เมื่อน้องแมวป่วยจำเป็นต้องใส่ลำโพงกันเลียหรือคอลล่าร์ สำหรับทาสแมวบางคนแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ไหนเจ้านายจะเครียด บางตัวพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาคอลล่าร์ออก บางตัวประท้วงไม่ยอมกินข้าว และถ้าเราหลงกลถอดคอลล่าร์ออกล่ะก็ งานเข้าแน่ ๆ มาดูวิธีใส่คอลล่าร์แมวและการเลือกคอลล่าร์ให้เหมาะสมกันเลย
Total Time: 5 minutes
เตรียมคอลล่าร์ให้พร้อม
Elizabeth Collar หรือลำโพงกันเลีย ก็คือคอลล่าร์พลาสติกที่คุณหมอมักจะสั่งจ่ายในกรณีดังต่อไปนี้
แมวหลังผ่าตัด
แมวเป็นแผลตามลำตัว
แมวคันหู
แมวเป็นแผลที่กระจกตา
โดยตัวคอลล่าร์เองทำมาจากพลาสติก ความแข็งและความยืดหยุ่นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคุณภาพของพลาสติก แต่โดยทั่วไปแล้วคอลล่าร์แบบนี้จะมีรูปร่างที่คล้ายคลึงกันและวิธีการใช้ไม่ต่างกัน
ขั้นตอนแรก เตรียมคอลล่าร์ให้พร้อมโดยการสอดแกนพลาสติกให้เข้ากับฐานของคอลล่าร์ ซึ่งควรสอดให้ถูกด้านตามรูปภาพข้างบนเนื่องจากหากแมวทานอาหารเลอะเทอะจะได้ทำความสะอาดได้ง่าย ๆ ไม่ติดแกนพลาสติกข้างใน และแกนพลาสติกจะได้ไม่รบกวนแมวเวลาใส่คอลล่าร์ด้วย
วัดขนาดคอของแมวเพื่อประกอบคอลล่าร์
คอลล่าร์ที่เราซื้อมาจะสามารถปรับระดับตามขนาดคอของแมวเราได้ ให้นำคอลล่าร์ไปวัดรอบคอของแมวดูก่อนเพื่อปรับระดับให้เหมาะสม เมื่อได้ระดับที่เหมาะสมแล้วให้สอดแกนพลาสติกเพื่อทำให้คอลล่าร์พร้อมนำไปใช้งาน
ใส่ปลอกคอเข้าไปในห่วง
ใส่ปลอกคอเข้าไปในห่วงที่เราทำขึ้นมา แล้วนำไปสวมใส่คอแมว หากไม่มีปลอกคอสามารถใช้ผ้าดิบทดแทนได้ โดยใช้ผ้าดิบชนิดที่มีลักษณะนุ่ม ขอบไม่แข็งจนเกินไป ความกว้างประมาณ 1 นิ้ว ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดรอบคอของแมว ไม่ว่าจะใช้เชือกหรือปลอกคอควรวัดให้ได้ขนาดที่พอดีไม่รัดแน่นจนเกินไป
ทริคในการวัดขนาดปลอกคอให้พอเหมาะ ทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ 2 นิ้ว ทดสอบว่าปลอกคอของแมวนั้นแน่นเกินไปหรือเปล่า
ให้ใช้นิ้ว 2 นิ้ว (นิ้วชี้และนิ้วกลาง) ในการสอดเข้าไปใต้ปลอกคอ หากสอดเข้าไปได้สะดวกแปลว่าปลอกคอนั้นไม่แน่นจนเกินไป หากสอดสองนิ้วเข้าไปลำบากแนะนำว่าควรคลายปลอกคอแมวให้หลวมมากขึ้น
ให้สังเกตการหายใจของแมวว่าปกติไหม อาจพบว่าแมวพยายามถอดคอลล่าร์ออกหรือเดินแบบงง ๆ เหมือนแมวเดินไม่เป็น ให้เวลาแมวปรับตัวกับคอลล่าร์ดูสักระยะ แมวส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่กับคอลล่าร์ได้ในระยะเวลาไม่นาน
ข้อควรระวัง หากใช้เชือกหรือผ้าดิบทดแทนปลอกคอ ห้ามผูกด้วยเงื่อนตายโดยเด็ดขาด แนะนำให้ผูกเป็นโบว์เอาไว้ หากเกินเหตุฉุกเฉินจะได้คลายคอลล่าร์ออกได้ทัน
Estimated Cost: 140 THB
Supply:
- อาจใช้ผ้าดิบหรือเชือกทดแทนปลอกคอแมว
Tools:
- ลำโพงกันเลียหรือคอลล่าร์แมว
- ปลอกคอแมว
Materials: –
Gatoro’s tip: ไอเดียใส่คอลล่าร์ให้แมวดื้อ
ถ้าแมวดื้อมาก ๆ ไม่ยอมใส่คอลล่าร์ พยายามใส่แล้วก็ถอดคอลล่าร์ออกได้ทุกทีจะทำอย่างไรดีนะ กาโตโระมีทริคดี ๆ มาฝาก “วิธีใส่คอลล่าร์ให้แมวดื้อ” ตามมาดูกันเลย
จากภาพตัวอย่างกรณีใส่คอลล่าร์ให้แมวที่สามารถถอดคอลล่าร์ได้เอง เราจะใช้เชือกหรือผ้าดิบทั้งหมด 4 เส้นด้วยกัน
- ผูกกับคอลล่าร์ (ใช้เป็นปลอกคอแมวก็ได้)
- ผูกเชื่อมระหว่างคอกับอกด้านบน
- ผูกกับอก
- ผูกเชื่อมระหว่างคอกับอกด้านล่าง
เพียงเท่านี้ก็จะทำให้แมวถอดคอลล่าร์ออกได้ยากขึ้น ควรเลือกใช้วิธีใส่คอลล่าร์แบบธรรมดาทั่วไปก่อน หากน้องมีความดื้อและถอดคอลล่าร์ออกได้เองเป็นประจำ ส่งผลต่อการรักษาจึงค่อยพิจารณามาใช้วิธีนี้
ชนิดของคอลล่าร์แมวมีตั้งหลายแบบเลือกแบบไหนดี?
ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการใส่คอลล่าร์ให้แมว ยกตัวอย่างเช่น ต้องการให้แมวใส่คอลล่าร์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาแผลที่ผิวหนังแมว คอลล่าร์ที่ควรเลือกใช้ควรเป็นคอลล่าร์พลาสติกที่มีลักษณะยาวพอที่จะบังไม่ให้แมวเลียแผลได้ มีน้ำหนักเบา ทำความสะอาดง่าย
ในกรณีที่แมวเป็นแผลเรื้อรังต้องใส่คอลล่าร์เป็นระยะเวลานาน คอลล่าร์แฟชั่นก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเพราะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดีกว่า เมื่อส่วมใส่แล้วส่งผลดีต่อจิตใจของผู้เลี้ยง ส่วนใหญ่คอลล่าร์จำพวกนี้จะมีลักษณะคล้ายหมอน มีความนุ่ม สบาย แต่ต้องเลือกชนิดให้เหมาะสมด้วยว่าคอลล่าร์ที่เลือกมานั้นสามารถกันแมวเลียแผลได้จริง ๆ
สรุปข้อดี ข้อเสีย และข้อบ่งใช้ของคอลล่าร์แต่ละชนิดดังนี้
คอลล่าร์พลาสติก Medical grade
คือคอลล่าร์พลาสติกที่สามารถหาซื้อได้ตามโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อและหลายแบบทั้งพลาสติกใส พลาสติกขุ่น หรือบริเวณที่ใส่ปลอกคอมีทั้งแบบห่วงหรือแบบตีนตุ๊กแกที่ปรับระดับได้ เช่น ยี่ห้อ Buster
ข้อดี
- น้ำหนักเบา
- ทำความสะอาดง่าย
- ป้องกันบาดแผลได้ดี
ข้อเสีย
- พลาสติกแข็ง
- ไม่สวย
- แตกหักง่าย
- ใหญ่เทอะทะ
ใช้ในกรณีไหน
- ปกป้องแผลจากการผ่าตัด
- บาดแผลจากอาการบาดเจ็บ
- การพักฟื้นหลังการทำหมัน
- แผลผิวหนังจากอาการคันและเกา
- โรคผิวหนัง
- บาดแผลที่ตาและใบหน้า
คอลล่าร์แฟชั่น
คอลล่าร์แฟชั่นถูกทำขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกอื่น ๆ ให้กับผู้บริโภค ซึ่งคอลล่าร์แบบแฟชั่นมีให้เลือกหลายแบบไม่ว่าจะเป็น หมอนขนมปัง หมอนรองคอ ดอกไม้ เจ้าของสัตว์จะต้องเลือกดูให้แน่ใจว่าแบบที่เราเลือกมานั้นจะสามารถป้องกันไม่ให้แมวเลียในบริเวณที่เราต้องการได้หรือเปล่า
ข้อดี
- สวย ส่งผลดีต่อจิตใจของผู้พบเห็น
- แมวไม่รำคาญ
- นุ่มไม่บาดคอแมว
ข้อเสีย
- ทำความสะอาดยาก
- บางครั้งกันแมวเลียแผลไม่ได้
ใช้ในกรณีไหน
ควรทำการสอบถามความคิดเห็นของสัตวแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอว่าคอลล่าร์แฟชั่นนั้นสามารถใช้กับเคสของแมวเราได้หรือไม่
ส่งท้าย
คอลล่าร์เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยประกอบการรักษาของแมวป่วยในหลายกรณีมาก ๆ การรู้วิธีใส่คอลล่าร์แมวที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของแมวทุกคนควรรู้ เมื่อได้รับการดูแลใส่ใจจากเจ้าของแมวร่วมกับยาจากคุณหมอจะทำให้การรักษาแมวเป็นไปได้อย่างดีแน่นอน
เพื่อน ๆ สามารถร่วมแชร์ประสบการณ์น้องแมวใส่คอลล่าร์ได้ในกล่องความคิดเห็นด้านล่างนี้เลยนะคะ ขอบคุณที่ติดตามผลงานของพวกเราค่ะ