5 สาเหตุที่ทำให้แมวตาแฉะและเมื่อไหร่ที่ต้องพาไปหาหมอ

หนึ่งในปัญหายอดฮิตที่เจ้าของแมวอาจจะต้องเผชิญหากได้เลี้ยงแมวนั่นก็คือ แมวตาแฉะ ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ในแมวทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กจนโต สาเหตุที่ทำให้แมวมีอาการตาแฉะนั้นมีหลากหลายมาก ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับสาเหตุที่มักทำให้แมวตาแฉะและเมื่อไหร่ที่ต้องรีบพาไปหาหมอ

ดวงตาปกติของแมว

ดวงตาปกติของแมว

เมื่อมองรอบ ๆ ดวงตาจะพบว่าตาทั้งสองข้างของแมวเท่ากัน อาจพบคราบน้ำตาหรือขี้ตาได้บ้างเล็กน้อย เปลือกตาทั้งสองข้างเปิดเท่ากัน

เมื่อมองที่ดวงตาของแมวจะพบฟิล์มน้ำใส ๆ เคลือบดวงตา ฟิล์มนี้แหละที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงดวงตาให้ดูชุ่มชื้นอยู่เสมอ ตาขาวและเยื่อบุตาขาวมีสีขาวอาจพบเส้นเลือดสีแดงเล็ก ๆ ได้ในบริเวณนี้ กระจกตามีความใสสามารถมองทะลุเข้าไปเห็นม่านตาของแมว  สีของม่านตาแมวสามารถมีสีได้หลากหลาย เช่น เหลือง ฟ้า หรือในแมวบางสายพันธุ์อาจพบว่าสีม่านตาของแมวทั้งสองข้างเป็นคนละสีก็ได้ เช่น แมวขาวมณี ขนาดของม่านตาแมวสามารถปรับขนาดได้ตามปริมาณแสงในพื้นที่นั้น ๆ และขนาดของม่านตาแมวมีขนาดเท่ากัน

ความหมายของคำว่าแมวตาแฉะ

คำว่าแมวตาแฉะไม่ใช่คำที่เอาไว้อธิบายอย่างเป็นทางการสำหรับสัตวแพทย์ แต่เป็นคำที่เจ้าของแมวมักจะใช้ในการอธิบายถึงอาการมีน้ำตาไหล (Watery eyes dischsrge) มีขี้ตา (Ocular mucus discharge) และในบางครั้งอาจรวมไปถึงอาการบวมแดงของเยื่อบุตาขาว (Conjunctivitis) ซึ่งมักจะมาพร้อมกับอาการน้ำตาไหล

แมวตาแฉะแบบมีเมือกสีน้ำตาลข้น และมีน้ำมูก
แมวตาแฉะแบบมีเมือกสีน้ำตาลข้น และมีน้ำมูก
แมวตาแฉะมีน้ำใส ๆ
แมวตาแฉะมีน้ำตาไหลเยอะผิดปกติ สังเกตได้ง่าย ๆ โดยขนบริเวณรอบดวงตาจะเปียกอยู่ตลอดเวลา
แมวเด็กเยื่อบุตาขาวอักเสบ
แมวเด็กเยื่อบุตาขาวอักเสบ จะสังเกตเห็นเยื่อบุตาขาวโผล่ออกมาจากบริเวณหัวตา ถ้ามีการอักเสบร่วมด้วยเยื่อบุตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดง

5 สาเหตุพบบ่อยที่ทำให้แมวตาแฉะ

1.ติดไวรัส

ไวรัสไข้หวัดแมวเป็นสาเหตุคลาสสิคที่ทำให้แมวตาแฉะ ไวรัสในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย Feline Herpesvirus (FHV) และ Feline Calicivirus (FCV) แมวกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสหวัดแมวได้แก่ แมวเด็ก แมวเลี้ยงปล่อย แมวที่ยังไม่ได้ได้ฉีดวัคซีนและแมวที่อาศัยรวมกันอย่างหนาแน่น 

Feline Herpesvirus – แมวที่ป่วยด้วยโรคนี้มักจะได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกของแมวที่ป่วยโดยตรง หรือจากเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศและจากการสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 2-6 วัน แมวจะแสดงอาการในระบบทางเดินหายในส่วนบน เช่น จาม มีน้ำมูก มีน้ำตา บางตัวมีไข้ ซึมและเบื่ออาหารร่วมด้วย

ความร้ายกาจของไวรัสเฮอร์ปีส์ยังไม่หมดแค่นี้ ตัวไวรัสสามารถทำให้แมวมีอาการเยื่อบุตาขาวอักเสบ (conjuctivitis) และทำลายเยื่อบุชั้นนอกของกระจกตา (corneal epithelium) จนทำให้แมวเกิดแผลที่กระจกตาได้อีกด้วย จึงไม่แปลกหากเราจะเห็นแมวป่วยมีน้ำตาไหลออกมา เนื่องจากเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั่นเอง

รู้หรือไม่
Feline Herpesvirus สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสิ่งของต่าง ๆ ในสภาพอากาศชื้นได้นานประมาณ 18 ชั่วโมง และถูกทำลายได้ง่ายโดยการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดธรรมดาหรือสบู่

Feline Calicivirus – เป็นไวรัสที่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายมากในหมู่แมว แมวป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะแสดงอาการป่วยได้หลากหลาย เช่น ข้ออักเสบ (polyarthritis) เหงือกและช่องปากอักเสบ (gingivostomatitis) และ หลอดเลือดอักเสบ (systemic vasculitis)

แมวติดโรคนี้จากการไปสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของแมวป่วยและการไปสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้อยู่บนพื้นผิว  จากการศึกษาพบว่าแมวที่มีเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายไวรัสชนิดนี้ไปสู่แมวตัวอื่นได้เป็นระยะเวลานานถึง 75 วันถึงแม้แมวจะไม่แสดงอาการป่วยแล้วก็ตาม มากไปกว่านั้นแมวบางตัวสามารถแพร่กระจายโรคนี้ต่อไปได้อีกเป็นปีหรือตลอดชีวิต!!1

อาการเด่นที่พบบ่อยของแมวป่วยก็คือพบแผลในช่องปากโดยเฉพาะที่บริเวณปลายลิ้น อาการอื่น ๆ ที่แมวมักจะแสดงออกมาจะมีความคล้ายกับแมวที่ติดเฮอร์ปีส์ไวรัส คือ มีอาการในระบบทางเดินหายใจส่วนบน จาม มีไข้ มีน้ำมูกน้ำตา แต่ Feline Calicivirus จะไม่ทำให้เกิดแผลที่กระจกตา

แมวป่วยส่วนใหญ่มักจะสามารถจัดการกับเชื้อไวรัสและหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามยังมีแมวส่วนน้อยที่โชคร้ายได้รับเชื้อที่มีความรุนแรงและแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ (Virulent systemic FCV) นอกเหนือจากอาการที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วยังพบว่าตัวที่มีอาการของโรครุนแรงอาจมีภาวะผิดปกติที่ตับ แมวมีอาการตัวเหลือง บางตัวอาเจียน ถ่ายเหลว และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60%2

คำเตือน
แมวเด็กคือแมวกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายมากและมักจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการของแมวเด็กที่ป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อยก็คือ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ จาม แมวเด็กตาเป็นหนอง บางตัวขาดน้ำรุนแรงและเสียชีวิต อย่าชะล่าใจคิดว่าจะหายได้เองรีบพาเด็ก ๆ ไปหาหมอดีกว่า หากพบอาการเหล่านี้

ไวรัสไข้หวัดแมวสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนแมวให้ครบตามที่คุณหมอนัด อ่านเรื่องวัคซีนแมวที่นี่

2.เยื่อบุตาขาวอักเสบ

เคยไหมที่อยู่ ๆ แมวของเราก็มีน้ำตาใส ๆ ไหลออกมา แมวของเราซึมเศร้าเรื่องอะไรหรือเปล่านะ แต่ถ้าลองมองเข้าไปในตาแมวดี ๆ อาจพบว่าแมวมีเยื่อบุตาขาวโผล่ออกมาตรงตำแหน่งหัวตาของแมวแบบในรูปนี้

แมวเยื่อตาขาวอักเสบ
แมวป่วยจะสามารถมองเห็นเยื่อตาขาวโผล่ออกมาบริเวณหัวตา

ถ้าเราเห็นเยื่อบุตาขาวของแมวโผล่ออกมาในลักษณะนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่าแมวน่าจะป่วยด้วยโรคอะไรสักอย่าง นอกจากอาการแมวตาแฉะและเห็นเยื่อบุตาขาวของแมวแล้ว อาการอื่น ๆ ที่แมวอาจแสดงออกมาเพิ่มเติมก็อย่างเช่น แมวซึม แมวเอาเท้าถูหน้าบ่อย ๆ มีคราบน้ำตาตามใบหน้า แมวตาปิด

สาเหตุยอดฮิตที่ทำให้แมวเยื่อบุตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น Feline Herpesvirus (FHV) และ Feline Calicivirus (FCV) ตามที่ได้กล่าวถึงในหัวข้อก่อนหน้านี้ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจากแบคทีเรียจำพวก Streptococci, Staphylococci, Chlamydophila felis และ Mycoplasma อาจทำให้ขี้ตาที่พบมีลักษณะข้นขึ้นและสีขุ่นขึ้น

สาเหตุที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ ได้แก่ ความผิดปกติที่เปลือกตาของแมวในบางสายพันธุ์ เช่น Persia และ Himalayan ซึ่งมีภาวะที่เรียกว่า Entropion คือลักษณะที่เปลือกตาม้วนเข้าไปในตา จึงทำให้ขนที่อยู่บริเวณเปลือกตาระคายเคืองลูกตาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นหากมีสิ่งแปลกปลอมเช่น ฝุ่นเข้าตา หรือถูกสารเคมี ก็สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองและเยื่อบุตาขาวอักเสบตามมาได้เช่นกัน

3.แผลที่กระจกตา

อาการแมวหรี่ตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง บางตัวก็มีน้ำตาไหลออกมา บางตัวก็ชอบเอาหน้าไปถูกับสิ่งของต่าง ๆ บ่อยผิดปกติ เจ้าเหมียวกำลังพยายามบอกใบ้อะไรให้พวกเรารู้กันแน่

การเป็นแผลที่กระจกตาของแมวไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า หากแผลนั้นเพิ่งเกิดในระยะเวลาสั้น ๆ ต้องอาศัยการย้อมสีพิเศษที่ดวงตา (fluorescein stain) จึงจะสามารถเห็นได้ชัด ในกรณีที่แมวเป็นแผลที่กระจกตามานานแล้วอาจสังเกตเห็นจุดสีขาวขุ่นและเส้นเลือดบริเวณกระจกตาทั้งที่ปกติแล้วบริเวณนั้นควรจะใส

แมวตาขุ่น
แมวเป็นแผลที่กระจกตา กระจกตาของแมวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น และอาจพบเส้นเลือดที่มาเลี้ยงแผลอยู่บนบริเวณกระจกตาได้ ซึ่งปกติแล้วกระจกตาควรจะใส ไม่ขุ่น ไม่มีเส้นเลือด

สาเหตุที่ทำให้แมวมีแผลที่กระจกตาส่วนใหญ่แล้วนั้นมาจากการติดเชื้อ เชื้อตัวร้ายที่เราจะโยนความรับผิดชอบไปให้ก็คือเฮอร์ปีส์ไวรัส (Feline Herpesvirus) อีกแล้ว หากสัตว์แพทย์ตรวจเบื้องต้นแล้วไม่พบสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีสิ่งแปลกปลอมระคายเคืองดวงตา ภาวะความผิดปกติที่เปลือกตา ภาวะขนตางอกผิดปกติ เปลือกตาปิดไม่สนิท การติดเชื้อที่เปลือกตาหรือมีการกระทบกระแทกบริเวณดวงตามาก่อน ก็เป็นไปได้สูงว่าเฮอร์ปีส์อาจเป็นตัวการที่ทำให้แมวเป็นแผลที่กระจกตา

ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากภาวะแผลที่กระจกตาไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ จากข้อมูลของ WSAVA ความเจ็บปวดถูกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ การมีแผลที่กระจกตาอยู่ในระดับ 3 (Moderate to severe) หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออก ความเจ็บปวดในระดับนี้เนี่ยอยู่ในระดับเดียวกันกับภาวะคลอดไม่ออก ส่วนการทำหมันในเพศเมียมีความเจ็บปวดอยู่ในระดับ 2 (Moderate) และการตอนในเพศผู้มีความเจ็บปวดอยู่ในระดับ 1 (Mild to moderate)

เพราะฉะนั้นเห็นแมวหรี่ตาและแมวตาแฉะอย่าวางใจ แมวอาจจะกำลังเจ็บปวดอยู่แต่ไม่รู้จะสื่อสารกับเรายังไงดี

GatoNeab

4.ช่องหน้าม่านตาอักเสบ

เป็นอีกภาวะหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่แมวอย่างมากและอาจทำให้แมวตาบอดได้หากปล่อยเอาไว้ แมวมักจะแสดงอาการแมวตาแฉะเป็นน้ำใส ๆ แมวบางตัวเอาเท้าสัมผัสใบหน้าบ่อย ๆ แมวบางตัวก็ไม่นำเท้าสัมผัสหน้าเลยเพราะเจ็บปวดมาก บางตัวตาปิด บางตัวมีการกระพริบตาถี่ ๆ และไม่สู้แสงแดด

เมื่อมองเข้าไปที่ตาแมวจะพบว่าตาแมวขุ่นไปทั้งกระจกตา ตาขาวและเยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนเราไม่ทันสังเกต หากพบภาวะดังกล่าวควรพาแมวไปหาหมอโดยด่วน!

สาเหตุที่ทำให้แมวมีภาวะช่องหน้าม่านตาอักเสบนั้นมีหลากหลายมาก ได้แก่ การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราและโปรโตซัว สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อได้แก่ เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ การกระทบกระแทก หรือเกิดจากมะเร็ง

5.ปัญหาเฉพาะของสายพันธุ์

แมวพันธุ์หน้าสั้นอย่างเช่น แมวพันธุ์เปอร์เซียและแมวพันธุ์หิมาลายัน มักจะมีคราบน้ำตาเปื้อนอยู่บนหน้าตลอด ถึงทำความสะอาดวันละหลายรอบคราบน้ำตาก็ไม่หายไปสักที และน้ำตาก็ไหลออกมาเรื่อย ๆ วนเวียนไปอย่างนั้น เพราะเหตุใดกันนะที่ทำให้แมวเปอร์เซียตาแฉะอยู่ตลอดเวลา

แมวเปอร์เซียตาแฉะ

คำตอบก็คือ แมวพันธุ์หน้าสั้นมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างของกระดูกบริเวณใบหน้าที่ทำให้การวางตัวของท่อน้ำตาของแมวพันธุ์หน้าสั้นผิดปกตินั่นเอง ตัวเอกที่สำคัญที่ทำให้แมวน้ำตาไหลผิดปกติในเรื่องนี้มีอยู่ 2 อย่างคือ

  1. ต่อมน้ำตาทำหน้าที่ผลิตน้ำตาเพื่อหล่อลื่นลูกตา
  2. ท่อน้ำตาทำหน้าที่ระบายน้ำตาส่วนเกินออกไปที่จมูกและลำคอ

แมวที่มีปัญหาน้ำตาไหลเยอะผิดปกติจะมีสาเหตุมาจาก  2 สิ่งนี้ ไม่ต่อมน้ำตามีปัญหาก็ท่อน้ำตามีปัญหา ซึ่งในกรณีของแมวเปอร์เซียตาแฉะมักจะมีปัญหามาจากความผิดปกติของท่อน้ำตา

การวางตัวของท่อน้ำตาของแมวที่มีใบหน้าปกติ
แมวโครงสร้างหน้าปกติ เช่น แมวไทยบ้านที่พบเห็นได้โดยทั่วไป การวางตัวของท่อน้ำตาเป็นแนวราบ ทำให้การระบายน้ำตาส่วนเกินเป็นไปได้อย่างราบรื่น
แมวเปอร์เซียตาแฉะเพราะท่อน้ำตาวางตัวเป็นรูปตัววีเป็นผลมาจากโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ
การวางตัวของท่อน้ำตาในแมวเปอร์เซียที่เป็นรูปตัววี ทำให้การขับน้ำตาออกเป็นไปอย่างลำบาก

แมวเปอร์เซีย ด้วยลักษณะโครงสร้างของใบหน้าที่สั้น แบน มีการวางตัวของท่อน้ำตาเหมือนรูปตัววี ทำให้การระบายน้ำส่วนเกินออกไปทางจมูกเป็นเรื่องยาก น้ำตาส่วนเกินจึงมาระบายออกที่รูเปิดที่ดวงตาแทน

แมวตาแฉะที่มาจากสาเหตุนี้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง

ต้องทำความเข้าใจและทำความสะอาด พวกเราจะยินดีมากหากคุณพบบทความนี้ก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงแมวพันธุ์หน้าสั้นเพราะนี่คือปัญหาที่คุณอาจจะต้องพบเจอ บางคนไม่มีเวลาทำความสะอาดคราบน้ำตาให้แมวก็อาจจะทำให้แมวมีปัญหาผิวหนังบริเวณร่องน้ำตาตามมาได้

รู้หรือไม่
ที่ประเทศเยอรมันนีห้ามเพาะพันธุ์แมวหน้าสั้นทุกสายพันธุ์ที่มีปลายจมูกอยู่ในระดับสูงกว่าขอบตาล่าง และตัวที่มีความผิดปกติของกระดูกใบหน้า

เมื่อไหร่ที่ต้องรีบพาไปหาหมอ

ผู้เขียนได้ทำชุดคำถามขึ้นมาเพื่อให้เจ้าของแมวลองตอบคำถาม นอกจากแมวตาแฉะแล้วแมวมีอาการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมหรือไม่? หากตอบใช่เพียงข้อเดียวก็ควรพาแมวไปหาหมอได้เลย

  • แมวซึมหรือไม่
  • ไม่ได้ฉีดวัคซีนให้แมว
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก มีไข้
  • ขี้ตาและน้ำมูกเริ่มข้นขึ้นและเหนียวขึ้น
  • การใช้ชีวิตของแมวเปลี่ยนไป เช่น เริ่มกินข้าวน้อยลง หลบซ่อนตัวมากขึ้น
  • แมวมีโอกาสไปเจอกับแมวตัวอื่นนอกบ้านหรือไม่/เลี้ยงแมวระบบเปิดหรือไม่

สิ่งที่อยากให้เจ้าของแมวเข้าใจ

จะเห็นว่าอาการแมวตาแฉะไม่ใช่อาการที่จำเพาะกับโรคใดเพียงโรคหนึ่งเท่านั้น อาการตาแฉะเป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาเหนือน้ำเท่านั้น หน้าที่ค้นหาสาเหตุที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนี้ขอให้เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ เพราะแมวแต่ละตัวที่มีอาการตาแฉะเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสาเหตุมาจากสิ่งเดียวกันและวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละเคส

การซื้อยาหยอดตาแมวมาหยอดให้แมวเองอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและในบางกรณีก็ทำให้แมวแย่ลงด้วยซ้ำ ตัวผู้เขียนเองทราบดีว่าไม่มีสิทธิ์ในการห้าม แต่อยากขอเป็นเสียงหนึ่งในการตั้งคำถามแก่เจ้าของสัตว์ที่กำลังจะออกไปซื้อยาให้แมวเองว่ามันคุ้มหรือไม่กับชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่เป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว


อ้างอิง

  1. Little, S., 2012. The Cat. St. Louis, Mo.: Elsevier Saunders.
  2. https://wsava.org/wp-content/uploads/2020/01/Recognition-Assessment-and-Treatment-of-Pain-Guidelines.pdf
  3. https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1016/j.jfms.2009.09.010

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า