ไฮไลท์ของสายพันธุ์
- ชิวาว่าเป็นสุนัขอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีอายุยืนยาวได้มากถึง 18 ปี เพราะฉะนั้นใครที่คิดจะเลี้ยงเจ้าตัวเล็กนี้ ขอให้คุณมีความรู้สึกอยากเลี้ยง อยากดูแลกันไปนาน ๆ จริง ๆ ก่อนซื้อมาเลี้ยง ช่วงที่เขายังสุขภาพแข็งแรงอยู่มักไม่มีปัญหา แต่พอเขาแก่ตัวลงมีโรคต่าง ๆ รุมเร้า ตรงนี้ต้องคิดให้หนักถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วย
- ชิวาว่ามีแนวโน้มที่จะตัวสั่นเมื่อ หนาว ตื่นเต้น หรือกลัว เพราะฉะนั้นหากพาน้องออกจากบ้าน อย่าลืมหาเสื้ออุ่น ๆ ใส่ให้น้องด้วยล่ะ
- บ้านใครเลี้ยงเด็กอาจต้องคิดดี ๆ ก่อนพาชิวาว่าเข้าบ้าน เด็กเล็กจะเล่นกับสุนัขโดยกะแรงไม่ถูก อาจทำให้ชิวาว่าเข้าใจผิดคิดว่าโดนทำร้ายได้ บวกกับความใจใหญ่สู้ไม่ถอยของชิวาว่า อาจทำให้เกิดอันตรายแก่เด็กได้ไม่ยากเลย
- ถึงจะตัวเล็ก แต่ชิวาว่ายังต้องการการออกกำลังกายทุกวันไม่แพ้สุนัขพันธุ์ใหญ่ ชิวาว่าไม่ได้ต้องการการออกกำลังกายเข้มข้น แต่ควรพาน้องไปออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน วันละ 20 – 30 นาทีก็เพียงพอแล้ว
- ความพิถีพิถันในการเลือกกินอาหารเป็นอีกหนึ่งชื่อเสียงของชิวาว่าเลยล่ะ เพราะฉะนั้นหากรับน้องมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก ควรฝึกวินัย ตั้งกฎเกณฑ์ตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันปัญหา อันนู้นก็ไม่กิน อันนี้ก็ไม่กิน
- ชิวาว่ามักจะมีความรักและความผูกพันกับเจ้าของที่เขารักเพียงคนเดียว เวลาเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้าอย่าคาดหวังให้ชิวาว่าเฟรนด์ลี่ ถ้าเขาไม่ได้ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาจะสงวนท่าทีกับคนแปลกหน้าเอาไว้ก่อน
- หากพาชิวาว่าออกไปพบคนแปลกหน้า เช่น หาหมอ ไม่ต้องตกใจหากน้องแสดงอาการก้าวร้าวผิดจากตอนอยู่บ้าน เพราะน้องกลัวมาก ๆ นั่นเอง
- ชิวาว่าฉลาด เรียนรู้ไว มีความตื่นตัวและระมัดระวังต่อสภาพแวดล้อมภายนอกเสมอ และจากข้อที่แล้วชิวาว่าไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนแปลกหน้าเท่าไหร่ทำให้น้องมีคุณสมบัติของการเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดีได้
ความเป็นมา
สุนัขพันธุ์ชิวาว่าถูกตั้งตามชื่อของเมืองในประเทศเม็กซิโก คาดกันว่าสุนัขชิวาว่าเป็นลูกหลานของสุนัขพันธุ์โบราณที่ชื่อว่า Techichi ในช่วง ค.ศ.800 – 1000 สุนัขเตชิชิถูกชาว Toltec ชนพื้นเมืองของเม็กซิโกในยุคสมัยนั้นใช้บูชายัญเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำพิธีกรรมทางศาสนา
ตัดภาพมาที่ยุคล่าอาณานิคม ประมาณปี ค.ศ. 1500 – 1600 ชิวาว่าเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น ชื่อของชิวาว่าปรากฎอยู่ในจดหมายของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ชิวาว่าที่ไปอยู่ในทวีปยุโรปก็น่าจะเป็นเพราะฝีมือของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสนี่แหละ
ชิวาว่าถูกนำเข้าไปที่สหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1890 และจดทะเบียนสายพันธุ์กับ AKC (American Kennel Club) เมื่อปี ค.ศ.1904
ความโด่งดังของชิวาว่าในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก สุนัขพันธุ์ชิวาว่ามีความฮอตฮิตถึงขนาดถูกนำไปแสดงหนัง แสดงโฆษณาหลากหลายเรื่องเลยทีเดียว เรื่องที่ดังมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง Legally Blonde หญิงสาวผมบรอนด์ชุดสีชมพูเดินมาพร้อมกับชิวาว่าตัวโปรด ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกเธอมักถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นคนสวยแต่ไม่มีสมองอยู่เสมอ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสสังคมในยุคสมัยนั้น ว่าใครเลี้ยงชิวาว่าจะดูเริ่ด ดูไฮโซขึ้นมาทันที
การเข้ามาของสายพันธุ์ชิวาว่าในประเทศไทยไม่มีที่มาแน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสายพันธุ์ชิวาว่าทั้งขนสั้นและขนยาวก็ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนเลี้ยงสุนัขชาวไทย
ความต้องการพื้นฐาน
สารอาหาร
สารอาหารที่ชิวาว่าต้องการนั้นมีความเหมือนกับอาหารของสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเราสามารถตามหาอาหารที่เหมาะกับน้องได้ในหมวดหมู่ อาหารสำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก / อาหารสำหรับสุนัขที่เลี้ยงในบ้าน / อาหารสำหรับสายพันธุ์ชิวาว่า สิ่งที่อยากให้เจ้าของชิวาว่าเน้นในเรื่องของอาหารก็คือการควบคุมปริมาณอาหารที่น้องได้รับในแต่ละวันให้มีความเหมาะสม
โดยวิธีการคำนวณปริมาณของอาหารแต่ละยี่ห้อ ถ้าเป็นยี่ห้อที่มีคุณภาพจะมีตารางเปรียบเทียบน้ำหนักตัวของชิวาว่าและปริมาณอาหารยี่ห้อนั้น ๆ ปรากฎอยู่ด้านหลังถุง
โดยส่วนใหญ่แล้วชิวาว่าโตเต็มวัยจะต้องการอาหารประมาณ ¼ ถึง ½ ถ้วยต่อวัน
*ปริมาณที่สุนัขแต่ละตัวได้รับในแต่ละวันจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ พันธุ์ ขนาดตัว ช่วงอายุ และยี่ห้ออาหาร
รักษาความสะอาด
ชิวาว่าทั้งขนสั้นและขนยาวเป็นสุนัขที่มีการผลัดขนเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ตามชิวาว่าต้องการการแปรงขนอยู่เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
คำแนะนำ ชิวาว่าขนสั้นให้เลือกแปรงหรือหวีที่ทำมาจากยาง หรือจะใช้เป็นถุงมือยางแปรงขน (rubber grooming mitt) ก็ได้ ส่วนชิวาว่าขนยาวให้ใช้หวีแปรงไร้หมุด (pin brush) จะมีความเหมาะสมมากกว่า
การอาบน้ำให้ชิวาว่าควรทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ สายพันธุ์นี้จะมีความง่าย อาบได้เร็วและแห้งเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ มาก (ถ้าน้องไม่ดุ) ระหว่างอาบน้ำชิวาว่าอยากให้เจ้าของเช็คร่างกายน้องตามจุดต่าง ๆ ดังนี้
ใบหู – ชิวาว่ามีแนวโน้มที่จะสะสมขี้หูได้ง่าย ให้ทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาดช่องหูที่ทำขึ้นมาสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ นอกจากนั้นให้เช็คว่าใบหูมีความแห้งเกินไปหรือไม่ หากแห้งเกินไปสามารถใช้ เบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะพร้าวปริมาณเล็กน้อยชโลมเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในบริเวณนี้ได้ ระวังอย่าให้เข้าไปในรูหูเชียวล่ะ แค่ชโลมบริเวณใบหูก็พอแล้ว
คราบน้ำตา – ตัวไหนมีปัญหาคราบน้ำตาให้ใช้สำลีชุบน้ำอุ่นทำความสะอาดสิ่งสกปรกออกก่อน หลังจากนั้นให้ใช้น้ำยาสำหรับขจัดคราบน้ำตาทำความสะอาดอีกที
เล็บ – จะรู้ได้อย่างไรว่าเล็บยาวเกินไปแล้ว หากปล่อยให้น้องเดินแล้วได้ยินเสียงของแข็งกระทบกับพื้นดัง “แกร๊ก ๆ” อยู่ตลอดเวลา แปลว่าเล็บน้องยาวเกินไปแล้ว ควรเล็มให้สั้นเพื่อความปลอดภัยของสุนัขและของตัวเราเอง เวลาอุ้มจะได้ไม่ขูดเนื้อหรือขูดเสื้อผ้าของเรา
ฟัน – ชิวาว่ามีแนวโน้มที่จะมีปัญหาหินปูนสะสม เหงือกอักเสบและฟันผุได้เช่นเดียวกับสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ ควรแปรงฟันให้น้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือทุกวันหากเป็นไปได้
ออกกำลังกาย
ชิวาว่าต้องการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่แพ้สุนัขพันธุ์ใหญ่เลย แต่ไม่ต้องถึงขั้นออกกำลังกายเข้มข้นมาก แค่พาน้องไปเดินเล่นในสวนวันละ 20-30 นาทีก็เพียงพอแล้ว จริง ๆ แล้วชิวาว่าเขาเป็นสุนัขขี้เล่นและมีพลังงานเยอะในระดับหนึ่งเลยนะ ถ้าเรามีเวลาลองพาเขาเล่นขว้างปาและเก็บคืนสิ่งของดูสิ น้องเขาจะมีความสุขมาก ๆ เลยแหละที่ได้ใช้เวลาออกกำลังกายกับเจ้าของที่เขารัก
ชิวาว่าเป็นสุนัขอีกสายพันธุ์หนึ่งที่สามารถฝึกฝนให้ทำตามคำสั่งและฝึกฝนความว่องไวได้เป็นอย่างดี น้องจะมีความกระตือรือร้นและสนุกไปกับขั้นตอนการฝึก การฝึกฝนเป็นอีกหนึ่งวิธีกระชับความสัมพันธ์พร้อมไปกับการออกกำลังกายได้ดีทีเดียว
ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย
โรคที่สามารถพบในสายพันธุ์ชิวาว่าได้บ่อย ๆ มีดังนี้
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) – เป็นภาวะที่มีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังในโพรงสมองมากเกินไป เป็นความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิดในรายที่รุนแรงมากลูกสุนัขมักจะไม่มีชีวิตรอดเกิน 4 เดือน
โรคของลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve disease) – หัวใจมีทั้งหมด 4 ห้อง ลิ้นหัวใจไมตรัลจะกั้นระหว่างห้องซ้ายบนและห้องซ้ายล่าง ปกติแล้วเวลาหัวใจสูบฉีดเลือดทีนึง เลือดจะไหลไปในทิศทางเดียวก็คือห้องซ้ายบน ลงห้องซ้ายล่าง และนำเลือดดีไปเลี้ยงร่างกาย หากลิ้นหัวใจไมตรัลมีปัญหาจะทำให้ เลือดจากห้องซ้ายล่างไหลย้อนไปที่ห้องซ้ายบน เลือดดีที่ไปเลี้ยงร่างกายก็ไม่เพียงพอ หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) และอาจเสียชีวิตได้
โรคนี้พบได้บ่อยถึง 10% ในสุนัขพันธุ์เล็ก หมายความว่าชิวาว่า 10 ตัว ก็จะมี 1 ตัวที่เป็นโรคนี้และมักพบในสุนัขแก่ คำแนะนำ ควรพาน้องไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยให้คุณหมอฟังเสียงหัวใจ หากเราตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นเลยล่ะ
โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation) – ชิวาว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสะบ้าเคลื่อนได้มากกว่าพันธุ์อื่น ๆ จุดสังเกตคือน้องมีอาการเดินกะเผลก บางตัวเป็นหนักจนไม่อยากใช้ขานั้นเลย หากปล่อยไว้นาน ๆ อาจโน้มนำให้เกิดภาวะข้อเสื่อม (Degenerative joint disease) ซึ่งลดทอนคุณภาพชีวิตและความสุขในการใช้ชีวิตของน้องเพราะโรคนี้มันสร้างความเจ็บปวดให้อยู่ตลอดเวลา
ภาวะคลอดยาก (Dystocia) – ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้บ่อยในสายพันธุ์ชิวาว่า และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตทั้งแม่ทั้งลูกหากคลอดไม่ออก มีการศึกษาพบว่าสาเหตุที่มักทำให้ชิวาว่าคลอดไม่ออกคือการมีกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ไม่แข็งแรงทำให้ไม่มีแรงเบ่งลูกให้มาอยู่ที่ปากมดลูกเมื่อถึงเวลาคลอด1
ใครวางแผนที่จะให้ชิวาว่าเป็นแม่พันธุ์ควรพาสุนัขไปฝากครรภ์กับหมอเพื่อวางแผนการคลอดให้ดี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ สุนัขท้องกี่เดือน
ภาวะหลอดลมตีบ (Tracheal collapse) – หลอดลมคืออวัยวะที่อยู่ระหว่างจมูกกับปอด ทำหน้าที่ขนส่งอากาศไปที่ปอด หลอดลมมีลักษณะเหมือนวงแหวนที่เรียงตัวต่อกันยาวไปจนถึงปอด ซึ่งแต่ละวงแหวนประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นกระดูกอ่อนคล้ายรูปตัว C และถูกเชื่อมต่อกันด้วยเนื้อเยื่ออ่อนเป็นรูปวงแหวน เวลาเกิดภาวะหลอดลมตีบเนื้อเยื่ออ่อนที่เชื่อมกระดูกอ่อนรูปตัว C ขาดความแข็งแรง ซึ่งส่งผลให้กระดูกอ่อนรูปตัว C ไม่คงตัว ทำให้กระดูกอ่อนตีบแคบลงจนหลอดลมตีบตัน จุดสังเกต สุนัขจะไอเหมือนเสียงห่าน (Goose Honk) คลิ๊กเพื่อดูคลิปชิวาว่าไอเหมือนเสียงห่าน
คำแนะนำ มักพบภาวะหลอดลมตีบในสุนัขโตเต็มวัยจนถึงสุนัขแก่ ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้และหวังให้หายเอง ภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ หากพบสุนัขไอแห้ง ๆ ควรพาสุนัขไปหาหมอเพื่อให้หมอวินิจฉัยว่าไอเพราะอะไร ภาวะนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การควบคุมน้ำหนักของชิวาว่าให้อยู่ในเกณฑ์ปกติช่วยลดโอกาสเกิดภาวะหลอดลมตีบได้
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ภาวะฉุกเฉินในสุนัข