ผู้เลี้ยงนกมือใหม่หลายท่านอาจมีคำถาม กกไฟลูกนกยังไงดี? ไฟกกลูกนกใช้ไฟกี่วัตต์? หลอดกกไฟนกเลือกแบบไหนดีที่สุด? กกไฟนกป่วยจำเป็นหรือไม่? และการจัดกรงนกอย่างไรเมื่อต้องใช้ไฟกก ให้ได้ความร้อนและรังสี UV ที่พอเหมาะในสภาพอากาศสุดฮ๊อตของเมืองไทย โดยที่ลูกนกหรือนกป่วยของเราไม่โดนย่างด้วยไฟกกอุ่น ๆ ของตัวเอง
แสงสว่างและความร้อน
แสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตนกอย่างขาดไม่ได้ เนื่องจากนกพึ่งพารังสี UVA และ UVB ในแสงแดดเป็นตัวช่วยในการดำรงชีวิต โดยรังสี UVA ช่วยให้นกสามารถมองเห็นสีสันของโลกนี้มากกว่า 100 ล้านสี ซึ่งทำให้ตานกสามารถแยกแมลงตัวเล็กจิ๋วออกจากใบไม้ แยกผลไม้ออกจากต้นและแยกสัตว์นักล่าออกจากที่ซ่อนตัวได้อย่างแม่นยำ เพิ่มโอกาสมีชีวิตรอดของนกได้เป็นอย่างดีและมีความสำคัญในการจับคู่ผสมพันธุ์ของนก ส่วนรังสี UVB มีความสำคัญในการสร้างวิตามินดี3 (VitaminD3) ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยในกระบวนการดูดซึมแคลเซียมของนก2,3,4
นกมีอวัยวะที่เรียกว่า Preen gland (Uropygeal gland) อยู่บริเวณผิวหนังใต้ขนหาง มีหน้าที่ผลิตน้ำมันซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษช่วยเคลือบขนนกให้กันน้ำ แข็งแรงและยังเป็นตัวรับแสง UVB ที่สามารถเปลี่ยน VitaminD3 ให้อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้งาน อย่าแปลกใจหากเราจะเห็นนกขนฟูนอนอาบแดดตอนเช้าตรู่ เพราะนกต้องพองขนเพื่อให้ Preen gland สัมผัสแสงแดดเต็มที่3
ความอันตรายของการขาด VitaminD3 และแคลเซียมคือ ปากนกไม่แข็งแรง เปราะแตกหักง่าย เปลือกไข่นุ่มนิ่ม มีโอกาสเกิดไข่ค้าง (Egg-binding) กระดูกบางหักง่าย กระดูกโค้งผิดรูป (Metabolic bone disease หรือ Rickets) กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบประสาทและอวัยวะภายในทำงานผิดปกติจากการขาดแคลเซียม2
นกต้องการความสมดุลของแสงสว่างและความมืด เพราะตามทฤษฎีนกต้องการแสงสว่าง 8-12 ชั่วโมงและความมืดราว 12 ชั่วโมงสำหรับพักผ่อนและแสงสว่างที่ดีที่สุดคือ แสงแดดธรรมชาติช่วงเช้าตรู่จนถึงสาย ๆ อากาศไม่ร้อนมากและรังสี UV ก็ไม่เข้มข้นจนเป็นอันตรายต่อนก วางกรงนกให้สัมผัสแดดราว 30 นาทีต่อวันก็เพียงพอ2,3,4
การเลี้ยงนกในเมืองไทยดูจะง่ายกว่าประเทศอื่น ๆ เมื่อเทียบกับฝั่งยุโรปหรืออเมริกา เพราะทุกวันมีแสงแดดและอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 28C. (องศาเซลเซียส)1 ซึ่งไม่หนาวหรือร้อนเกินไปสำหรับการเลี้ยงนก แม้ว่าจะมีวันที่ร้อนจัดในหน้าร้อนหรือฝนตกหนัก แต่โดยภาพรวมอุณหภูมิและแสงแดดก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนักเหมือนต่างประเทศที่มีทั้งช่วงเวลาอากาศหนาวจัดหรือมีช่วงเวลากลางวันสั้นมากเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งมีผลกระทบต่อการเลี้ยงนกอย่างแน่นอน
ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟกกลูกนกหรือกกไฟนกป่วย!!? แค่ตั้งกรงนกไว้ในห้องหรือนอกบ้านก็น่าจะเพียงพอแล้ว จริง ๆ ความคิดนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว หากเรามองถึงปัจจัยต่าง ๆ รอบตัวเรา เช่น เลี้ยงนกในบ้านหรือสภาพอากาศที่บางครั้งก็เกิดแปรปรวนขึ้นมาโดยเฉพาะบ้านที่ใช้แอร์หรือพัดลม อากาศแปรปรวนในฤดูฝนหรือกลางคืนที่อากาศเย็นในช่วงฤดูหนาว การใช้หลอดไฟกกนกช่วยปรับอุณหภูมิให้อบอุ่นและมีความคงที่มากขึ้น โดยเฉพาะการกกไฟลูกนกและกกไฟนกป่วย มีความจำเป็นเพราะร่างกายนกยังมีความอ่อนแอมากกว่านกทั่ว ๆ ไป
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงนก
นกเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีอุณหภูมิร่างกายปกติค่อนข้างสูงราว 40 – 41C. ซึ่งเทียบได้กับคนมีไข้สูงเลยทีเดียว ร่างกายของนกปกคลุมไปด้วยขนหลายชั้นเพื่อช่วยในการเก็บรักษาความอบอุ่นเหมือนห่มผ้าอุ่น ๆ ตลอดเวลา
อุณหภูมิเท่าไหร่ที่พอเหมาะพอดีกับการเลี้ยงนก เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะนกแต่ละสายพันธุ์มีถิ่นกำเนิดมาจากหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น นกแก้วมาคอร์มีถิ่นกำเนิดในป่าฝนแถบอเมริกาใต้ที่มีอากาศค่อนข้างเย็นและชื้น แน่นอนว่าสภาพอากาศแตกต่างจากนกแก้วแอฟริกัน เกรย์ ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามาจากแอฟริกาที่ร้อนและแห้งแล้ง หรือนกค๊อกคาทูที่มาจากออสเตรเลียที่อยู่ในสภาพอากาศค่อนข้างแห้งและร้อนจัดในฤดูร้อน เป็นต้น
นกส่วนใหญ่จากต่างประเทศที่นำเข้ามาเลี้ยงในเมืองไทยต่างก็มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหานกป่วยที่มักพบในโรงพยาบาลสัตว์คือ นกเป็นหวัดเนื่องจากอากาศเย็นเกินไป เพราะอากาศร้อน ๆ ของเมืองไทยเราจึงใช้ชีวิตในห้องแอร์หรือเปิดพัดลมเป่าใกล้ ๆ และคาดว่านกคงจะร้อนเหมือนกันกับเราด้วย ในทางกลับกันกลายเป็นว่าเราทำให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนสำหรับนกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
บทความที่น่าสนใจ 9 สายพันธุ์นกน่าเลี้ยง สีสันสุดคัลเลอร์ฟูล
สิ่งที่ต้องระวังคือ ความแปรปรวนของอุณหภูมิทำให้นกป่วยง่าย ไม่ควรวางกรงนกใกล้หน้าต่างเพราะ ความร้อนจากแสงแดดในเวลากลางวันอาจทำให้นกเป็นฮีทสโตรกหรือถ้าหากเปิดหน้าต่าง พัดลมหรือแอร์ แบบลมเย็นพัดผ่านกรงนก อาจทำให้นกป่วยจากสภาพอากาศ อุณหภูมิและความชื้นที่ไม่คงที่
หลอดกกไฟนก เลือกอย่างไรดี
หลอดกกไฟนก มีหลายชนิดให้เลือกใช้ ทั้งแบบทดแทนแสงแดดธรรมชาติ มีรังสี UV หรือช่วยปรับอุณหภูมิให้ค่อนข้างคงที่ไม่ว่าจะเป็นลูกนกหรือนกป่วย การมีหลอดกกไฟนกซักหนึ่งอันไว้ที่บ้านก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นในช่วงกลางคืนและอุ่นขึ้นในช่วงเวลากลางวัน การกกไฟนกในช่วงเวลากลางคืนลดโอกาสที่นกจะสัมผัสกับอุณหภูมิเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ซึ่งส่งผลให้นกเครียดและป่วยง่ายตามมา
หลอดกกไฟนกที่แนะนำคือ Full light spectrum + UVB เพื่อให้นกได้รับรังสีเหมือนอาบแดดตอนเช้า ซึ่งจำเป็นในกรณีไม่สามารถพานกไปตากแดดหรือที่พักอาศัยค่อนข้างทึบแสง ส่วนในกรณีนกป่วยหรือลูกนกที่ต้องการเพิ่มความอบอุ่น การเลือกใช้ตู้กกลูกนกที่สามารถปรับอุณหภูมิภายในตู้ได้ก็สะดวกและมั่นใจว่าควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้แน่นอน
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับกกลูกนกแก้วและกกไฟนกป่วย7
- ฟักออกจากไข่ – 3 วัน >>> 35 – 36.5C. (96 – 98F.)
- 3 – 21 วัน >>> 31 – 34C. (88 – 94F.)
- 3 สัปดาห์ขึ้นไปหรือนกป่วย >>> 25 – 30C. (76 – 86F.)
สำหรับคนงบน้อยหรือคิดว่าซื้อตู้กกนกมาคงไม่คุ้ม ไม่ได้ใช้เป็นประจำ กาโตโระมีทางเลือกมาให้คือ หลอดไฟอินฟาเรดสำหรับสัตว์ (infrared lamp) หลอดไส้ (incandescent light bulb) และหลอดไฟเซรามิก (ceramic heating bulb) หาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไปหรือซูเปอร์มาเก็ต สิ่งที่เจ้าของนกจำเป็นต้องรู้ก่อนซื้อหลอดไฟคือ หลอดไฟกกลูกนกใช้ไฟกี่วัตต์และวางหลอดไฟยังไงให้ได้อุณหภูมิที่พอเหมาะ
1.หลอดไฟ UV (Full light spectrum + UVB)
หลอดกกไฟนกแบบที่มีรังสี UV เลียนแบบแสงแดดตามธรรมชาติ เริ่มต้นเลือกหลอดไฟแบบไม่งง ตามขั้นตอนดังนี้3,4,5
- มองหาสัญลักษณ์ Full spectrum UV ข้างกล่อง
- เลือกอุณหภูมิสีของหลอดไฟ 4200 – 8000 Kelvin ซึ่งเป็นช่วงที่สีใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่สุด (Kelvin เป็นหน่วยวัดอุณหภูมิของแสง ถ้าพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ คือค่า Kelvin ช่วยให้เราเลือกหลอดไฟแสงสีเหลือง แสงสีธรรมชาติและแสงสีขาวนั่นเอง)
- เลือก Colour rendering index (CRI) หรือแสงของหลอดไฟทำให้สีของวัตถุเหมือนจริง (ค่า CRI มีตั้งแต่ 0 – 100 โดย 100 คือแสงที่สมจริงมากที่สุด) สำหรับไฟกกนกควรเลือกที่มีค่า CRI มากกว่า 90 เนื่องจากตาของนกสามารถมองเห็นสีได้มากกว่า 100 ล้านสี โดยอาศัยแสงและรังสี UV เป็นตัวช่วย ถ้าหากนกมองเห็นสีของวัตถุผิดเพี้ยนไปอาจทำให้นกมีปัญหาในการมองเห็นวัตถุต่าง ๆ จนเกิดอันตรายต่อนกได้
หลอดกกไฟนกแบบรังสี UV จะเสื่อมประสิทธิภาพไปเรื่อย ๆ เมื่อเริ่มใช้งาน โดยมีอายุการใช้งานของหลอดไฟประมาณ 12 เดือน
ตัวอย่างหลอดไฟที่หาได้ในท้องตลาด: standard output T8, high output T5, standard output T5, E27 และ T5 power compact หลอดไฟแต่ละแบบมีความแตกต่างกันทั้งขนาดของหลอดไฟและวัตต์ (กำลังไฟฟ้า) ซึ่งเราต้องเลือกให้เหมาะสมกับขนาดกรงนก
ตัวอย่างการเลือกหลอด Full light spectrum + UVB5
- นกหงษ์หยก (ตัวแทนนกขนาดเล็ก) – กรงสำหรับนกเล็กขนาด 45x45x60 เซนติเมตร (กว้างxยาวxสูง) เลือกใช้หลอดไฟ 8 watt lamp
- นกแอฟริกันเกรย์ (ตัวแทนนกขนาดกลาง) – กรงสำหรับนกแก้ว ขนาด 0.9×1.2 เมตร เลือกใช้หลอดไฟ E27 compact lamp หรือ 24W power compact (ParrotPro)
- นกแก้วมาคอร์ (ตัวแทนนกขนาดใหญ่) – กรงสำหรับนกแก้ว 1-2 ตัว ขนาด 1.8×1.8 เมตร เลือกใช้หลอดไฟ 54watt T5 linear lamp
2.หลอดไฟอินฟราเรด (Infrared lamp)
หลอดไฟอินฟราเรด เป็นหลอดไฟสำหรับให้ความอบอุ่นแบบไม่มีรังสี UV มีให้เลือกตั้งแต่ 40-150 วัตต์ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ภายในกรง
ตัวอย่าง การวางหลอดไฟกกนกระยะต่าง ๆ กับความอบอุ่นที่นกได้รับจากไฟกก
หมายเหตุ อุณหภูมิที่หลอดไฟให้ความอบอุ่นกับนก ขึ้นอยู่กับขนาดกรง ขนาดหลอดไฟ วัตต์ และอุณหภูมิห้อง ตัวอย่างด้านบนทดลองในห้องอุณหภูมิ 20C. และในช่อง nr คือร้อนเกินไปไม่แนะนำนะ อาจจะทำให้นกฮีทสโตรกหรือผิวไหม้ได้8
อย่าลืมว่านกโตและนกป่วยต้องการความอบอุ่นเพียง 25-30C. กาโตโระทำตารางให้ดูเพื่อเปรียบเทียบเท่านั้น หากใช้หลอดไฟที่มีกำลังไฟสูง ขอให้แน่ใจว่ากรงนกกว้างมากพอที่นกจะหนีได้เมื่อร้อนเกินไป
3.หลอดไฟให้ความร้อนแบบเซรามิก (Ceramic heating bulb)
หลอดไฟแบบเซรามิกให้ความร้อนได้ดีโดยที่ไม่มีแสงจ้าให้นกแสบตา เหมาะสำหรับใช้เวลากลางคืนที่อากาศเย็น เพราะไม่มีแสงรบกวนนกในเวลานอน มีให้เลือกตั้งแต่ 40-250 วัตต์
ตัวอย่าง การวางหลอดไฟกกนกระยะต่าง ๆ กับความอบอุ่นที่นกได้รับจากไฟกก
หมายเหตุ อุณหภูมิที่หลอดไฟให้ความอบอุ่นกับนก ขึ้นอยู่กับขนาดกรง ขนาดหลอดไฟ วัตต์ และอุณหภูมิห้อง ตัวอย่างด้านบนทดลองในห้องอุณหภูมิ 22C. จะเห็นว่าวางหลอดไฟห่างกันเพียง 10 เซนติเมตรแต่ความร้อนที่ออกมาจากหลอดไฟก็แตกต่างกันประมาณ 2-7 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว9
อย่าลืมว่านกโตและนกป่วยต้องการความอบอุ่นเพียง 25-30C. กาโตโระทำตารางให้ดูเพื่อเปรียบเทียบเท่านั้น หากใช้หลอดไฟที่มีกำลังไฟสูง ขอให้แน่ใจว่ากรงนกกว้างมากพอที่นกจะหนีได้เมื่อร้อนเกินไป
4.หลอดไส้ (Incandescent light bulb)
หลอดไฟรุ่นบุกเบิก ให้ความร้อนจากการเผาขดลวดข้างในหลอดไฟ ผิวแก้วภายนอกร้อนมากหากสัมผัสโดยตรงอาจเกิดแผลไหม้ได้ เลือกใช้หลอดไส้ 40-60 วัตต์ในกรณีที่หาหลอดไฟแบบอื่นไม่ได้แล้วจริง ๆ
ข้อเสียของหลอดไส้คือ แสงไฟที่เจิดจ้าอาจทำให้นกรู้สึกไม่สบายตาเมื่อต้องนั่งมองแสงไฟนาน ๆ และหากใช้หลอดไส้ให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืน แสงไฟอาจรบกวนการนอนหลับของนกได้ นอกจากนั้นความร้อนจากหลอดไฟค่อนข้างควบคุมยาก ผิวแก้วของหลอดไฟอาจร้อนราว 70-90C. ดังนั้นขอให้แน่ใจว่าวางหลอดไฟห่างจากนกอย่างน้อย 25-30 เซนติเมตรและนกมีที่ให้หนีหากร้อนเกินไป
การจัดกรงนกเมื่อต้องใช้หลอดกกไฟนก
รู้หรือไม่…การวางกรงนกข้างหน้าต่างที่มีแสงสว่างทั้งวันแต่ไม่ได้เปิดหน้าต่างเลย นกอาจไม่ได้รับรังสี UV อย่างเพียงพอ เนื่องจากกระจกสำหรับที่พักอาศัยมักเคลือบสารที่สะท้อนหรือกรองรังสี UV นอกจากนั้นนกยังจะได้รับเฉพาะความร้อนแบบเน้น ๆ จากรังสีอินฟาเรด (Infrared) ที่ส่งตรงมาจากดวงอาทิตย์ในช่วงแดดจัด เสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกหรือผิวไหม้แดด (sunburn)
อย่าลืมสังเกตนกในกรงเพื่อประเมินว่าหลอดไฟกกนกที่เราติดไว้นั้น สร้างความอบอุ่นอย่างพอเหมาะหรือไม่ ดังนี้
- อุ่นพอดี – นกเกาะคอนตามสบาย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในกรงตามปกติ
- หนาวเกินไป – นกพยายามเข้าใกล้ไฟกกมากที่สุด หากเลี้ยงหลายตัวอาจพบว่านกมาเกาะกลุ่มกัน ขนฟู ซึม จามและน้ำมูกไหล
- ร้อนเกินไป – นกพยายามหนีห่างจากไฟมากที่สุด ผิวแห้ง ผิวแดง หอบ อ้าปากหายใจ ขนฟูและกระวนกระวาย
บทสรุป
แสงแดดและความอบอุ่นสำคัญสำหรับนกมาก หากเราไม่สามารถตากแดดนกตอนเช้าตรู่หรือต้องการเพิ่มความอบอุ่นเป็นพิเศษ หลอดไฟกกนกเป็นทางเลือกที่ดีมาก แต่หลอดกกไฟนกป่วยหรือหลอดกกไฟลูกนกมีหลากหลายแบบ เจ้าของนกจึงควรพิจารณาเลือกหลอดไฟตามความเหมาะสม ทั้งชนิดของหลอดไฟ วัตถุประสงค์ของการกกไฟ ขนาดของกรงนกและสภาพแวดล้อมรอบ ๆ กรงนก เท่านี้นกตัวน้อยก็จะอบอุ่นจากไฟกกนกที่เราคัดเลือกมาเป็นอย่างดี
อ้างอิง
1.http://climate.tmd.go.th/content/file/1478
2.https://www.exoticdirect.co.uk/news/importance-correct-lighting-for-birds-part-one
3.https://www.exoticdirect.co.uk/news/benefits-uv-lighting-birds-part-two
4.https://www.exoticdirect.co.uk/news/calcium-magnesium-uv-preventing-feather-plucking-part-three
5.https://www.exoticdirect.co.uk/news/how-choose-correct-lighting-for-your-bird-part-four
6.https://www.exoticdirect.co.uk/news/parrots-cold-weather
7.https://hari.ca/hari/research-facility/hari-research-papers/psittacine-pediatrics-housing-feeding-baby-parrots/
8.https://flukerfarms.com/basking-bulb/
9.http://www.exo-terra.com/en/products/ceramic_heater.php