กระต่าย ดูเหมือนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายไม่ยากเย็น แต่ร่างกายน้องค่อนข้างบอบบางมาก รู้หรือไม่ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในกระต่ายทุกเพศทุกวัยคือ ปัญหาของระบบย่อยอาหาร ทั้งท้องอืดและท้องเสีย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของกระต่ายแตกต่างไปจากสุนัขและแมวอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกกระต่ายท้องเสียมักมีอาการรุนแรงกว่าที่เราคิด ถ้าเจ้าของไม่ได้สังเกตอาการและไม่ทราบว่าลูกกระต่ายเริ่มมีอาการป่วย หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่ได้รับการรักษาก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้
ลูกกระต่ายท้องเสียฉุกเฉินหรือไม่?
บอกได้เลยว่า ฉุกเฉิน!!! ลูกกระต่ายบอบบางและอ่อนแอมากในช่วงแรกของชีวิต อาการท้องเสียอาจทำให้ลูกกระต่ายเสียชีวิตได้ใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว อาการปวดท้องรุนแรงและน้ำตาลในเลือดต่ำ
อาการที่บ่งบอกว่าลูกกระต่ายท้องเสีย
- ซึม (ถ้าเลี้ยงกระต่ายหลายตัว ลูกกระต่ายที่ป่วยจะแยกตัวไปอยู่เงียบ ๆ)
- นั่งนิ่ง ลูกกระต่ายไม่ค่อยขยับตัว ไม่วิ่งเล่นเหมือนเดิม
- ไม่แต่งตัว (grooming)
- กินอาหารลดลงหรือไม่กินอาหารเลย
- นั่งขดตัว (ท่าเหมือนแม่ไก่กกไข่) ไม่นอนเหยียดยาว
- อุจจาระปริมาณลดลง เม็ดขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ไม่กลมเหมือนอุจจาระปกติ
- อุจจาระเหลว ปนเมือกหรือเจล กลิ่นเหม็นคาว
- กัดฟัน ปวดเกร็งท้อง
- อ่อนแรง
- อาจพบอาการชัก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ในลูกกระต่ายที่ไม่กินอาหารและถ่ายเหลวปริมาณมาก
จากอาการที่กล่าวมา จะเห็นว่าอาการท้องเสียไม่ใช่อาการแรกที่ลูกกระต่ายแสดงออกมา ซึ่งแสดงว่า กว่าลูกกระต่ายจะแสดงอาการให้เจ้าของรู้ว่าท้องเสีย อาจป่วยมาแล้วอย่างน้อย 1-2 วัน เมื่อมีอาการท้องเสียให้เห็นอาจสายเกินไป ลูกกระต่ายป่วยหนักและมีโอกาสเสียชีวิตได้ สำคัญมากที่เจ้าของต้องสังเกตอาการลูกกระต่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 7 วันแรกที่รับมาเลี้ยงว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าพบอาการผิดปกติ ควรพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน
หมายเหตุ กระต่ายทุกวัย อาการท้องอืดและท้องเสียมักจะมาคู่กันเสมอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนก็ตาม เนื่องจากกลไกการย่อยอาหารของกระต่ายอาศัยเยื่อใยอาหาร (fiber) และน้ำช่วยในการขับเคลื่อนอาหารไปตามลำไส้ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมักมีอาการท้องอืด (ลำไส้เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ) และเมื่ออาหารค้างอยู่แบบนั้นนานก็เกิดเสียสมดุลแบคทีเรียและยีสต์ในลำไส้ได้ เปรียบเทียบง่าย ๆ กับอาหารบูดในลำไส้นั่นเอง ซึ่งอาจจะทำให้ท้องเสียตามมา
ลูกกระต่ายท้องเสียเกิดจากอะไรกันแน่นะ
1. อาหาร
รู้หรือไม่ ลูกกระต่ายย่อยนมวัวได้ไม่ดีนักและการหย่านมแม่เร็วเกินไป อาจทำให้ลูกกระต่ายมีความเสี่ยงที่จะท้องเสียรุนแรงได้
อาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกกระต่ายในช่วงแรกเกิดถึงหย่านม คือ “นมแม่” ตามปกติลูกกระต่ายหย่านม อายุ 4-6 สัปดาห์1 หลังหย่านมแล้วอาหารสำหรับลูกกระต่ายคือหญ้าแห้งอัลฟัลฟ่า (Alfalfa hay) จนถึงอายุ 6 เดือน ค่อยเริ่มเปลี่ยนเป็นหญ้าแห้งชนิดอื่น
ลูกกระต่ายที่ท้องเสีย มักเกิดในกรณีที่ลูกกระต่ายกินนมชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่นมแม่ โดยเฉพาะนมวัว เนื่องจากลูกกระต่ายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมวัวได้ ดังนั้นนมทดแทนที่ใช้เลี้ยงลูกกระต่ายแทนนมแม่ แนะนำให้ใช้นมสำหรับลูกสุนัข ลูกแมวหรือนมแพะ ป้อนทุก 2-3 ชั่วโมง
การย่อยอาหารของลูกกระต่ายช่วงก่อนหย่านมและเพิ่งหย่านมยังทำงานได้ไม่ค่อยดีเนื่องจาก แบคทีเรียและยีสต์ที่ช่วยย่อยอาหารยังมีไม่มาก ดังนั้น ควรระมัดระวัง!!! อย่าเพิ่งลองให้ลูกกระต่ายแรกเกิดชิมผักหรือผลไม้สด เพราะอาจจะท้องเสียได้ง่าย ๆ
หลังหย่านมแนะนำให้กินหญ้าอัลฟัลฟ่าไปก่อนในช่วงแรกและเปลี่ยนเป็นหญ้าชนิดอื่นๆ เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ถ้าอยากให้ลูกกระต่ายลองกินผักหรือผลไม้ เจ้าของสามารถให้ผักหรือผลไม้ที่มีเยื่อใยอาหารสูง เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ระบบย่อยอาหารของลูกกระต่ายเริ่มทำงานได้ดีขึ้น2 ลองเลือกผักและผลไม้ที่มีเยื่อใยสูงชิ้นเล็กๆ ที่เหมาะสมกับกระต่ายในช่วงวัยนี้ได้แก่ แอปเปิ้ล สาลี่ แครอท หญ้าขนสด เป็นต้น
เจ้าของสามารถวางหญ้าอัลฟัลฟ่าให้ลองกินได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน จะช่วยให้ทางเดินอาหารปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับลูกกระต่ายที่อยู่กับแม่ตลอดมักไม่ค่อยมีปัญหาระบบย่อยอาหาร เนื่องจากลูกกระต่ายกิน “อึพวงองุ่น” ของแม่ที่มีแบคทีเรียและยีสต์ที่ช่วยปรับสมดุลในลำไส้และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
2. ความเครียด
เคยไปนอนบ้านคนอื่นแล้วเกิดอาการท้องผูกหรือไม่? ลูกกระต่ายก็เช่นกัน ความเครียดที่เกิดขึ้นกับลูกกระต่ายที่เพิ่งรับมาเลี้ยง เกิดจากความไม่คุ้นเคยทั้งเจ้าของใหม่ บ้านใหม่ อาจรวมไปถึงการเดินทางและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ที่บ้าน ก็เป็นสาเหตุของความเครียดและความกลัวของลูกกระต่ายทั้งนั้น เมื่อเกิดความเครียดลูกกระต่ายอาจกินน้ำและอาหารน้อยลง นั่นเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ นำไปสู่อาการท้องอืดและลูกกระต่ายท้องเสียหลังย้ายบ้านได้
3. ติดเชื้อในทางเดินอาหาร
(บทความนี้กล่าวถึงเฉพาะสาเหตุการท้องเสียติดเชื้อที่พบบ่อย ๆ นะคะ)
“ลูกกระต่ายที่มีอาการท้องเสียอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะลูกกระต่ายที่ถูกเลี้ยงอย่างแออัด มีโอกาสติดเชื้อได้ตั้งแต่แรกเกิดผ่านทางการเลียอึแม่หรือกระต่ายตัวอื่น ๆ”
3.1 เชื้อบิด หรือ Coccidia
เชื้อบิดเป็นเชื้อโปรโตซัวที่พบว่าเป็นสาเหตุทำให้ลูกกระต่ายท้องเสีย หลังจากได้รับเชื้อผ่านการกินอึที่ปนเปื้อนเชื้อบิดเข้าไป ลูกกระต่ายจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร ท้องอืด (อุจจาระน้อยลง) และท้องเสียรุนแรงในเวลาต่อมา
บางครั้งพบว่าช่วงแรกๆ ที่รับมาเลี้ยงอาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย อุจจาระเป็นก้อนกลม แต่สามารถตรวจพบเชื้อบิดในอุจจาระที่ดูปกติได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าลูกกระต่ายที่เรารับมาเลี้ยงปลอดภัยจากเชื้อบิดหรือไม่ เจ้าของสามารถพาลูกกระต่ายไปตรวจสุขภาพและตรวจอุจจาระที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกได้
3.2 การติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร เนื่องจากเสียสมดุลของแบคทีเรียและยีสต์ที่ช่วยในการย่อย (Dysbiosis)
กรณีนี้ลูกกระต่ายไม่ได้ติดเชื้อมาจากที่อื่น แต่เกิดจากแบคทีเรียและยีสต์ที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้เกิดเสียสมดุล จนทำให้แบคทีเรียตัวร้ายที่ทำให้ท้องเสีย (ซึ่งมีอยู่แล้วในทางเดินอาหาร) เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนแบคทีเรียดี ๆ ในลำไส้ลดน้อยลง สาเหตุนี้พบได้บ่อยและใกล้ตัวกว่าที่คิด มักเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด กินอาหารหรือน้ำลดลง กินอาหารพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตเยอะ ๆ กินอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ เป็นต้น
บทสรุป
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ลูกกระต่ายท้องเสียเกิดจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ความเครียดและการติดเชื้อ อาการท้องอืดท้องเสียที่เกิดขึ้นกับกระต่ายเป็นอาการฉุกเฉิน!! อาจรุนแรงจนเสียชีวิตจากความเจ็บปวด ร่างกายขาดน้ำจนช็อกหรือติดเชื้อในทางเดินอาหารอย่างรุนแรงได้
สิ่งสำคัญในการเริ่มเลี้ยงลูกกระต่ายคือ ความเข้าใจในพฤติกรรม เช่น การกิน อาหารกระต่ายที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย การแต่งตัว การเล่นของลูกกระต่าย ลักษณะอุจจาระ เป็นต้น เพราะกระต่ายไม่ใช่สัตว์ที่ต้องการเล่นกับเจ้าของตลอดเวลา ทำให้เจ้าของต้องเป็นผู้สังเกตพฤติกรรมของกระต่ายเอง ถ้าหากรู้เร็วว่ากระต่ายเริ่มมีอาการป่วย โอกาสหายดีก็มีมากขึ้น
อ้างอิง
1. Bonnie Ballard and Ryan Cheek. 2017. Exotic Animal Medicine for the Veterinary Technician. Blackwell Publishing. Oxford, UK
2.https://www.petcoach.co/article/rabbit-nutrition-diet-requirements-and-feeding-rabbits-at-d/