ทำไมเรื่องฟันกระต่ายจึงเป็นปัญหาสำคัญ?
ฟันกระต่าย…
“กระต่ายฟันยาว” ปัญหายิ่งใหญ่ของกระต่าย ทราบหรือไม่ว่า อาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อย ๆ ในกระต่ายเกิดจากปัญหาช่องปากและฟัน เช่น กระต่ายน้ำลายไหล กระต่ายน้ำตาไหล กระต่ายกินอาหารลดลง หรือกระต่ายเป็นฝีรากฟัน ทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นที่กระต่ายฟันยาว
ฟันกระต่ายไม่เหมือนกับฟันของมนุษย์ เนื่องจากรากฟันของกระต่ายมีเซลล์พิเศษ (Germinal tissue) ที่สามารถสร้างฟันให้งอกยาวขึ้นได้ตลอดเวลา1 เหมือนเล็บของเราที่ยาวขึ้นทุกวัน ดังนั้น กระต่ายจำเป็นต้องควบคุมความยาวของฟัน ไม่ให้ยาวจนเคี้ยวอาหารไม่ได้
จุดเริ่มต้นของกระต่ายฟันยาว มี 3 สาเหตุหลัก ดังนี้
- อาหารที่นุ่มเกินไปจนไม่สามารถขัดฟันกระต่ายให้สั้นลงได้
- พันธุกรรมของกระต่ายบางสายพันธุ์ เช่น กระต่ายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ (Netherland dwarf)1,2 ซึ่งเป็นกระต่ายสายพันธุ์เล็ก หน้าสั้น พบว่ากระต่ายบางตัวมีปัญหาฟันหน้าไม่สบกันแต่กำเนิด
- อุบัติเหตุ เช่น แทะกรง ตกจากที่สูง ฟันหัก ฟันแตก โดยเฉพาะฟันหน้ามีโอกาสทำให้ฟันเบี้ยวและเกิดปัญหาฟันไม่สบตามมา
อาหารหลักของกระต่ายคือ
เมื่อไหร่ควรปรึกษาคุณหมอเรื่องปากและฟันกระต่าย?
- การกินอาหารของกระต่ายเปลี่ยนไป เช่น กินอาหารลดลง เคี้ยวอาหารเสียงดังแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือขณะเคี้ยวมีอาหารบางส่วนร่วงหล่นจากปาก
- กระต่ายเลือกกินแต่อาหารนุ่ม ๆ เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารเม็ด หรือกระต่ายไม่กินก้านแข็งของหญ้าแห้ง เลือกกินแต่ส่วนใบหญ้าที่นุ่มกว่า
- กระต่ายน้ำลายไหล ขนใต้คางเปียก หรือมีกลิ่นปาก
- กระต่ายน้ำตาไหล ขนบริเวณหน้าเปียก
- โครงหน้ากระต่ายเปลี่ยนไป เช่น แก้มบวม กรามมีก้อนผิดปกติ หน้าสองฝั่งดูไม่เท่ากัน
การตรวจช่องปากและฟันกระต่าย
การตรวจช่องปากและฟันของกระต่ายเบื้องต้นโดยสัตวแพทย์ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องวางยาสลบ นอกจากไม่สามารถเปิดดูในปากกระต่ายได้อย่างทั่วถึง อาจจำเป็นต้องวางยาสลบเพื่อหาจุดที่ฟันยาว
การถ่ายภาพรังสี (X-ray) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตรวจฟันกระต่าย เพราะสามารถมองเห็นรากฟันและกระดูกกรามได้อย่างชัดเจน
5 สัญญาณของกระต่ายฟันยาว
1. กระต่ายฟันยาว
เราสามารถสังเกตความผิดปกติของฟันกระต่ายได้ด้วยตัวเอง “เฉพาะฟันหน้าเท่านั้น” การสำรวจในช่องปากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการตรวจฟัน
ตรวจฟันหน้ากระต่ายง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
2. กินอาหารลดลง
กระต่ายที่เริ่มมีปัญหาฟันยาว ทั้งฟันหน้าและฟันกราม จะเริ่มมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร อาจพบว่าฟันที่ยาวกว่าปกติทำให้พื้นที่ในปากแคบลง หรือฟันหน้าที่ยาวทำให้เคี้ยวลำบากและฟันกรามที่งอกยาวเป็นมุมแหลมอาจทำให้ลิ้นและกระพุ้งแก้มเป็นแผล เป็นสาเหตุให้กระต่ายเจ็บจนไม่อยากกินอาหาร
กระต่ายฟันยาวอยากกินอาหารนุ่ม ๆ ที่เคี้ยวง่าย เช่น ผัก ผลไม้ หรืออาหารเม็ด ส่วนหญ้าแห้งที่แข็งกว่า กระต่ายเคี้ยวยากเพราะฟันที่ยาวเป็นอุปสรรคในการเคี้ยวอาหาร เราอาจสังเกตว่ากระต่ายเลือกกินอาหารมากขึ้นหรือขณะเคี้ยวมีอาหารหล่นออกมาจากปาก
3. กระต่ายน้ำลายไหล
กระต่ายน้ำลายไหล ส่วนใหญ่มักเกิดจากแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม หรือการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเหงือกและรากฟัน ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นฝีรากฟันได้
กระต่ายน้ำลายไหล มักมีปัญหาคางเปียก ผิวหนังรอบปากและคางอักเสบ ขนร่วง มีกลิ่นปากรุนแรง
4. กระต่ายน้ำตาไหล
กระต่ายน้ำตาไหลเกี่ยวกับฟันยาวได้เช่นกัน เนื่องจากฟันกรามด้านบนของกระต่ายฟันยาว มีโอกาสเบียดท่อน้ำตาของกระต่าย ทำให้น้ำตาไม่สามารถระบายผ่านทางจมูกได้ จึงดูเหมือนกระต่ายน้ำตาไหลเกือบตลอดเวลา
5. กระต่ายเป็นฝีรากฟัน
กระต่ายที่เป็นฝีรากฟัน มักจะเริ่มจากกระต่ายฟันยาวข้างในปาก จนรากฟันเริ่มโค้งงอและยาวจนทะลุกระดูกกราม ทั้งด้านบนหรือด้านล่างและน้ำลายที่มีเชื้อแบคทีเรียก็จะไหลลงไปตามร่องเหงือกเกิดการติดเชื้อบริเวณกระดูกกรามที่ทะลุ จนเกิดเป็นก้อนฝีรากฟันในที่สุด เจ้าของอาจสังเกตเห็นว่า หน้าสองฝั่งของกระต่ายไม่เท่ากัน คลำหน้ากระต่ายจะพบก้อนนูนขึ้นมาได้
กระต่ายเป็นฝีรากฟัน ส่วนใหญ่มักเลือกกินแต่อาหารนุ่ม ๆ มาเป็นเวลานาน ถ้าหากสังเกตอาการจะพบว่า กระต่ายน้ำลายไหล มีกลิ่นปาก และกระต่ายผอมลงเนื่องจากไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ
กระต่ายเป็นฝีรากฟันรักษาค่อนข้างยาก เพราะกระดูกกรามติดเชื้อจนถูกทำลาย ถ้าปล่อยเอาไว้ไม่ทำการรักษา กระต่ายอาจติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตได้
ควรดูแลอย่างไรเมื่อกระต่ายฟันยาว
กระต่ายฟันหน้ายาว
กระต่ายที่มีปัญหาฟันหน้าไม่สบกัน ฟันเบี้ยว และมีฟันหน้าที่งอกยาวจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ควรได้รับการตัดเล็มฟันที่ยาวทุก 3-4 สัปดาห์ โดยการตัดฟันหน้ามี 2 วิธี ดังนี้
1. ใช้คีมตัดฟัน ต้องใช้ความชำนาญในการตัดฟัน เนื่องจากหากกระต่ายดิ้นหรือตัดฟันไม่ได้มุมที่พอดี อาจทำให้ฟันแตก ฟันหัก หรือรากฟันเบี้ยวได้
2. ใช้อุปกรณ์สำหรับตัดฟันกระต่ายโดยเฉพาะ (The diamond disc) เป็นอุปกรณ์มีความคม ตัดฟันได้เรียบ สามารถกำหนดมุมฟันที่พอเหมาะและไม่ทำให้ฟันหัก
การตัดฟันกระต่ายควรปรึกษาสัตวแพทย์ การตัดฟันเองมีโอกาสที่ฟันจะหักหรือรากฟันเบี้ยวได้
กระต่ายฟันกรามยาว
กระต่ายที่มีปัญหาฟันกรามยาว มักเกิดจากกระต่ายกินอาหารที่นุ่มเกินไปเป็นเวลานานหรือเกิดตามมาหลังจากฟันหน้ายาวแล้วไม่สามารถบดเคี้ยวได้ตามปกติ ขั้นตอนการดูแลกระต่ายฟันกรามยาว ดังนี้
1.ปรึกษาสัตวแพทย์และตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อประเมินว่ากระต่ายฟันยาวมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องกรอฟันกรามหรือไม่
2.ปรับการกินอาหาร เลือกหญ้าแห้งชนิดแข็งให้กระต่ายกินมากขึ้น เช่น หญ้าโอ๊ตและหญ้าธิมโมธี
3.ถ้าหากเป็นฝีรากฟัน ปรึกษาขั้นตอนการรักษากับสัตวแพทย์ เพราะนอกจากการกรอฟันกราม ผ่าตัดฝีรากฟัน กระต่ายยังต้องได้รับยาปฏิชีวนะควบคู่ไปด้วย
Special tips: สำหรับคนรักกระต่าย
เทคนิคฝึกกระต่ายให้กินหญ้าแห้งเก่ง
การปรับอาหารจากกระต่ายที่ชอบกินแต่อาหารนุ่ม ๆ เช่น อาหารเม็ด ผักและผลไม้ ให้กลายเป็นกระต่ายที่กินหญ้าแห้งเก่งนั้น มีระดับความยากในการปรับอาหารของกระต่ายแต่ละตัวไม่เท่ากัน กระต่ายบางตัวอาจเริ่มฝึกจากหญ้าที่กินง่ายเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับหญ้าแห้งก่อน เช่น หญ้าออร์ชาร์ดและหญ้าอัลฟัลฟ่า แต่อย่าลืมว่าหญ้าแห้งที่ค่อนข้างนุ่ม ช่วยขัดฟันกระต่ายได้ไม่ดีเท่าหญ้าแห้งที่แข็งกว่า อ่านบทความ “อาหารกระต่าย” เรื่องเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่
สัตวแพทย์เห็นอะไรในปากกระต่าย
เคยสงสัยหรือไม่ว่าสัตวแพทย์เห็นอะไรเมื่อส่องตรวจฟันกระต่าย และรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่กระต่ายมีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน
กระต่ายฟันยาวมากขึ้น มีมุมแหลมที่คมจนทำให้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้มเป็นแผล ในระยะนี้กระต่ายอาจกินอาหารน้อยลง เลือกกินเฉพาะอาหารนิ่ม ๆ หรือเคี้ยวอาหารข้างเดียว เนื่องจากเจ็บแผลในปาก
การกรอฟันช่วยลดความเจ็บปวดและทำให้กระต่ายกลับมากินอาหารได้ตามปกติ
อย่าลืม!!! สิ่งที่สำคัญที่สุด ฝึกกินหญ้าให้เก่ง เพื่อให้ฟันกระต่ายสึกไปตามธรรมชาติ
กระต่ายฟันยาวจนฟันเริ่มโค้ง ทำให้ฟันที่งอกยาวขึ้นมา ไม่ใช่ฟันตรง ๆ อีกต่อไป ในระยะนี้กระต่ายจะเริ่มเคี้ยวลำบากจากฟันกรามที่ยาวทั้งบนและล่าง
ฟันกรามงอกยาวจนชนกันทำให้เกิดการโค้งงอของฟันขึ้น เพราะฟันยังต้องยาวต่อไปแม้ว่าปากจะแทบไม่มีพื้นที่แล้วก็ตาม (ฟันกระต่ายงอกตลอดเวลาทั้งชีวิต)
ฟันยาวระยะนี้สัตวแพทย์อาจแนะนำให้กรอฟัน เพื่อลดความยาวของฟันลงพร้อมทั้งฝึกกินหญ้าเพื่อรักษาสภาพฟันในระยะยาว
ถ้าโชคดีการกรอฟันอาจช่วยให้มุมการงอกของฟันกลับมาเป็นปกติ แต่ในบางครั้งฟันก็เบี้ยวและโค้งจนเกินเยียวยา อาจต้องถอนฟันในที่สุด
กระต่ายฟันยาวระยะนี้ ฟันโค้งงอ มีน้ำลายไหลมาก มีกลิ่นปาก อาจพบน้ำลายขาวขุ่นคล้ายหนอง จากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปากและฟัน
อาการที่เจ้าของสังเกตเห็น เช่น น้ำลายไหล คางเปียก น้ำลายเหม็น กินอาหารลดลง ผอมลง อึผิดปกติและอาจพบอาการท้องอืดหรือท้องเสีย
การรักษาในระยะนี้ สัตวแพทย์อาจแนะนำให้กรอฟันและพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะหากมีการติดเชื้อในปากหรือฟันที่รุนแรง
ระยะที่แย่ที่สุดของกระต่ายฟันยาว คือ “ฝีรากฟัน” เกิดจากรากฟันยาวจนทะลุกระดูกกรามและมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดเป็นก้อนฝีขึ้น
อาการที่เจ้าของสังเกตเห็นคล้ายกับกระต่ายน้ำลายเหม็น แต่จะพบว่ากระต่ายหน้าบวม หรือมีก้อนปูดขึ้นมาบริเวณคางหรือแก้ม
หากก้อนฝีหรือรากฟันที่ยาวอยู่ใกล้ท่อน้ำตาอาจพบว่ากระต่ายน้ำตาไหลมากผิดปกติ
การรักษาฝีรากฟัน ยาก นาน และแพง เนื่องจากกระต่ายจำเป็นต้องกรอฟันร่วมกับการผ่าตัดก้อนฝี ซึ่งการฟื้นฟูสุขภาพหลังผ่าตัดและทำแผลก็ใช้เวลานานเช่นกัน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความพร้อมของร่างกายก่อนวางยาสลบ เพราะกระต่ายที่เป็นฝีรากฟัน แน่นอนว่าป่วยมานาน มีความเสี่ยงท้องอืด ท้องเสียและการติดเชื้อรุนแรงจากก้อนฝีที่เป็นอยู่
รู้หรือไม่...กระต่ายฟันยาวสัปดาห์ละ 2-2.4 มิลลิเมตร ซึ่งยาวเร็วกว่าเล็บของมนุษย์
สรุป
กระต่ายฟันยาว เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารของกระต่ายโดยตรง ถ้าหากกินอาหารที่เหมาะสม นอกจากฟันจะสั้นไปตามธรรมชาติแล้วยังลดโอกาสเกิดท้องอืดในกระต่ายได้ และที่สำคัญที่สุดกระต่ายฟันยาวหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของกระต่ายไปจนตลอดชีวิต
ฟันยาวที่เบี้ยวโค้งและฝีรากฟันรักษายาก อาจไม่หายขาด การสังเกตอาการกระต่ายฟันยาวและรีบดูแลฟันกระต่ายอย่างรวดเร็วทำให้มีโอกาสรักษาหายมากขึ้น
ดังนั้น ควรพากระต่ายไปตรวจสุขภาพปากและฟันได้ตั้งแต่เป็นลูกกระต่ายหย่านม (อายุ 5-6 สัปดาห์2) เพื่อดูการสบของฟันหน้าและตรวจสุขภาพปากและฟันเป็นประจำทุกปี
อ้างอิง
- Harcourt-Brown, F. and British Small Animal Veterinary Association (2013). BSAVA manual of rabbit surgery, dentistry and imaging. Quedgeley: Bsava.
- Judah, V. and Nuttall, K. (2017). Exotic animal care & management. Boston, Ma, Usa: Cengage Learning.