เมื่อเจ้านายของเราป่วย เหล่าทาสแมวทั้งหลายก็กังวลใจกันมากพออยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ชวนหนักใจมากกว่านั้น หนีไม่พ้นการป้อนยาแมว การป้อนยาแมวเป็นทั้งเรื่องหนักใจทั้งกับเจ้าของสัตว์เองและสร้างความเครียดให้กับแมวอย่างมากหากทำไม่ถูกวิธี และอาจก่อให้เกิดอันตรายกับแมวและตัวผู้ป้อนยาได้อีกด้วย วันนี้กาโตโระขอแนะนำวิธีป้อนยาแมว บนพื้นฐานของความเข้าใจว่าแมวแต่ละตัวมีความแตกต่างจึงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ทั้งหมด
ประเมินแมวของคุณก่อนป้อนยา
นิสัย
เจ้าแมวของคุณมีนิสัยอ่อนโยน ไม่กล้าทำร้ายคุณ หรือมีนิสัยไม่ชอบถูกบังคับ ก้าวร้าวและดุร้ายแต่ตะกละ ควรวิเคราะห์นิสัยของแมวเพื่อเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม หากคุณไม่มั่นใจว่าจะสามารถป้อนยาแมวดื้อได้ด้วยตัวคนเดียวแล้วล่ะก็ ให้หาคนช่วยบังคับอีกคนก็จะทำให้การป้อนยารวดเร็วขึ้นและช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายจากการถูกแมวข่วนได้อีกด้วย โดยคนที่จะมาช่วยบังคับควรเป็นคนที่แมวคุ้นเคย จะทำให้แมวตื่นกลัวน้อยกว่าคนที่แมวไม่รู้จัก
ประสบการณ์ถูกป้อนยาครั้งล่าสุดเป็นอย่างไร
หากประสบการณ์ครั้งล่าสุดไม่ค่อยดีนัก แมวเครียดน้ำลายฟูมปาก (อ่านเรื่อง 7 สาเหตุที่มักทำให้แมวน้ำลายไหลที่นี่) ใช้เวลานาน เราควรทำความเข้าใจแมวด้วยว่า แมวมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน เป็นเรื่องปกติที่แมวจะกลัวหากเห็นเราถือซองยาแล้วเดินมาใกล้ ๆ เพราะฉะนั้นเจ้าของอาจต้องเปลี่ยนวิธีการป้อนยา แต่หากครั้งนี้เป็นการถูกป้อนยาครั้งแรกในชีวิตของแมว เราต้องใช้โอกาสนี้สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแมว เพื่อที่จะไม่ให้แมวต่อต้านในครั้งต่อไป
สติสัมปชัญญะ
การป้อนยาแมวทุกครั้ง แมวจะต้องมีสติครบถ้วน หากคุณต้องการป้อนยาแมวหลังทำหมัน คุณต้องรอให้แมวฟื้นตัวจากยาสลบให้ดีก่อน ด้วยการทดสอบการเรียกชื่อแล้วแมวตอบสนอง แมวสามารถลุกขึ้นมากินน้ำได้เองและร้องขออาหาร
โรคประจำตัวของแมว
หากคุณดูแลแมวจรที่ไม่มีประวัติวัคซีน ควรใส่ถุงมือเพื่อป้องกันโรคติดต่อที่สามารถติดต่อจากแมวสู่คนก่อนที่จะทำการป้อนยาแมว หรือใช้อุปกรณ์ช่วยอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเอามือลงไปสัมผัสน้ำลายแมวโดยตรง
สภาวะอารมณ์ของแมวในขณะนั้น
ควรสังเกตอารมณ์ของแมวก่อนทำการป้อนยา คลิ๊กเพื่อดู Cat emotion chart หากเป็นยาก่อนอาหาร แมวบางตัวอาจจะหงุดหงิดเพราะหิวข้าว และไม่ยอมให้ความร่วมมือ ควรสอบถามสัตวแพทย์ผู้ดูแลเพิ่มเติมว่ายาที่จ่ายมาสามารถเปลี่ยนเวลาให้ยาเป็นให้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารได้หรือไม่ แมวบางตัวก็สามารถกินยาที่ผสมในอาหารได้เอง
ตัวช่วยในการบังคับแมว
หลังจากประเมินตัวแมวแล้วเห็นว่าเราไม่สามารถที่จะป้อนยาแมวได้ด้วยตัวคนเดียวแน่ ๆ ควรหาคนมาช่วย โดยแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน คนแรกเป็นคนป้อน อีกคนทำหน้าที่บังคับแมวให้อยู่เฉย ๆ เราสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้ด้วยการตัดเล็บแมว (ไม่ควรทำพร้อมกัน เพราะการตัดเล็บแมวบางตัวก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน)
ผ้าขนหนู ตัวช่วยสารพัดประโยชน์ในโรงพยาบาลสัตว์ ใช้เพื่อป้องกันแมวข่วนได้ดี วิธีการใช้ ให้นำผ้าขนหนูมาห่อตัวแมว โดยไม่ห่อแน่นจนแมวอึดอัดหายใจไม่ออกแต่ก็ต้องมั่นใจว่าคลุมเท้าทั้งหมดไม่ให้ออกมาข่วนหน้าพวกเราได้ วิธีการทดสอบเบื้องต้นว่าห่อผ้าขนหนูแน่นเกินไปหรือไม่ ให้ลองเอานิ้วสอดเข้าไปในผ้าขนหนูบริเวณคอของแมว ถ้านิ้วอย่างน้อยสองนิ้วของเราสอดเข้าไปในผ้าขนหนูได้ ก็แปลว่าเราห่อไม่แน่นจนเกินไป โดยท่านสามารถอ่านบทความ วิธีจับแมว: วิธีจับบังคับแมวเพื่อป้อนยาและฉีดยา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีบังคับแมวแบบต่าง ๆ
ทำซ้ำเช่นเดียวกันกับปลายผ้าขนหนูอีกข้าง
เมื่อถึงเวลาต้องป้อนยาแมว เจ้าของมั่นใจแล้วว่าแมวอารมณ์ดี ทางฝั่งของเจ้าของเองควรเตรียมตัว เตรียมใจ และอุปกรณ์ให้พร้อม เลือกวิธีให้เหมาะสมกับแมวของตัวเอง หากเป็นการป้อนยาแมวครั้งแรก ให้เลือกวิธีที่รบกวนแมวน้อยที่สุดก่อน โดยวิธีต่าง ๆ เรียงตามลำดับการรบกวนแมวจากน้อยไปหามากดังนี้
วิธีป้อนยาเม็ดแก่แมว
ผสมในอาหาร
ก่อนที่จะผสมยาลงไปในอาหาร ควรสอบถามสัตวแพทย์ก่อนว่ายาชนิดนี้สามารถ แบ่งส่วน หัก บด หรือผสมอาหารได้หรือไม่
ควรปล่อยให้แมวหิวมาก ๆ แล้วหักยาผสมลงไปในอาหารแมวปริมาณน้อย ๆ เลือกอาหารที่แมวชอบ ให้แมวกินอาหารส่วนที่ผสมยาให้หมดก่อนจึงเติมอาหารให้แมว
แมวบางตัวเลือกกินมาก เจอเม็ดอะไรแปลก ๆ ในอาหารก็ไม่กินแล้ว ให้ลองใช้วิธีการบดยาให้ละเอียดและผสมลงไปในอาหาร โดยใช้เทคนิคเดียวกัน ผสมลงไปในอาหารที่แมวชอบปริมาณน้อย แล้วให้แมวกินอาหารผสมยาให้หมดก่อนจึงเติมอาหาร
ป้อนเข้าปากแมวโดยตรง
- วางแมวบนพื้นที่เรียบ ไม่ลื่น และมั่นคง เช่น พื้นบ้าน หรือบนโต๊ะ หากพื้นลื่นสามารถนำผ้าขนหนูมาปูบนพื้นเพื่อกันลื่นได้
- ถ้าหากมีคนช่วย แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน คนหนึ่งบังคับแมว อีกคนป้อนยา
- คนจับบังคับ จับให้แมวอยู่ในท่านั่งโดยให้หันหน้าออกจากตัวผู้จับ และจับสองขาหน้าของแมวเอาไว้เพื่อป้องกันผู้ป้อนยาถูกแมวข่วน สามารถใช้ผ้าขนหนูนำมาห่อตัวแมวได้ โดยห่อตัวแมวให้คลุมขาหน้าทั้งสองของแมว
- ผู้ป้อนยาแมว เดินเข้าหาแมวด้านข้างตัวของแมว เพื่อให้แมวมองเห็นเราและไม่รู้สึกตกใจมากจนเกินไป ลองคิดดูว่าอยู่ ๆ มีมือที่มองไม่เห็นมาสัมผัสเราจะน่ากลัวขนาดไหน
เริ่มป้อนยาแมว
หลังจากนั้นปิดปากแมว เพื่อให้แมวกลืนยาลงไป ขั้นตอนนี้ควรกระทำด้วยความรวดเร็ว มั่นใจ และใจเย็น เพื่อให้แมวเกิดความเครียดน้อยที่สุด
มาดูในช่องปากแมวกัน
ใครยังงง ๆ ลองมาดูคลิปกันก่อน
ป้อนให้ได้ในครั้งแรกดีกว่า
หากพลาดในครั้งแรก การป้อนยาแมวในครั้งที่ 2 จะยากกว่าเดิมมาก เพราะแมวเกิดความเครียดและยาส่วนใหญ่ที่เป็นเม็ดแป้งหรือแคปซูล เมื่อเจอน้ำลายแมวจะเกิดความเหนียวและทำให้การปล่อยยาลงไปในปากแมวยากขึ้น
ตัวช่วยในการป้อนยาเม็ดแก่แมว
ที่ป้อนยา (pill popper)
ส่วนใหญ่แล้วมีขายในทุกโรงพยาบาลสัตว์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ร้านรักษาสัตว์ใกล้บ้านคุณ วิธีการใช้คล้าย ๆ กับการป้อนยาด้วยมือ เพียงแต่อุปกรณ์นี้สามารถคีบยาแทนมือเราได้ ช่วยลดความเสี่ยงของการถูกแมวกัดได้ค่อนข้างดีทีเดียว
ที่แบ่งยา
สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ใช้แบ่งยาให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการป้อนยาแก่แมว ในกรณีที่ยามีขนาดใหญ่เกินกว่าคอแมวมาก
วิธีป้อนยาน้ำแก่แมว
ผสมในอาหาร
ให้สอบถามสัตวแพทย์ก่อนว่ายาชนิดนี้สามารถผสมหรือเจือจางลงในอาหารได้หรือไม่ ยาบางตัวอาจทำปฏิกิริยาบางอย่างกับอาหาร หรืออาจเสื่อมสภาพได้ง่ายหลังถูกดูดออกจากขวดยา
หลักการผสมยาน้ำลงไปในอาหารใช้วิธีการเช่นเดียวกับการผสมยาเม็ดลงไปในอาหารคือ ผสมลงไปในอาหารหรือขนมแมวที่แมวชอบในปริมาณน้อย ๆ ให้แมวทานอาหารที่ผสมยาให้หมดก่อน จึงจะให้อาหารเพิ่มเติมต่อไป
ป้อนเข้าปากโดยตรง
ใช้ไซริงค์ดูดยาตามปริมาณที่สัตวแพทย์กำหนด จับบังคับแมวให้อยู่ในท่านั่ง หากมีผู้ช่วยบังคับแมว ให้บังคับโดยใช้มือหรือใช้ผ้าขนหนูช่วยเช่นเดียวกับการบังคับเพื่อป้อนยาเม็ด
ผู้ป้อนยาแมว ให้เข้าหาแมวจากด้านข้างเพื่อให้แมวสังเกตเห็นเราและรู้ตัวก่อนที่เราจะเข้าไปสัมผัส ให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเปิดปากแมว (สิ่งที่แตกต่างจากการจับบังคับเพื่อป้อนยาเม็ดคือ ไม่ต้องเงยหน้าแมวขึ้น ให้หน้าแมวอยู่ในแนวขนานกับพื้นให้ได้มากที่สุด เพราะการเงยหน้าแมวอาจทำให้แมวเกิดการสำลักของเหลวได้ง่าย) และป้อนยาน้ำเข้าบริเวณช่องว่างระหว่างฟันกรามด้านข้างของแมวเท่านั้น ไม่ควรป้อนยาน้ำเข้าด้านหน้าของแมวโดยตรง
แนะนำ
แมวมักไม่ชอบรสชาติของยาน้ำ ระหว่างป้อนยาน้ำแมวอาจสะบัดหัวหรือน้ำลายยืดเพื่อขับยาออก เพราะฉะนั้นหลังป้อนยาเสร็จควรระมัดระวังไม่ให้แมวสะบัดหัว
ควรป้อนในปริมาณที่พอเหมาะ ปริมาณที่พอเหมาะคือปริมาณที่แมวสามารถกลืนลงไปได้ในแต่ละครั้งไม่ล้นออกมาข้าง ๆ ปาก
ส่งท้าย
แมวแต่ละตัวมีนิสัยต่างกัน เพราะฉะนั้นไม่มีสูตรสำเร็จในการป้อนยาแมว เจ้าของสัตว์ควรสังเกตและเลือกวิธีการป้อนยาแมวแต่ละตัวที่แตกต่างกัน การวางแผนและเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม การเข้าหาแมวในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีหลังป้อนยาโดยการให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ล้วนส่งผลต่อความสำเร็จในการป้อนยา แมวบางตัวป้อนยาเม็ดง่ายกว่าป้อนยาน้ำ เจ้าของแมวสามารถปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อขอรูปแบบยาที่เหมาะสมให้กับแมวของเราได้ อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถป้อนยาแมวที่ดุหรือดื้อได้จริง ๆ เทคโนโลยีของยาเพื่อสัตว์เลี้ยงก็พัฒนามาเยอะพอสมควร ณ ปัจจุบัน มียาฆ่าเชื้อบางชนิดที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังของแมวแล้วออกฤทธิ์ครอบคลุมได้นานเป็นสัปดาห์ ข้อมูลในส่วนนี้ลองปรึกษาสัตวแพทย์ได้เลยนะคะ