ใคร ๆ ก็รู้ว่า 1 ปี ของมนุษย์เท่ากับ 7 ปี ของสุนัข ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ได้ยินความเชื่อนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ และเชื่อมาโดยตลอดว่าคำพูดนี้คือเรื่องจริง หากมีโอกาสถามถึงสุนัขของผู้อื่นก็มักจะคำนวณอายุสุนัขให้กับเจ้าของสุนัขเสร็จสรรพพร้อมกับตบท้ายด้วยว่า “โอ้โห นี่ถ้าเทียบกับคนก็อายุ … ปีแล้วนะคะ น้องยังดูแข็งแรงอยู่เลย” ทำให้เรามีหัวข้อที่จะพูดคุยกับคนอื่น ๆ ต่อไปได้
เวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงก็มีมากขึ้นตามไปด้วย จากข้อมูลล่าสุดชี้ว่าการที่เราจะเทียบอายุสุนัขทุกสายพันธุ์ ทุกขนาดว่า 1 ปี ของมนุษย์เท่ากับ 7 ปีของสุนัขทุกตัว ดูจะเป็นการเทียบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไรนัก เนื่องจากสุนัขพันธุ์เล็กจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าและอายุยืนยาวกว่าเมื่อเทียบกับสุนัขพันธุ์ใหญ่ การเทียบอายุสุนัขกับคนโดยใช้วิธีข้างต้นกับสุนัขทุกตัวจึงดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล
แล้วเราจะเทียบอายุสุนัขกับคนด้วยวิธีไหนดีล่ะ หากเรารู้แล้วเราจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้างนอกจากการหาเรื่องพูดคุยกับชาวบ้าน บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบ พร้อมแล้วไปดูกันเลย
ความเชื่ออายุคน 1 ปี เท่ากับอายุสุนัข 7 ปี มาจากไหน?
จุดเริ่มต้นของความเชื่อนี้ไม่มีใครทราบที่มาว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมาความเชื่อเรื่องเทียบอายุสุนัขเทียบกับคนในอัตราส่วน 1:7 ก็เป็นที่ยอมรับทั่วไปในสังคมแล้ว
หนึ่งในเหตุผลที่อธิบายถึงที่มาของความเชื่อนี้และดูจะเป็นไปได้มากเลยทีเดียวก็คือ อัตราส่วน 1:7 ได้มาจากการเปรียบเทียบอายุขัยของสุนัข 10 ปี เทียบกับอายุขัยของคนในสมัยนั้นซึ่งก็คือ 70 ปี จึงได้อัตราส่วนนี้ขึ้นมา
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ กลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่ง William Fortney สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตตประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเห็นแก่ Wall Street Journal อย่างน่าสนใจก็คือ “เป็นกลยุทธ์ที่จะให้ความรู้แก่คนทั่วไปว่าสุนัขแก่เร็วกว่ามนุษย์หลายเท่านัก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ และเพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักในเรื่องนี้และดูแลสุขภาพของสุนัขให้มากขึ้น”
อายุสุนัขเทียบกับคน เวอร์ชั่นปัจจุบันเป็นอย่างไร
มีการพยายามที่จะคำนวณอายุของสุนัขเทียบกับคนจากหลายแหล่ง จากการรวบรวมข้อมูล ณ ปัจจุบันมีทิศทางเป็นไปตามแนวทางดังนี้
- ความเชื่อที่ว่าอายุสุนัข 1 ปี เท่ากับมนุษย์ 7 ปี ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ
- สุนัขแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีอัตราการเจริญเติบโตแตกต่างกันไป เช่น ในสุนัขพันธุ์เล็กมักจะมีอายุยืนยาวกว่าและเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่
- ในช่วงขวบปีแรกของสุนัขจะมีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อสุนัขเข้าสู่วัยชราการแก่ตัวจะช้าลง
เปรียบเทียบอายุสุนัขของตัวเองตามตารางนี้ได้เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.akc.org
งานวิจัยอายุของสุนัขเทียบกับคนในปี 2019
Ideker และคณะ ได้ทำการวิจัยอายุของสุนัขพันธุ์ลาบาดอร์ 104 ตัว พวกเขาพบว่าการแก่ตัวขึ้นของสุนัขก็เหมือนกับการแก่ขึ้นของมนุษย์นั่นแหละ พวกเขาศึกษาลงลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับ DNA ที่ชื่อว่า เมธิลเลชั่นมาร์ก (Methylation mark) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น
นักวิจัยนำ Methylation Mark ที่เกิดขึ้นในสุนัขมาเทียบกับ Methylation Mark ของมนุษย์ พวกเขาได้สูตรที่จะเอาไว้คำนวณอายุสุนัขเทียบกับคนออกมาดังนี้
16 ln(dog age) + 31 = human age
ไม่ต้องไปคำนวณเอง พวกเราได้คำนวณมาให้แล้ว ไปดูกราฟกันเลย
กราฟอายุของสุนัขพันธุ์ลาบาดอร์เทียบกับคน
แกนนอนคือ อายุสุนัขลาบาดอร์
แกนตั้งคือ อายุมนุษย์
การทดลองนี้มีความแม่นยำในแง่ของการทำนายอายุสุนัขมากกว่าสูตรไหน ๆ แต่อย่าลืมว่าการทดลองนี้ทำการทดลองในเฉพาะสุนัขสายพันธุ์ลาบาดอร์เท่านั้น หากผู้อ่านเป็นเจ้าของสุนัขสายพันธุ์อื่น ให้ใช้ข้อมูลจากตารางอันแรกเพื่อประเมินอายุคร่าว ๆ ของสุนัขก็น่าจะมีความใกล้เคียงมากแล้ว
อย่างไรก็ตามการทดลองนี้อาจนำไปสู่การวิจัยในสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มเติม ไม่แน่ในอนาคตพวกเราอาจจะได้เห็นตารางอายุสุนัขเทียบกับคน สำหรับสุนัขในแต่ละสายพันธุ์เลยทีเดียว
ในฐานะเจ้าของสุนัขเรื่องนี้สำคัญอย่างไร
ผู้เขียนอยากให้เจ้าของสุนัขทุกคนมีความตระหนักในเรื่องของเวลาให้มากขึ้นค่ะ ลองคิดดูนะคะว่าในขวบปีแรกของสุนัขสายพันธุ์เล็ก-กลางเนี่ย อายุสุนัขจะเท่ากับมนุษย์อายุ 15 ปีเลย เพราะฉะนั้นในขวบปีแรกของสุนัขจึงมีความสำคัญมากในแง่ของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ (Socialization) การปฏิสัมพันธ์กับสุนัขหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในครอบครัว มันอาจจะเป็นตัวกำหนดบุคลิกภาพของพวกเขาตลอดชีวิตที่เหลืออยู่เลยก็ได้
เพราะเวลาของพวกเรานั้นไม่เท่ากัน เมื่อเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้ว ก็อยากให้เจ้าของสัตว์ทุกคนเข้าใจว่าพวกเราเป็นโลกทั้งใบของพวกเขา เวลาที่พวกเขามีมันสั้นกว่า เร็วกว่าเวลาที่พวกเรามีมากเลยทีเดียว
เรื่องที่สองคือความเข้าใจค่ะ ในสุนัขพันธุ์เล็ก-กลาง เมื่ออายุ 7 ขวบจะถือว่าเข้าสู่วัยชราเรียบร้อยแล้ว เมื่อเทียบกับคนคืออายุ 44-50 ปี จากวิธีการเลี้ยงดูในปัจจุบันทำให้สุนัขมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้พวกเรามีโอกาสพบภาวะที่มาพร้อมกับความชราในสุนัขได้มากขึ้นตามไปด้วย
หนึ่งในโรคภัยที่มากับความชราก็คือ ภาวะความจำเสื่อมในสุนัขแก่ เจ้าของอาจจะพบว่าสุนัขมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง หลงลืมชื่อของตัวเอง และอื่น ๆ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะความจำเสื่อมในสุนัขแก่ได้ที่นี่
เป็นอย่างไรกันบ้างคะหลังจากทราบวิธีการคำนวณอายุสุนัขในแบบอ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้น หากใครมีข้อสงสัยหรืออยากแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงสุนัขสามารถแสดงความคิดเห็นให้พวกเราฟังได้ในกล่องคอมเม้นต์ด้านล่างนี้เลยค่ะ
อ้างอิง
https://www.akc.org/expert-advice/health/how-to-calculate-dog-years-to-human-years/
https://www.cell.com/cell-systems/fulltext/S2405-4712(20)30203-9