เจ้าของสุนัขและแมวหลายท่านอาจเคยพบเจอเหตุการณ์ “สุนัขและแมวกินหญ้า” ทั้ง ๆ ที่ก็ให้อาหารตามปกติไม่ได้เลี้ยงให้อดอยากแต่อย่างใด แต่เพราะสาเหตุอะไรสุนัขและแมวจึงหันมากินหญ้า บางตัวหลังจากกินหญ้ามีอาการอาเจียนตามมา หรือการกินหญ้าจะบ่งบอกอะไรบางอย่างให้เจ้าของสุนัขและแมวทราบ นอกจากนั้นการกินหญ้าเป็นอันตรายหรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่เจ้าของจะต้องให้สุนัขและแมวของท่านเลิกกินหญ้าอย่างเด็ดขาด
ทำไมสุนัขและแมวจึงกินหญ้า
การกินหญ้ารวมทั้งกินต้นไม้ต่าง ๆ ของสุนัขและแมวนั้นมีหลายเหตุผล ทั้งเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายและพฤติกรรมเฉพาะตัวของสุนัขและแมวเอง ซึ่งแตกต่างกันไป ดังนี้
1. เป็นพฤติกรรมปกติ
มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของสุนัขและแมวเคยผ่านการกินหญ้าหรือต้นไม้มาแล้วทั้งนั้น โดยที่สุนัขและแมวไม่ได้มีอาการป่วยใดใด อาจเกิดจากเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้
- สุนัขและแมวเด็กต้องการเล่นหรือกัดแทะอะไรสักอย่าง และต้นไม้หรือหญ้าในสนามก็ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีในการกัดแทะ และอาจกินเข้าไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัขที่ซนมาก ๆ อาจไม่ได้กินแค่หญ้าหรือต้นไม้ อาจกินสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เช่น ของเล่น เสื้อผ้า ก็เป็นไปได้
- ชอบรสหรือกลิ่นของหญ้าหรือต้นไม้ คล้าย ๆ ความหลงใหลของแมวที่มีต่อต้นกัญชาแมว ซึ่งแมวจะแสดงอาการเคลิ้ม ถูไถ และอาจกินเข้าไปด้วย
2. ความเบื่อหน่าย
โดยเฉพาะสุนัขหรือแมวที่เจ้าของไม่ค่อยมีเวลา ไม่ได้รับความสนใจ หรือเป็นสุนัขและแมวที่มีความซึมเศร้า อาจเริ่มกัดแทะสิ่งต่างๆ รวมทั้งหญ้าและต้นไม้ ซึ่งบางครั้งก็กินเข้าไปด้วย การกินหญ้าหรือต้นไม้ในกรณีนี้มีความแตกต่างจากพฤติกรรมที่สุนัขและแมวกินหญ้าหรือต้นไม้ เพราะความชอบหรือเล่น โดยเจ้าของอาจพบพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น สุนัขหรือแมวเลียตัวเองมากกว่าปกติ บางตัวเลียมากจนเป็นแผล หรือแทะกินขนเข้าไปด้วย ไม่ร่าเริง เจ้าของอาจสังเกตเห็นสุนัขหรือแมวทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น เดินวน เลียตัวเอง เป็นต้น
3. มีอาการป่วยแอบแฝงอยู่
สุนัขและแมวกินหญ้าเพราะมีอาการป่วยจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการไม่สบายตัว ต้องการอาเจียน สุนัขและแมวก็จะเดินไปกินหญ้า ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและทำให้อาเจียนในที่สุด (การระคายเคืองในกรณีนี้ไม่ได้เกิดจากสารพิษในหญ้าหรือต้นไม้ แต่เกิดจากความหยาบของหญ้า โดยเฉพาะแมว เป็นสัตว์กินเนื้อเป็นหลัก ไม่สามารถย่อยหญ้าได้ หลังกินหญ้าจะเกิดการอาเจียนหรืออึออกมาเป็นหญ้าอย่างแน่นอน)
การขาดสารอาหารบางชนิด ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สุนัขและแมวกินหญ้าหรือต้นไม้ เช่น สุนัขและแมวที่ขาดเยื่อใยที่ได้รับจากอาหาร (fiber) ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ก็จะหาทางออกโดยการออกไปกินหญ้าหรือต้นไม้ ส่วนในกรณีแมวพบว่า แมวที่ขาดกรดโฟลิค ซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง มีพฤติกรรมการกินหญ้าเช่นกัน
การกินหญ้าเป็นอันตรายหรือไม่
“ความอันตรายของการกินหญ้าหรือต้นไม้ ขึ้นอยู่กับชนิดของหญ้าหรือต้นไม้ที่กินเข้าไป”
เจ้าของสามารถตรวจสอบชนิดที่เป็นพิษได้จากเว็บไซต์ ASPCA และนอกจากนั้นความหยาบของหญ้าหรือต้นไม้ก็อาจทำให้ทางเดินอาหารเป็นแผลได้ในขณะกลืน
ทำอย่างไรให้สุนัขและแมวเลิกกินหญ้า
ถ้าการกินหญ้าหรือต้นไม้มันเป็นปัญหา ต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะหยุดพฤติกรรมนี้ได้…
1. เจ้าของสุนัขและแมวทำความเข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมการกินหญ้าของสุนัขและแมวก่อนเป็นอันดับแรก ดังนี้
- เล่นหรือชอบรสหญ้า (สุนัขหรือแมวดูมีความสุขดี ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ)
- เบื่อหน่าย
- ป่วยจริง สุนัขหรือแมวมักมีอาการป่วยอื่น ๆ ให้เจ้าของสังเกตได้ถึงความผิดปกติ ควรปรึกษาสัตวแพทย์
- ถ้าสงสัยว่าเกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เจ้าของอาจลองปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติมหรือเลือกใช้อาหารสูตรที่มีเยื่อใยสูง ในกรณีที่สงสัยว่าสุนัขหรือแมวกินหญ้าเพราะขาดเยื่อใยในอาหาร
2. เก็บหญ้าหรือต้นไม้ที่ไม่อยากให้กินออกไปเลย (แต่ควรไปหาสาเหตุตามข้อ 1 ก่อน)
ตัวอย่างต้นไม้ที่กินได้อย่างปลอดภัย
สรุป
สุนัขและแมวกินหญ้าได้ ไม่เป็นอันตรายถ้าเจ้าของเลือกชนิดหญ้าหรือต้นไม้ที่เหมาะสมให้กับสุนัขและแมวของท่าน
สาเหตุของพฤติกรรมกินหญ้าและต้นไม้ ดังนี้
- พฤติกรรมการกินหญ้าเพราะชอบกิน ชอบเล่น ชอบกลิ่นหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ สามารถพบเจอได้ในสุนัขและแมวทุกเพศทุกวัย เจ้าของไม่ต้องกังวลกับพฤติกรรมนี้ แต่ควรแน่ใจว่าหญ้าหรือต้นไม้ที่สุนัขและแมวกินไม่เป็นอันตราย
- สุนัขและแมวกินหญ้าเพราะเบื่อ อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร กรณีนี้มักพบอาการซึม อาจกัดแทะหรือทำร้ายตัวเอง กินขน หรือเดินวน ร่วมด้วย เจ้าของควรหากิจกรรมทำร่วมกันกับสุนัขและแมว หรือปรึกษาสัตวแพทย์สำหรับการปรับพฤติกรรมนี้ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ไข สุนัขและแมวของท่านอาจป่วยหนักได้จากความเครียด
- สุนัขและแมวกินหญ้าเพราะป่วย เช่น ไม่สบายท้อง ต้องการอาเจียน หรือขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะ เยื่อใยอาหาร (fiber) หรือแมวที่ขาดกรดโฟลิค (folic acid)