เมื่อกระต่ายสุดที่รักเกิดป่วย เช่น ในลูกกระต่ายที่ท้องเสีย มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา จะมีวิธีป้อนยากระต่ายอย่างไรให้ปลอดภัยกับตัวกระต่ายและผู้ป้อน ใช้อุปกรณ์น้อย กระต่ายไม่เครียด และยอมให้เราป้อนยาตลอดการรักษาจนหายดี
เพราะกระต่ายตัวน้อยนั้นแสนจะกระโดดเก่ง มีแรงจากขาหลังที่แข็งแรง อาจทำให้บาดเจ็บบริเวณหลังหรือส่วนท้ายตัวในขณะบังคับป้อนยาได้
เวลาที่ใช้ 5 minutes
การเตรียมอุปกรณ์ ยา และสถานที่ให้พร้อมที่จะป้อนยากระต่าย
1. เตรียมอุปกรณ์ในการป้อนยา และสถานที่ให้เหมาะสม ให้อุปกรณ์ทั้งหมดอยู่ใกล้มือ พร้อมใช้ได้ทันที
2. เตรียมยาในไซริงค์ที่จะป้อน ตามสัตวแพทย์กำหนดอย่างถูกต้อง และตรวจทานดีแล้ว ก่อนนำกระต่ายมาบริเวณที่จะป้อนยา
3. เตรียมผ้าขนหนูที่ความกว้างกว่าความยาวตัวกระต่ายอย่างน้อย 2 เท่า และผ้ามีความยาวกว่าความกว้างของตัวกระต่ายอย่างน้อย 3 เท่า เพื่อให้พันทบตัวกระต่ายได้เพียงพอ
เข้าหากระต่ายด้วยความนุ่มนวล
1. วางผ้าขนหนูที่เตรียมไว้ตามแนวยาวด้านหน้าผู้ป้อนบนพื้นที่ที่จะใช้ป้อนยากระต่าย ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะ บนตักผู้ป้อน หรือบนพื้นเรียบที่เตรียมไว้
2. ให้ขนมชิ้นเล็กแก่กระต่าย เช่น แครอท ในการเข้าหากระต่าย แล้วค่อย ๆ นำกระต่ายมาวางบนผ้าที่ปูไว้แล้ว
วิธีการจับบังคับกระต่ายเพื่อป้อนยาอย่างปลอดภัย
1. ใช้มือจับบริเวณหลังคอให้กระต่ายนิ่ง หรือวางกระต่ายไว้บนตักให้หลังกระต่ายติดกับตัวผู้ป้อน
2. ใช้มือข้างหนึ่งประคองบริเวณหน้าอกและจับ 2 ขาหน้าไว้ มือผู้ป้อนอีกข้างเตรียมไว้ป้อนยา
วิธีป้อนยากระต่ายด้วยไซริงค์
1. จับให้หน้ากระต่ายขนานกับพื้น ไม่ยกคอกระต่ายแหงนขึ้นขณะป้อนยา เพื่อลดโอกาสสำลักยาของกระต่าย
2. ยกริมฝีปากของกระต่ายด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านขึ้น ให้เห็นช่องว่างด้านหลังฟันหน้าของกระต่าย
3. สอดปลายไซริงค์เข้าด้านข้างปากกระต่าย โดยสอดทางด้านหลังฟันหน้าประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร (ไม่ลึกเกินไป)
4. ค่อย ๆ ดันยาในไซริงค์ทีละน้อย และปล่อยจังหวะให้กระต่ายกลืน (ดูจากการแลบลิ้นหรือการกลืน) ทีละน้อยจนยาหมด
*ไม่ควรฝืนบังคับป้อน เมื่อกระต่ายยังไม่กลืนยา เพราะอาจจะสำลัก เกิดภาวะหายใจลำบากได้
5. ปล่อยตัวกระต่าย โดยวางลงบริเวณที่จะปล่อยกระต่าย แล้วค่อย ๆ เปิดผ้าออกทีละด้าน เอามือป้องด้านหน้าของกระต่ายไว้ไม่ให้ตื่นตัวจนกระโดดออกทันที
6. ให้รางวัลแก่กระต่าย อาจเป็นขนมชิ้นเล็ก ๆ ที่เหมาะสำหรับกระต่าย ลูบตัวและขนเบา ๆ อย่างนุ่มนวล หากเจ้ากระต่ายยังไม่งอนจนกระโดดหนีไป
Tools:
- 1. ไซริงค์ หรือ ดรอปเปอร์ สำหรับป้อนยา
- 2. ยาที่จะป้อน
- 3. ผ้าขนหนูนุ่มผืนใหญ่ : เพื่อใช้วางกันกระต่ายลื่นและใช้ในการห่อจับบังคับกระต่าย
- 4. พื้นที่เรียบ เงียบสงบ ปราศจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไม่มีสิ่งกีดขวาง และสิ่งที่อันตรายต่อกระต่ายเมื่อกระต่ายดิ้นหนีได้
- *หากป้อนบนโต๊ะ ควรมีพื้นที่กว้างมากพอและไม่สูงจนเกินไป หากผู้ป้อน ป้อนยากระต่ายด้วยตัวเองคนเดียว จะสามารถป้องกันกระต่ายตกโต๊ะบาดเจ็บได้
Gatoro’s Tips : เคล็ดลับในการป้อนยากระต่ายดื้อ กระต่ายตัวใหญ่หรือกระต่ายที่ดิ้นเก่ง โดยการใช้ผ้าห่อ
กระต่ายบางตัวที่ไม่ให้ความร่วมมือในการป้อนยา หรือเริ่มหลีกหนีการป้อนยาได้เก่งขึ้น เราอาจต้องใช้ตัวช่วย โดยใช้ผ้าขนหนูห่อตัวกระต่ายให้กระชับ เริ่มจาก
- วางกระต่ายไว้ตรงกลางผ้า เหลือพื้นที่ด้านหน้ากระต่ายไว้ 1/4 ผืน แล้วม้วนผ้าด้านหน้าจนถึงขาหน้ากระต่ายรวบไว้ใต้คางของกระต่ายอย่างแนบพอดี ไม่เหลือที่ว่างและไม่แน่นเกินไป
- จากนั้นพับผ้าด้านข้างตัวกระต่ายให้พอดีตัวทีละข้าง ทบกันไว้ด้านบนตัวของกระต่าย
3. ทบผ้าส่วนท้ายตัวกระต่ายให้พอดีบริเวณก้นกระต่ายโดยไม่เหลือที่ว่าง
4. จากนั้นยกตัวกระต่ายขึ้นบนตัก หรือแนบอกผู้ป้อนในท่าที่ง่ายต่อการป้อนยา และกระต่ายไม่สามารถดิ้นได้
*ควรจับบังคับให้มั่นคง และมั่นใจว่ากระต่ายจะไม่สามารถกระโดดดีดตัวออกจากผ้า หรือท่าที่จับอยู่ได้ เพราะหากกระต่ายดีดอย่างรุนแรงขณะจับบังคับ อาจทำให้กระต่ายกระดูกสันหลังหัก ขาหัก หรือบาดเจ็บส่วนท้ายตัวได้