั้นพบได้น้อยมาก ๆ และมักจะมีอาการที่รุนแรงซึ่งแตกต่างจากอาการผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่มักจะพบได้มากกว่า โดยมีรายงานจาก Banfield Pet Hospitals ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงปี 2002 ถึง 2005 มีการฉีดวัคซีนให้แมวมากกว่า 1.25 ล้านโดส โดยฉีดให้แมวเกือบ ๆ 500,000 ตัว พบว่ามีแมว 0.52 % พบผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไปภายใน 30 วัน โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ และมีอาการอักเสบบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบเพียง 2 – 3 วันแล้วสามารถหายได้เอง พบได้มากที่สุดในแมวอายุประมาณ 1 ปี

เมื่อแมวแพ้วัคซีนต้องทำไง?

อาการแพ้วัคซีนในแมวนั้นมีความรุนแรงมาก ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นอาการแพ้วัคซีนตามที่กล่าวมาแล้ว ควรรีบพาแมวกลับไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อที่สัตวแพทย์จะได้ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งโดยส่วนมากยาที่ใช้รักษาอาการแพ้วัคซีนจะเป็นกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) สเตียรอยด์ (Glucocorticoid) และยาอื่น ๆ ตามอาการ

แมวแพ้วัคซีนต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์

แมวเคยแพ้วัคซีน ควรจะฉีดวัคซีนอีกไหม

วัคซีนในแมวสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น (ประมาณ 1 ปี) เมื่อเวลาผ่านไประดับภูมิคุ้มกันก็จะลดลง ดังนั้นจึงมีการนัดกระตุ้นวัคซีนในแมวทุกปี แต่ในแมวที่เคยมีประวัติการแพ้วัคซีนมาก่อน เจ้าของคงกังวลไม่น้อยที่จะต้องพาแมวไปฉีดวัคซีนในครั้งต่อไปเมื่อครบกำหนด จนอาจถึงขั้นไม่กล้าพาแมวไปฉีดวัคซีนตามนัดเลยก็ได้

แต่รู้หรือไม่ว่าหากแมวไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจนภูมิคุ้มกันที่เหลือไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้นั้นอันตรายยิ่งกว่า แม้ว่าจะเลี้ยงแมวในบ้าน แมวก็สามารถได้รับเชื้อจากเจ้าของที่ออกไปข้างนอกแล้วนำเชื้อโรคกลับมาหรืออาจมีสัตว์พาหะตัวเล็ก ๆ นำเชื้อโรคติดมาได้ แล้วถ้าแมวเคยแพ้วัคซีนแบบนี้จะทำไงดีหละ? กาโตโระแนะนำว่าควรพาแมวไปฉีดวัคซีนตามนัด แล้วสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจะดีกว่า

ในแมวที่มีประวัติการแพ้วัคซีนมาก่อน การฉีดวัคซีนในครั้งต่อ ๆ ไป ควรจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เจ้าของต้องนำสมุดวัคซีนเดิมที่เคยฉีดวัคซีนติดไปด้วยทุกครั้ง หากเคยแพ้วัคซีนชนิดใด ยี่ห้อใด ให้เขียนกำกับไว้ทุกครั้ง (สัตวแพทย์จะแปะสติกเกอร์ชนิดวัคซีนและยี่ห้อวัคซีนที่ฉีดไว้พร้อมวันที่ฉีดเสมอ) หรือแจ้งสัตวแพทย์ให้เขียนโน๊ตไว้ในสมุดวัคซีนให้ก็ได้

เมื่อต้องฉีดวัคซีนโดยทั่วไปสัตวแพทย์จะเลือกใช้วัคซีนที่มีสูตรแตกต่างจากเดิมหรือเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีน อาจมีการให้ยาแก้แพ้และสเตียรอยด์ก่อนการฉีดวัคซีน 20 – 30 นาที และหลังฉีดวัคซีนเจ้าของควรสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าแมวจะไม่แสดงอาการแพ้วัคซีนอีก

สรุป

แม้ว่าอาการแมวแพ้วัคซีนจะเป็นอาการที่เจ้าของหลาย ๆ คนกลัวและแมวมักแสดงอาการที่รุนแรง แต่จะเห็นว่าโอกาสที่แมวจะแพ้วัคซีนนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก ดังนั้นเจ้าของก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปค่ะ เพราะถ้าเราสังเกตอาการแมวอย่างใกล้ชิดหลังฉีดวัคซีนว่าแมวมีอาการตามที่บอกรึเปล่า หากแมวมีอาการแพ้วัคซีนเกิดขึ้นจริง ๆ ก็จะสามารถพาแมวไปพบสัตวแพทย์ได้อย่างรวดเร็วแน่นอน หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เจ้าของสามารถแยกแยะอาการเบื้องต้นได้ และช่วยแมวได้อย่างทันท่วงทีนะคะ


อ้างอิง

https://wagwalking.com/cat/condition/vaccine-allergy

2020 AAHA/AAFP Feline vaccination Guidelines and resources through an educational grant to AAHA.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า