โรคพิษสุนัขบ้าฉบับเข้าใจง่าย

ระวัง!!! หมาบ้าหน้าร้อน เป็นคำเตือนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่คุ้นหูคนไทยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ในอดีต อาจเข้าใจว่าหมาบ้ามักพบเจอได้มากในช่วงฤดูร้อนของเมืองไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดปี ไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศแต่อย่างใด และยังพบรายงานการติดเชื้อได้เกือบทุกแห่งบนโลก ยกเว้น ทวีปแอนตาร์กติกา

“พื้นที่ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดคือ ทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกา ซึ่งอัตราการเสียชีวิตภายหลังติดเชื้อทั้งคนและสัตว์สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลจาก WHO

รู้จัก “Rabies Virus”

Rabies virus คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า มีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปตามพื้นที่ระบาดต่าง ๆ ของโลก สามารถพบการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์เลือดอุ่น เช่น ค้างคาว สุนัข แมว วัว แพะ แกะ กระต่าย มนุษย์ เป็นต้น

สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าจะแพร่เชื้อผ่านทางน้ำลายไปสู่สัตว์ตัวอื่น ๆ ผ่านทางบาดแผล ที่ถูกกัดหรือข่วน แล้วสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ

ค้างคาวเป็นตัวอมโรค กล่าวคือพบเชื้อไวรัสในน้ำลาย แพร่เชื้อได้แม้ค้างคาวจะไม่แสดงอาการป่วย แต่ไม่ใช่ค้างคาวทุกตัวจะมีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า เฉพาะบางตัวเท่านั้นที่มีการติดเชื้อเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องรังเกียจค้างคาว นอกจากคุณจะถูกกัดหรือข่วน กรณีนั้นควรไปพบแพทย์

เกิดอะไรขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเลือดอุ่นทุกชนิดที่โดนกัด ข่วน หรือมีบาดแผลและสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะพบเจอชะตากรรมไม่แตกต่างกันกับสัตว์ที่มากัด อาการของโรคจะแสดงออกมาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งที่โดนกัด ยิ่งอยู่ใกล้สมองมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงอาการได้รวดเร็ว สำหรับภูมิคุ้มกันของสัตว์ ถ้าร่างกายแข็งแรงก็มีโอกาสแสดงอาการช้ากว่าสัตว์ที่อ่อนแอ แต่เมื่อถูกกัดหรือข่วนแล้ว มีการสัมผัสน้ำลายที่แผล มีโอกาสติดเชื้อแน่นอน นอกจากนั้นชนิดของเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าก็มีผลต่อระยะเวลาในการแสดงอาการเช่นกัน

สัตว์ได้รับเชื้อไวรัสผ่านทางบาดแผลและเชื้อไวรัสจะเข้าไปสู่ระบบประสาทผ่านทางเส้นประสาท ไขสันหลังและมีเป้าหมายที่สมองในที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายเดือนขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัดและช่วงแรกที่เชื้อไวรัสเข้าไปในสมองอาจยังไม่แสดงอาการ เนื่องจากสมองยังไม่ถูกไวรัสทำลาย ในขณะเดียวกันเชื้อไวรัสก็เข้าสู่ต่อมน้ำลายด้วย ซึ่งไวรัสพร้อมแล้วที่จะแพร่ไปสู่สัตว์อื่น ๆ ทั้งที่ยังไม่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนสัตว์ที่แสดงอาการทางระบบประสาทมักจะเสียชีวิตภายใน 7 วัน

สุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
สุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากรามแข็งกลืนน้ำและอาหารไม่ได้ ชักเกร็ง เป็นอาการสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มแสดงเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่สมอง ซึ่งใช้เวลา 3-12 สัปดาห์ ภายหลังจากที่สัตว์ได้รับเชื้อไวรัส (ไวรัสผ่านเข้าสู่บาดแผล เดินทางผ่านเส้นประสาท ไขสันหลัง สมองและเข้าสู่ต่อมน้ำลายในที่สุด) เมื่อไวรัสเข้าสู่สมองจะใช้เวลานาน 3-5 วัน ทำลายเนื้อสมองมากพอที่จะทำให้แสดงอาการทางระบบประสาท อ้างอิงจาก CDC

สัตว์ที่ติดเชื้ออาจแสดงอาการเริ่มแรก เช่น เบื่ออาหาร มีไข้ อาเจียน อ่อนแรง ซึ่งอาการป่วยดังกล่าวเหมือนอาการป่วยด้วยโรคอื่นๆ ไม่สามารถฟันธงได้ว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ต่อมาสัตว์ป่วยจะเริ่มแสดงอาการชัดขึ้น ดังนี้

พิษสุนัขบ้าอาการ

สถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย

ประเทศไทยพบคนและสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าทุกปี รายงานสถานการณ์ในช่วงปี 2562-2563 (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ วันที่ 11 มีนาคม 2563) พบการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในหลายจังหวัด กระจายอยู่เกือบทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานพบการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในเขตจังหวัดราชบุรี ชลบุรี สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ สงขลา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง และเพชรบุรี

รายงานโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย

สัตว์ที่มีรายงานตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงที่สุดคือ สุนัข มีรายงานการติดเชื้อ 80% ของสัตว์ที่ส่งตรวจทั้งหมด รองลงมาคือวัว (13%) และแมว (6%) ส่วนแพะ ควาย และหมู ตรวจพบการติดเชื้อรวมกันเพียง 1% ของรายงานการติดเชื้อทั้งหมด

ปี 2562 มีการส่งตรวจยืนยันการติดเชื้อ 7,002 ตัวอย่าง พบผลบวก คือติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า จำนวน 372 ตัวอย่าง แม้จะดูเหมือนตัวเลขการติดเชื้อไม่เยอะ แต่โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ความน่ากลัวของโรคนี้คือ ถ้าติดเชื้อแล้วแทบไม่มีโอกาสเลยที่จะรอดชีวิตทั้งในคนและสัตว์ติดเชื้อ

ถ้าสงสัยว่าถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน ควรทำอย่างไร?

กรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ถูกสัตว์ที่มีอาการน่าสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนของสัตว์ เช่น สุนัขจร แมวจร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์ป่า กัดหรือข่วน สิ่งที่ต้องทำไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของท่านหรือตัวท่านเอง ตามตัวอย่าง “ทำอย่างไรเมื่อถูกสุนัขกัด” ดังนี้

หมากัดควรทำอย่างไร

การทำแผลสำหรับผู้ถูกสัตว์ต้องสงสัยกัด
ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที ห้ามบีบเค้นแผล จากนั้นซับแผลให้แห้งด้วยผ้าก๊อซสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน (Povidone Iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) หรือทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture Iodine) หรือเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล ปิดแผลและรีบไปหาหมอ

อ้างอิงจาก เมื่อถูกสุนัขกัด ปฏิบัติตัวอย่างไร กระทรวงสาธารณสุข

อ่านวิธีการทำความสะอาดแผล กักสัตว์และสังเกตอาการอย่างละเอียด คลิ๊ก คนโดนแมวกัดนิดเดียว อันตรายหรือแค่ชิล ๆ

วัคซีนพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ สามารถเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกได้เมื่ออายุ 3 เดือน และกระตุ้นวัคซีนซ้ำอีก 1 ครั้ง หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก 2-4 สัปดาห์ สัตว์จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ (ข้อมูลจาก WSAWA) ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ วัคซีนสุนัข: 9 คำถามพบบ่อยเมื่อนำสุนัขไปฉีดวัคซีน และ วัคซีนแมว เรื่องที่ต้องรู้ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน

บทสรุป

กรณีที่สัตว์เลี้ยงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน สัมผัสน้ำลายปริมาณมาก อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีโรคระบาด หรือมีสัตว์ที่เลี้ยงด้วยกันมีอาการน่าสงสัยว่าจะติดเชื้อ อาจพิจารณาเริ่มฉีดวัคซีนได้ก่อนอายุ 3 เดือน และกระตุ้นวัคซีนซ้ำที่ 2-4 สัปดาห์

กรณีที่สัตว์เลี้ยงถูกกัดหรือข่วน โดยสัตว์ที่น่าสงสัยว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ควรพาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลสัตว์ให้เร็วที่สุด ปรึกษาสัตวแพทย์ของท่านเรื่องการทำความสะอาดแผล การฉีดวัคซีน การแยกสัตว์เลี้ยงไว้ดูอาการ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดโดยเฉพาะน้ำลายของสัตว์ ถ้าเป็นไปได้กักตัวสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการ สัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและแสดงอาการแล้ว จะเสียชีวิตภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน


อ้างอิง

  1. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/rabies
  2. https://pets.webmd.com/dogs/rabies-dogs#1
  3. https://www.cdc.gov/rabies/index.html
  4. https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/status-report/rabies-menu/report-rabies-menu
  5. http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=505

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า