5 เรื่องน่ารู้ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ FIP แมวและโอกาสรอดชีวิต

ใช้เวลา 5 นาที ในการอ่านบทความนี้

“แมวของคุณเป็น FIP” อาจเป็นหนึ่งในคำพูดที่เจ้าของแมวไม่อยากได้ยินมากที่สุด กาโตโระเดาว่าชาวทาสแมวน่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงของ FIP มาบ้างไม่มากก็น้อย แล้ว FIP แมวคืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน ทำไมคำนี้ถึงหลอนหูทั้งหมอทั้งเจ้าของแมว มารู้จักไวรัสตัวร้ายไปพร้อมกันค่ะ

1.FIP แมว คืออะไร

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแมวหรือ Feline Infectious Peritonitis (FIP) เป็นโรคที่มีจุดเริ่มต้นจากเชื้อไวรัส FCoV  ในกลุ่มโคโรน่าไวรัส (Corona virus) ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับโควิด 19 แต่เป็นเชื้อคนละตัว ไวรัสสายพันธุ์นี้ไม่ติดคนนะ แต่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในกลุ่มลูกแมวลูกสุนัข เชื้อไวรัสชนิด RNA เน้นกระจายเร็ว กลายพันธุ์ง่าย หากมีแมวป่วยที่บ้าน นอกจากไวรัสจะเล่นงานแมวตัวอื่น ๆ สุนัขก็มีโอกาสติดได้เช่นกันเพียงแต่สุนัขจะไม่มีโอกาสเป็น FIP 

แมวกลุ่มเสี่ยงสุด ๆ ที่มีโอกาสติดโคโรน่าไวรัส

  • 90 เปอร์เซ็นต์ของแมวติดเชื้อโคโรน่าไวรัสอายุน้อยกว่า 1 ปี
  • แมวที่เลี้ยงรวมกันอย่างแออัด เช่น บ้านที่เลี้ยงแมวมากกว่า 5 ตัวขึ้นไป และพื้นที่เลี้ยงค่อนข้างจำกัด
  • แมวที่มีความเครียด เช่น ลูกแมวอย่านมเร็วกว่า 2 เดือน แมวป่วยและแมวย้ายบ้านใหม่ มีโอกาสติดไวรัสได้ง่าย
  • แมวที่เป็นเอดส์แมว (FIV) หรือลิวคีเมีย (FeLV) อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็น FIP เนื่องจากร่างกายแมวอ่อนแอมาก
แมวอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่
เจ้าเหมียวกลุ่มใหญ่ที่เลี้ยงแออัดและสุขอนามัยไม่ดี เสี่ยงติดไวรัสสูงกว่าแมวทั่วไป

แมวที่เลี้ยงรวมกันอย่างแออัดและเครียด มีโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายมาก และเพิ่มความเสี่ยงติดไวรัสตามไปด้วยแม้ได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อย

แมวที่ติดโคโรน่าไวรัสทุกตัวจะต้องกลายเป็นแมว FIP หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ใช่แมวทุกตัวที่ติดไวรัสจะต้องจบลงที่ FIP นะ เนื่องจาก FIP เกิดจากการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสแล้วเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นในร่างกายของแมว แทนที่ไวรัสจะอยู่แค่ในเซลล์ลำไส้แมวเท่านั้น ไวรัสเกิดหลุดรอดไปถึงเม็ดเลือดขาวของแมวที่เรียกว่า monocyte และ macrophage ตอนนี้ล่ะ ที่ไวรัสเริ่มกลายพันธ์ุและเจ้าเหมียวโชคร้ายก็กลายเป็น FIP ในที่สุด 

เจ้าเหมียวส่วนใหญ่ที่เป็น FIP จะแสดงอาการป่วยช่วงอายุไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเราอาจไม่ทราบเลยว่าเจ้าเหมียวไปติดเชื้อโคโรน่าตั้งแต่ตอนไหน 

อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ เพราะโอกาสกลายพันธุ์ของโคโรน่าไวรัสมีเพียง 7-14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ทำไมเราเห็นแมวเป็นโรคนี้เยอะมาก ๆ เลย นั่นเป็นเพราะแมวที่อยู่กันอย่างแออัด มีโอกาสติดเชื้อทั้งบ้าน ติดเชื้อวนไป ติดเชื้อซ้ำซาก เพิ่มโอกาสเชื้อกลายพันธุ์ ตอนนี้ล่ะที่แมวเกือบทั้งบ้านกลายเป็น FIP

โคโรน่าไวรัสติดง่ายกระจายเร็ว ผ่านทางอึและน้ำลายของแมวป่วยแล้วแมวตัวอื่นเผลอกินเข้าไป แมวแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 7 วันแรกหลังจากติดเชื้อและอาจแพร่เชื้อยาวนาน 2-10 เดือนหากแมวเครียดและร่างกายอ่อนแอ (มีรายงานว่าแมวส่วนหนึ่งติดไวรัสและแพร่เชื้อได้จนตลอดชีวิต) นี่เป็นสาเหตุที่แมวที่อยู่อย่างแออัดติดเชื้อซ้ำ ๆ และมีโอกาสที่ไวรัสกลายพันธุ์ได้สูง

2.อาการของแมวติดเชื้อ

ติดเชื้อโคโรน่าไวรัส แมวมีอาการอย่างไร

  • แมวส่วนใหญ่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วย
  • แมวส่วนน้อยมีอาการท้องเสียและอาเจียน โดยเฉพาะลูกแมวที่ร่างกายอ่อนแอ
  • แมวส่วนน้อยมีอาการหวัดแบบไม่รุนแรง แต่ยังสามารถแพร่เชื้อผ่านทางน้ำลายได้ 
  • แมวที่ร่างกายแข็งแรง หายจากไวรัสได้เองโดยไม่ต้องรักษาอะไรเลย อัตราการตายจากโคโรน่าไวรัสค่อนข้างต่ำ ยกเว้นแมวที่ร่างกายอ่อนแอมาก

FIP แมวอาการ อย่างไร

  • อาการช่วงแรกของ FIP ไม่มีอะไรจำเพาะเจาะจง แมวส่วนใหญ่มีอาการไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไม่ร่าเริง นอนเยอะกว่าปกติ
  • FIP แบบเปียกหรือ FIP แบบแสดงอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แมวท้องบวมป่อง แมวมีน้ำในช่องอกและช่องท้อง อาจพบน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจได้ แมวหายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ผิวหนังเหี่ยว ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง เหงือกและผิวหนังซีดมากหรือเหลือง มีไข้และแมวอ่อนแรงมาก 
  • FIP แบบแห้ง สังเกตอาการค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีน้ำในช่องอกช่องท้อง อาจพบเพียงตาอักเสบไปจนถึงตาบอดอย่างเฉียบพลัน แมวบางตัวมีอาการทางระบบประสาท นิสัยเปลี่ยน เดินเซ ชัก หมดสติ ควบคุมการทรงตัวไม่ได้
FIP แมวแทบไม่แสดงอาการในช่วงแรกที่ป่วย
หน้าตาแมว FIP ในช่วงเริ่มป่วย อาจแค่ซึม เบื่ออาหาร ผอมลงและมีไข้ เราอาจไม่สังเกตว่าแมวป่วย จนแมวเริ่มท้องป่องหรือหอบมาก ซึ่งอาการตอนนั้นก็หนักแล้ว

3.ขั้นตอนตรวจและวินิจฉัยเยื่อบุช่องท้องอักเสบอัพเดท 2023

  • คุณหมอจะซักประวัติอย่างละเอียด เนื่องจากอาการช่วงแรกของ FIP แทบจะไม่มีอาการจำเพาะเจาะจงเลย
  • ตรวจเลือด มีความจำเป็นมาก ๆ เลยค่ะ เพราะผลเลือดใช้ประเมินอาการของแมว ความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี
  • เอ็กซเรย์ ช่วยให้เห็นภาพว่ามีน้ำในช่องอกหรือช่องท้องหรือไม่
  • อัลตร้าซาวน์ ช่วยให้คุณหมอเห็นภาพชัดเจนในขณะเจาะดูดน้ำออกจากช่องอก ช่องท้องหรือเยื่อหุ้มหัวใจ 
  • ตรวจตาอย่างละเอียด ในกรณีสงสัย FIP แบบแห้ง หากพบความผิดปกติและได้รับการรักษาทันท่วงที จะสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับดวงตาได้
  • ตรวจ RT-PCR (Real time Polymerase chain reaction) เพื่อหาเชื้อโคโรน่าไวรัสจากน้ำที่เจาะออกมาได้
    • ข้อเสียคือ เม็ดเลือดขาวที่มีเชื้อไวรัสปะปนมาในน้ำที่ส่งตรวจค่อนข้างน้อยอาจตรวจได้ผลเป็นลบแม้ว่าแมวติดเชื้อและค่าตรวจมีราคาสูง
    • แม้ว่าวิธีนี้จะมีข้อเสียอยู่แต่หากอาการชัดเจนและตรวจเจอเชื้อไวรัส มีความเป็นไปได้สูงที่แมวจะเป็น FIP
  • ชุดตรวจไวรัส นิยมใช้ตรวจหาเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยตรวจจากอึ น้ำลายหรือเลือด แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีในการตรวจเมื่อสงสัยว่าแมวเป็น FIP เพราะแมวที่ติดโคโรน่าไวรัสอาจไม่ได้กลายเป็น FIP ทุกตัว 

4.FIP แมวรักษาหายไหม

FIP เป็นโรคที่หากเป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูงโดยเฉพาะแบบเปียก เนื่องจากอาการรุนแรง แม้เจาะดูดน้ำออกไปแล้วก็มีโอกาสที่น้ำจะกลับมาใหม่ได้อีกภายใน 1-2 สัปดาห์ 

สัตวแพทย์ได้มีการนำยาต้านไวรัสบางชนิดมาใช้รักษา FIP และพบว่าให้ผลตอบสนองค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับการรักษาแบบไม่ใช้ยาต้านไวรัส ทำให้เจ้าของมีความหวังมากขึ้นในการรักษานอกเหนือไปจากรักษาตามอาการและควบคุมการติดเชื้อแทรกซ้อนเหมือนที่ผ่านมา แต่มีรายงานว่าแม้อาการจะหายไปภายหลังการรักษาแต่ยังตรวจพบเชื้อได้ แมวบางตัวอาการดีขึ้นและไม่พบเชื้อไวรัส 

แนวทางการรักษาอื่น ๆ คือรักษาตามอาการ ควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน พยุงร่างกายเจ้าเหมียวให้แข็งแรงที่สุด กินอาหารได้ หากมีน้ำในช่องอกช่องท้องจนหายใจลำบาก คุณหมออาจพิจารณาเจาะดูดออก เพื่อให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

5.ยารักษา FIP ชื่อดังอย่าง GS-441524 คืออะไร

GS-441524 หรือที่รู้จักในชื่อสั้น ๆ ว่า ยา GS กาโตโระเชื่อว่าทาสแมวต้องคุ้น ๆ ชื่อยาอย่างแน่นอน ที่มาที่ไปเริ่มมาจากช่วง Covid-19 มีการทดลองยาต้านไวรัสหลายชนิด อย่างที่เล่าไปตั้งแต่ต้น FIP แมวก็คือเชื้อโคโรน่าไวรัสชนิดหนึ่ง คุณหมอจึงเริ่มแนวคิดว่าถ้ายากลุ่มนี้ใช้ฆ่าโคโรน่าที่คนติดได้ เชื้อไวรัสที่ติดในแมวก็น่าจะตายเช่นกัน 

GS ได้ผลค่อนข้างน่าพอใจกับแมวในห้องทดลองและกลุ่มอาสาสมัคร เนื่องจากยาเพิ่งเริ่มทดลองได้ไม่นาน GS ยังคงเป็นยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนทั้งในไทยและต่างประเทศ 

ผลวิจัยฉบับหนึ่งจากอเมริกาเกี่ยวกับการใช้ยารักษา FIP จากแบบสอบถามเจ้าของแมว 393 คน ที่ใช้ยารักษาแมวนาน 12 สัปดาห์หรือ 84 วันและติดตามอาการนาน 3 เดือน พบว่า 88.2% เจ้าของเริ่มเห็นแมวอาการดีขึ้นหลังใช้ยาเพียง 1 สัปดาห์ เจ้าเหมียว 380 ตัวยังมีชีวิตอยู่ในช่วง 3 เดือนที่ติดตามผลการรักษา 54% ไม่มีอาการเลยตลอดระยะเวลาที่ติดตามผล 12.7% กลับมามีอาการกำเริบอีก 

งานวิจัยอีกฉบับติดตามผลการรักษา FIP จำนวน 18 เคสด้วย GS แบบกินนาน 84 วัน พบว่าแมวทั้ง 18 ตัวไม่มีอาการของ FIP เลยเป็นเวลา 1 ปีหลังจากเริ่มใช้ยา แมวเพียงตัวเดียวตรวจพบเชื้อปริมาณน้อยมากในเลือดหลังได้รับยาจนครบคอร์ส แมว 5 ตัวในกลุ่มตรวจพบเชื้อโคโรน่าไวรัสในอึ แต่ไม่มีอาการป่วย แมวเพียงตัวเดียวที่มีอาการทางระบบประสาทซึ่งน่าสงสัยว่าไวรัสอาจยังเหลือในร่างกายหรืออาจเป็นผลจากการกินยาต้านไวรัสเป็นเวลานานก็ได้

ข้อเสียและผลข้างเคียงจากยาแบบฉีดคือ เจ็บตำแหน่งฉีดยา แมวต้องใช้ยาติดต่อกันทุกวันจนครบ 84 วัน ยาหายากเนื่องจากยังไม่มีการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายและราคายายังแพงมาก ๆ เลยค่ะ แม้ว่าจากงานวิจัยผลการรักษาจะออกมาค่อนข้างดีมาก แต่เนื่องจากเป็นยาใหม่จึงยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต

สรุป

โคโรน่าไวรัสในความเป็นจริงไม่ใช่โรคที่อาการรุนแรง เจ้าเหมียวที่แข็งแรงสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างแน่นอน ส่วนเจ้าเหมียวโชคร้ายที่ติดเชื้อกลายพันธุ์แล้วกลายเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้น มักอยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ความเครียดสูง ติดเชื้อซ้ำ ๆ ในกลุ่มแมว หากเราเลี้ยงแต่พอเหมาะไม่แออัด รักษาความสะอาด ก็ลดโอกาสเกิดเชื้อกลายพันธุ์ไปได้เยอะเลยล่ะ

วัคซีนแมว ไม่ได้รวมโคโรน่าไวรัสอยู่ในนั้น เนื่องจากลูกแมวติดเชื้อง่าย ติดเชื้อไวกว่าวันนัดวัคซีนเข็มแรกซะอีก อาการของโรคไม่รุนแรงและแม่แมวยังส่งผ่านคุ้มกันให้ลูก ๆ ทางน้ำนมแม่ด้วยนะ ทางที่ดีอย่าเพิ่งอย่านมลูกแมวเร็วเกินไป อาหารลูกแมวที่เหมาะกับวัยจำเป็นมาก ๆ เลยค่ะที่จะสร้างสุขภาพที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นจนโตเป็นเจ้าเหมียวที่แข็งแรง

ยาต้านไวรัสเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นี่อาจเป็นความหวังครั้งใหม่ของชาวทาสแมว ปัจจุบันยังไม่แพร่หลายเพราะราคาแพงมากและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยแมวที่เป็น FIP ยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำและแพร่เชื้อให้แมวตัวอื่นได้ หากที่บ้านมีแมวที่ยังรักษา FIP อยู่ควรแยกแมวออกจากแมวตัวอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยค่ะ

แหล่งที่มาของข้อมูล

  1. https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/1098612X221118761

  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8388366/

  3. https://www.msdvetmanual.com/digestive-system/diseases-of-the-stomach-and-intestines-in-small-animals/feline-enteric-coronavirus

  4. https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/1098612X231183250?download=true

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า