รู้หรือไม่ว่าเล็บสุนัขก็เหมือนเล็บของเราที่จะมีส่วนยื่นออกมากจากเนื้อเล็บและมีการยืดยาวอยู่เรื่อย ๆ สุนัขบางตัวที่ไม่ค่อยได้เดินหรือเลี้ยงในบ้านที่พื้นไม่ได้หยาบจนมีการเสียดสีกับเล็บมากนัก มักจะทำให้เล็บมีส่วนยืดยาวออกมามากเกินไปจนเราต้องช่วยตัดเล็บให้ แต่หลายคนคงกำลังปวดหัวกันอยู่ใช่ไหมว่าเราจะตัดเล็บสุนัขของเราอย่างไรดี ใช้อุปกรณ์แบบไหนถึงจะเหมาะสมและตัดลึกแค่ไหนถึงจะพอดี รวมไปถึงคำถามอีกหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการตัดเล็บสุนัข วันนี้กาโตโระได้รวบรวมคำตอบมาตอบให้ทุกคนได้หายสงสัยกันแล้ว เพื่อให้การตัดเล็บสุนัขที่บ้านกลายเป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับทุกคนค่ะ
เท้าของสุนัขมีกี่นิ้วกันแน่นะ แล้วเล็บสุนัขเป็นยังไง
เคยสังเกตกันไหมว่าทำไมสุนัขของเราถึงมีนิ้วเท้าไม่เท่ากันกับสุนัขข้างบ้านนะ ปกติเท้า 1 ข้างของสุนัขสามารถที่จะมีนิ้ว 4 หรือ 5 นิ้วก็ได้ โดยนิ้วที่เพิ่มขึ้นมา 1 นิ้วนั้นจะอยู่บริเวณด้านในเหนือฝ่าเท้าขึ้นมา ซึ่งเราจะเรียกนิ้วนั้นว่า “นิ้วติ่ง”
สุนัขบางตัวมีนิ้วติ่งที่ขาหน้าสองข้างแต่ไม่มีที่ขาหลัง สุนัขบางตัวก็มีนิ้วติ่งครบทั้ง 4 ขา หรือบางตัวก็ไม่มีนิ้วติ่งเลย ซึ่งเจ้านิ้วติ่งนี้แหละที่มักจะมีปัญหาเล็บยาวจนโค้งงอเข้ามาจิกเนื้อตัวเองมากที่สุด เนื่องจากอยู่สูงโอกาสที่จะมีการเสียดสีกับพื้นเพื่อให้เล็บสั้นนั้นมีน้อยมาก หากสุนัขตัวไหนมีนิ้วติ่ง เจ้าของต้องไม่ลืมที่จะสังเกตเจ้านิ้วนี้อยู่เป็นประจำด้วยนะคะ
ดูนิ้วสุนัขกันไปแล้วก็มาต่อที่เล็บสุนัขกันได้เลย เล็บสุนัขประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือส่วนเนื้อเล็บและส่วนเล็บแข็ง โดยส่วนที่เป็นเนื้อเล็บจะมีสีชมพูซ่อนอยู่ด้านในและถูกห่อหุ้มไว้ด้วยตัวเล็บแข็งที่เป็นเคอราตินซึ่งตัวเล็บแข็งนี้สามารถมีได้ทั้งสีใส สีขาวขุ่น ไปจนถึงสีดำก็ได้
ตัวเนื้อเล็บด้านในจะมีระบบประสาทและหลอดเลือดเล็ก ๆ มาเลี้ยง ทำให้สามารถรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดและจะมีเลือดไหลได้หากเราตัดเล็บสุนัขลึกเกินไปจนมาถึงชั้นนี้ ส่วนตัวเล็บแข็งที่เป็นเคอราตินจะไม่มีเส้นเลือดและเส้นประสาท ทำให้ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด มีหน้าที่ที่สำคัญคือช่วยปกป้องตัวเนื้อเล็บด้านใน ทำให้สุนัขสามารถใช้เท้าเดิน วิ่ง หรือขุดดินได้อย่างแข็งแรงนั่นเอง
หากสุนัขตัวไหนใช้เท้ามาก หรือเลี้ยงในพื้นที่มีความหยาบสูง ก็มีโอกาสที่เล็บสุนัขจะถูกฝนให้สั้นอยู่เสมอ ๆ จนไม่ต้องตัดเล็บเลยก็เป็นได้ แต่ในทางกลับกันสุนัขที่เลี้ยงในบ้านหรือเลี้ยงบนพื้นที่ไม่มีความหยาบเลย เช่น กระเบื้องในบ้านที่ลื่น ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เล็บสุนัขจะยาวจนจะต้องช่วยตัดเล็บให้อยู่เสมอ
ตัดเล็บสุนัขเมื่อไหร่
วิธีการสังเกตเล็บสุนัขว่ายาวเกินไปจนถึงเวลาที่ต้องตัดแล้วหรือยังนั้นไม่ยากเลย สังเกตง่าย ๆ คือ เวลาสุนัขยืนปลายเล็บที่สั้นพอดีจะต้องไม่ชนพื้น หากส่วนปลายของเล็บโค้งลงมาถึงพื้นได้แปลว่าเล็บนั้นยาวเกินไปแล้ว เราอาจจะได้ยินเสียงของเล็บสุนัขกระทบกับพื้นเวลาเดิน หรือบางครั้งหากเล็บยาวมากอาจจะเห็นนิ้วสุนัขงอไปตามเล็บเลยก็ได้ สังเกตเห็นแบบนี้แล้วก็ถึงเวลาแล้วหละที่ต้องช่วยตัดเล็บให้สุนัขของเรา เพราะหากปล่อยเอาไว้จะทำให้สุนัขรู้สึกเจ็บนิ้วและอุ้งเท้าเวลาเดิน สุนัขจะไม่ค่อยอยากเดิน หรือในบางครั้งเล็บที่ยาวมากอาจจะม้วนจิกเข้ามาในนิ้วทำให้เกิดแผลอักเสบบวม ติดเชื้อ สร้างความเจ็บปวดให้สุนัขตามมาได้
เลือกอุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขแบบไหนดี
เนื่องจากอุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขที่มีขายในท้องตลาดนั้นมีมากมายหลายแบบ ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะเลือกไม่ถูก และสับสนว่าแบบไหนเหมาะกับสุนัขเราที่สุด ดังนั้นกาโตโระจึงขอเสนอ 5 แนวทางในการเลือกอุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขให้ใช้งานง่ายและคุ้มค่าที่สุดมาฝากกัน
1.เลือกแบบไหนดีระหว่าง scissor type หรือ guillotine type
อุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขแบบ scissor type จะมีลักษณะคล้ายกรรไกร สามารถควบคุมองศาในการตัดเล็บได้ตามลักษณะโค้งของเล็บสุนัขที่มีความหลากหลาย แม้ว่าเล็บสุนัขจะโค้งม้วนเข้าหากันหรือโค้งมาจิกที่เนื้อก็สามารถใช้อุปกรณ์ตัดเล็บชนิดนี้ได้ และสามารถใช้ได้กับเล็บทุกขนาดไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่มีเล็บขนาดเล็ก หรือเล็บขนาดใหญ่ ให้แรงในการตัดมาก เหมาะที่จะใช้เป็นกรรไกรตัดเล็บสุนัขขนาดใหญ่ หรือถ้าจะซื้อเผื่อมาตัดให้สุนัขเล็กด้วยก็ไม่มีปัญหา
อุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขแบบ guillotine type มีลักษณะเป็นรูให้สอดเล็บเข้าไป ปรับองศาในการตัดเล็บได้ไม่หลากหลาย เหมาะกับสุนัขที่มีเล็บไม่งอมาก หากเป็นเล็บที่โค้งจนมาจิกเนื้อจะใช้ไม่ได้เลย ขนาดของเล็บต้องไม่ใหญ่ไปกว่ารูของอุปกรณ์ จึงเหมาะกับสุนัขที่มีขนาดเล็บไม่ใหญ่มาก และเล็บไม่ได้โค้งงอจนเกินไป
โดยส่วนตัวผู้เขียนเคยใช้อุปกรณ์ตัดเล็บทั้งสองแบบและชอบแบบ scissor type มากกว่า เพราะจับง่ายกว่า ตัดเล็บได้ทุกแบบ และไม่ต้องเบี่ยงข้อมือมากระหว่างการใช้งาน ทำให้สามารถตัดเล็บได้อย่างรวดเร็ว สุนัขก็ไม่ต้องเครียดนานด้วย
2.จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีตัวกั้นกันการตัดเล็บเกิน
ตัวกั้นสำหรับกันการตัดเล็บเกิน (guard) ใช้สำหรับกั้นปลายเล็บไว้เพื่อจำกัดความยาวของเล็บที่จะตัดออกไม่ให้เราตัดเล็บสุนัขสั้นจนเกินไป อาจจะมีแถมมาให้ในอุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขบางยี่ห้อ แต่เนื่องจากสุนัขแต่ละตัวมีความยาวของเล็บส่วนเกินที่จะต้องตัดออกไม่เท่ากัน แม้กระทั่งในเท้าข้างเดียวกันแต่ละนิ้วก็มีเล็บยาวไม่เท่ากัน ดังนั้นในการตัดเล็บแต่ละครั้งควรกะระยะตามความเหมาะสมของแต่ละนิ้วมากกว่า หากใช้ตัวกั้นมากั้นเพื่อตัดเล็บในนิ้วที่จะต้องตัดเล็บออกเยอะ ๆ ก็จะตัดได้แค่ทีละนิดทำให้ใช้เวลาในการตัดเล็บนานมากขึ้น แต่กลับกันหากเล็บสั้นอยู่แล้ว และใช้ตัวกั้นมากั้นก็อาจจะทำให้ตัดเล็บออกมากจนเกินไปจนเข้าเนื้อเล็บทำให้มีเลือดไหลได้
ดังนั้นหากอุปกรณ์เรามีตัวกั้นกันการตัดเล็บเกินมาให้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ค่ะ ปัด ๆ มันออกก่อนตัดได้เลย หรือจะเลือกแบบที่ไม่มีตัวกั้นมาให้ก็ได้ค่ะ ไม่เกะกะดีเพราะส่วนตัวก็ไม่เคยได้ใช้เลย
3.ต้องเลือกแบบมีตะไบด้วยไหม
โดยทั่วไปเล็บที่ตัดใหม่ ๆ จะมีความคมอยู่บ้าง แต่เมื่อผ่านไป 1 – 2 วัน เล็บจะหายคมไปได้เองทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องตะไบเล็บสุนัข และแน่นอนว่าสุนัขหลาย ๆ ตัวก็ไม่ชอบการตะไบเล็บเลย ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปหาซื้อตะไบเล็บมาเพิ่ม เพราะหลักในการตัดเล็บสุนัขคือต้องรวดเร็วและไม่เจ็บ สุนัขจะมีประสบการณ์ที่ดีและยอมให้เราตัดเล็บให้โดยง่ายในครั้งต่อ ๆ ไป
4.เลือกอุปกรณ์ตัดเล็บที่มีคุณภาพ
ควรเลือกอุปกรณ์ตัดเล็บที่มีตัววัสดุในการตัดแข็งแรง ทนทาน และมีความคม แนะนำว่าเลือกแบบที่เป็นสแตนเลสจะดีกว่าเหล็ก เพราะจะมีความคมและทนทานมากกว่า
5.มีความสะดวกสบายในการใช้งาน
อุปกรณ์ตัดเล็บสุนัขควรเลือกขนาดที่จับพอดีมือคนตัด ด้ามจับจับได้ถนัดมือไม่ลื่น ตัวน็อตควรปรับให้แน่นอยู่เสมอจะได้ไม่เกิดการโยกเยกเวลาตัดเล็บ
วิธีตัดเล็บสุนัข
1.เตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ
เลือกตัดเล็บให้สุนัขในช่วงเวลาที่สุนัขรู้สึกสบาย ๆ ไม่หงุดหงิด อาจจะลูบหัว ลูบตัว หรือพูดคุยด้วยเสียงที่นุ่มนวลเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายก่อนการตัดเล็บ บรรยากาศโดยรอบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนจากสิ่งอื่นที่ทำให้สุนัขรู้สึกไม่สบายใจ
2.ลงมือตัดเล็บกันเลย
จับเท้าสุนัขโดยมือข้างหนึ่งประคองที่อุ้งเท้าใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจับนิ้วที่ต้องการตัดไว้ มืออีกข้างจับอุปกรณ์ตัดเล็บให้กระชับมือ ตัดเล็บบริเวณตัวเล็บแข็งตำแหน่งที่ห่างจากเนื้อเล็บสีชมพูออกมาประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ให้แนวในการตัดตั้งฉากกับเนื้อเล็บ เช็คดูทุกนิ้วและอย่าลืมนิ้วติ่งด้วยนะ
สุนัขที่มีเล็บสีดำจนมองไม่เห็นเนื้อเล็บจะตัดเล็บอย่างไร?
หลายคนสงสัยว่าแล้วเวลาที่จะต้องตัดเล็บหมาสีดำ หรือสุนัขที่มีเล็บสีดำจะทำอย่างไร เนื่องจากมีเล็บแข็งด้านนอกที่เป็นสีดำทำให้มองไม่เห็นเนื้อเล็บด้านใน มีโอกาสทำให้เราตัดเล็บโดนเนื้อเล็บได้ง่ายจนมีเลือดออกอยู่บ่อย ๆ
กาโตโระแนะนำว่าให้ลองส่องไฟฉายแรงสูงเข้าไปที่เล็บ บางตัวจะสามารถมองเห็นเนื้อเล็บได้ แต่ถ้าหากมองไม่เห็นจริง ๆ ให้ค่อย ๆ เล็มตัดทีละนิด จนเมื่อเริ่มเห็นบริเวณตรงกลางมีลักษณะเป็นวงกลมอยู่ด้านในก็ให้หยุดตัด เพราะส่วนกลมที่เราเห็นนั้นก็คือเนื้อเล็บด้านในนั่นเอง
3.ให้รางวัลปลอบใจ
เมื่อตัดเล็บสุนัขเสร็จแล้วหากเรามีขนมที่สุนัขชอบทานสามารถให้เป็นรางวัลได้ สุนัขจะรู้สึกดีใจ ครั้งต่อไปก็อาจจะทำให้เราสามารถตัดเล็บสุนัขได้ง่ายขึ้น
ในสุนัขเล็บอักเสบที่เกิดจากการที่ปล่อยให้เล็บยาวจนจิกเข้าเนื้อก็สามารถตัดเล็บให้ได้ โดยตัดให้ความยาวและมุมเท่ากับการตัดเล็บปกติ แต่หลังจากตัดเล็บแล้วเมื่อเราดึงเล็บที่จิกเข้าเนื้อออก เท้าสุนัขจะเป็นแผล สามารถทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือและใช้เบตาดีนแต้มได้ แต่หากสุนัขเจ็บมาก มีอาการบวม มีหนอง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับยาหรือเข้ารับการรักษาที่คลินิกใกล้บ้าน
ตัดเล็บสุนัขเลือดออก ทำยังไง
หากว่าเราพลาดตัดเล็บสุนัขเข้าไปลึกเกิน จนเห็นเลือดไหลออกมาซิบ ๆ แล้วหละก็ ไม่ต้องตกใจไปนะคะ ให้ตั้งสติของตัวเองให้ดี ไม่ต้องร้องโวยวาย เพราะหากสุนัขเห็นเราตื่นเต้นกระวนกระวายก็จะยิ่งทำให้สุนัขตกใจตามเราไปด้วย เลือดก็อาจจะไหลแรงขึ้นและไหลนานก็เป็นได้
เมื่อตั้งสติได้แล้วให้ใช้สำลี ผ้าก็อซ หรือผ้าสะอาดกดปลายเล็บจุดที่เลือดออกเพื่อห้ามเลือดไว้ก่อน สักพักเลือดจะสามารถหยุดได้เอง และหากมีผงห้ามเลือดก็สามารถตักผงห้ามเลือดมาขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวแล้วอุดไปที่ปลายเล็บพร้อมกดไว้สักครู่ เลือดก็จะสามารถหยุดได้เองภายใน 1 – 3 นาที
แต่หากพบว่าเลือดไม่สามารถหยุดได้เองภายใน 3 – 5 นาที ก็ให้พันปลายนิ้วไว้ก่อนแล้วรีบพาไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้านได้เลยค่ะ สุนัขอาจจะมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ เช่น ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ซึ่งต้องให้สัตวแพทย์ตรวจวินิจฉัยต่อไป
ผงห้ามเลือดสุนัขสามารถหาซื้อได้ตามคลินิกรักษาสัตว์ หรือร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ มียี่ห้อที่ใช้กันบ่อย ๆ เช่น Bioline Styptic Powder, Laube Styptic powder, Kwik Stop Styptic powder เป็นต้น
ตัดเล็บสุนัขดื้อ ดุ จับบังคับแบบไหน
บางครั้งสุนัขของเราในช่วงเวลาปกติอาจจะน่ารัก เชื่อฟัง สามารถหยอกล้อจับตัวได้ตามปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราตั้งท่าจะตัดเล็บ แค่จับนิ้วขึ้นมาเท่านั้นแหละก็เกิดอาการแยกเขี้ยวส่งเสียงขู่ขึ้นมาซะงั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี มาดูวิธีที่ใช้ได้ผลดีกันเลย
1.ใช้ขนมล่อเบี่ยงเบนความสนใจ
วิธีที่ง่ายที่สุดที่ผู้เขียนได้ลองทำดูคือให้อีกคนเอาขนมมาล่อให้กินเพลิน ๆ อยู่ตลอดแล้วเราแอบตัดเล็บอย่างรวดเร็ว วิธีนี้จะได้ผลดีในสุนัขที่ค่อนข้างตะกละ
2.ใช้ผ้าหนากอดล็อค
หากสุนัขไม่สนใจขนมที่เอามาล่อเลย ในสุนัขขนาดเล็กและขนาดกลาง เราสามารถใช้ผ้าพับทบให้หนาแล้วมาม้วนหลวม ๆ รอบคอโดยให้กะความกว้างคลุมมาถึงตาด้วยจะยิ่งดี และใช้แขนกอดล็อคบริเวณคอและหัวไว้ ซึ่งการใช้ผ้ามาพันก่อนล็อคจะทำให้สุนัขไม่รู้สึกเจ็บและทำให้การล็อคมีความแน่นหนามากขึ้น อีกทั้งผ้าที่คลุมมาจนถึงตาจะเป็นการช่วยลดความตื่นกลัวจากการที่สุนัขมองเห็นอุปกรณ์ตัดเล็บและเล็บตัวเองที่ถูกตัดอยู่ได้ด้วย
3.ใช้ปลอกคอกันเลีย
Collar หรือปลอกคอกันเลียแผลเป็นอีกอุปกรณ์ที่สามารถใช้กันสุนัขกัดเราเวลาตัดเล็บได้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งในสุนัขขนาดเล็กไปจนถึงสุนัขขนาดใหญ่ การเลือกปลอกคอกันเลียที่ดีนั้นต้องเลือกให้ขนาดเหมาะสม โดยต้องมีขนาดรอบคอที่พอดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป (ส่วนมากขนาดคอสามารถปรับระดับได้ตามขนาดคอสุนัข) และที่สำคัญความยาวของปลอกคอกันเลียต้องยาวมากกว่าหน้าสุนัข ห้ามเลือกแบบพอดีหรือให้หน้ายื่นออกมาได้เด็ดขาดเพราะจะไม่สามารถกันการเลียแผลและกันกัดได้ โดยความยาวที่ผู้เขียนแนะนำคือเมื่อสวมเข้าหัวไปแล้วให้ปลอกคอยาวกว่าหน้าออกมา 5 – 10 cm.
สรุป
เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบางครั้งก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ก็เหมือนกับเรื่องเล็บสุนัข ที่เป็นส่วนเล็ก ๆ ในตัวสุนัขแต่มีผลอย่างมากกับสุนัข บางครั้งถ้าเล็บมีปัญหาก็ทำเอาสุนัขไม่เดิน ไม่เล่น ไม่กินกันเลยทีเดียว ดังนั้นอยากให้ชาวกาโตโระสังเกตกันสักนิด จะได้ป้องกันปัญหาที่จะตามมาได้ทันท่วงที และเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้วผู้เขียนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากเลยหากเราจะช่วยตัดเล็บสุนัขของเราด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ถ้าหากลองทำแล้วพบว่าเจ้าสุนัขของเรามันช่างจัดการยากเสียจริง ก็ไม่ต้องเครียดจนเกินไปนะคะ พาไปพบสัตวแพทย์ได้เลย เดี๋ยวคุณหมอจะช่วยจัดการให้เองค่ะ
อ้างอิง