กาโตโระเชื่อว่าเจ้าของแมวทุกท่านต้องเคยเจอเหตุการณ์แมวกัดหรือแมวข่วน อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิตหรือบางคนอาจจะโดนงับทุกครั้งที่เล่นกับเจ้าเหมียวก็เป็นได้ ขึ้นชื่อว่าแมว แน่นอนว่าบางครั้งพวกเขาก็รู้สึกอยากงับมือเจ้าของขึ้นมาตามสัญชาตญาณนักล่า เชื่อหรือไม่ว่า “โดนแมวกัดนิดเดียว” อันตรายกว่าที่คิด อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าไม่เป็นหรอกแค่นี้เอง ไปดูกันว่าน้ำลายเจ้าเหมียวทำอะไรเราได้บ้าง
คนโดนแมวกัดนิดเดียว อันตรายมั้ย?
น้ำลายของแมวเต็มไปด้วยแบคทีเรียจำนวนนับพันล้าน ซึ่งถ้าหากเรามีบาดแผล ไม่ว่าจะเกิดจากแมวกัด แมวข่วนหรือแมวเผลอเลียแผล บอกเลยว่าอันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เด็ก คนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว แผลอาจติดเชื้อได้ง่าย ๆ เช่น Pasteurella multocida, Clostridium tetani และ Bartonella henselae ที่อาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงจนเสียชีวิตได้จากรอยแผลเล็กจิ๋วเท่านั้น1,8
ผลสำรวจจาก WHO (World Health Organization) พบว่าแต่ละปีทั่วโลกมีคนโดนแมวกัดเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหญิงสาวทาสแมวมีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะถูกแมวกัด ลองมองภาพคร่าว ๆ ยกตัวอย่างชาวอิตาเลียน 100,000 คนจะมีคนโดนแมวกัดถึง 18 คนเลยทีเดียว2
ความอันตรายของแผลโดนแมวกัดนิดเดียวคือ ความชะล่าใจ เนื่องจากบางครั้งการเล่นกับแมวอาจสร้างบาดแผลโดยไม่รู้ตัว แผลขนาดเล็กจิ๋วจนคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรหรือแมวเหมียวที่เลี้ยงมากับมือต้องสะอาดและปลอดภัยอย่างแน่นอน นี่คือความเข้าใจผิดที่อาจทำให้เราละเลยการป้องกันตัวเองจากอันตรายที่มาจากเชื้อโรคในน้ำลายแมว
โรคร้ายแรงที่มีจุดเริ่มต้นจากโดนแมวกัดนิดเดียว
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำหรือโรคหมาบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสที่โจมตีระบบประสาท สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ ติดเชื้อจากน้ำลายของสัตว์ป่วยโดยการกัดหรือข่วน ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าคือ มนุษย์สามารถติดเชื้อได้แม้ว่าแผลจะเล็กนิดเดียว ระยะฟักตัวของเชื้ออาจยาวนานเป็นปีหลังโดนกัด โอกาสตาย 100% แม้ว่าจะมีผู้รอดชีวิตแต่ก็มีน้อยมากเมื่อเทียบกับคนตายราว 59,000 คนต่อปีทั่วโลก5
อาการ: ชาบริเวณที่ถูกกัดหรือข่วน ซึมหรือก้าวร้าว ไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัว (แสงสว่าง ลมและเสียงดัง) กลืนลำบาก อัมพาตและเสียชีวิต
อ่าน วัคซีนแมว เพราะการป้องกันดีกว่าการรักษาเสมอ แมวทุกตัวควรได้รับวัคซีนตามโปรแกรม
โรคบาดทะยัก (Tetanus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งมักเกิดขึ้นกับแผลขนาดเล็ก ลึกและไม่สะอาด ระยะฟักตัวของเชื้อก่อนแสดงอาการ 3-21 วัน โรคนี้มีวัคซีนป้องกันซึ่งหลังจากฉีดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันนานถึง 10 ปี โดยปกติคนไทยได้รับวัคซีนบาดทะยักทุกคน แต่ในกรณีเป็นแผลที่มีโอกาสติดเชื้ออาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีกครั้ง บาดทะยักรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
อาการ: มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อเกร็งโดยเฉพาะกราม ท้อง หน้าอก หลังและคอ6
โรคแมวข่วน (Cat-scratch disease) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bartonella henselae ซึ่งไม่ใช่แค่การข่วนเท่านั้น แต่การเลียหรือโดนแมวกัดนิดเดียวก็ติดเชื้อได้ แมว 40% มีเชื้อแบคทีเรียนี้อยู่ในน้ำลายหรือติดอยู่ที่เล็บ โดยแมวได้รับเชื้อผ่านทางหมัดกัด แมวติดเชื้อนี้ได้เช่นกันแต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ4
อย่าเพิ่งตกใจ!!! ไม่ใช่ทุกคนที่โดนแมวเลีย ข่วนหรือกัดจะติดเชื้อนี้ เพราะการทำความสะอาดแผลเป็นอย่างดีสามารถลดโอกาสติดเชื้อได้ แต่คนที่ร่างกายอ่อนแอหรือเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 5 ปีมีโอกาสป่วยมากกว่าคนสุขภาพดี ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์และสามารถรักษาการติดเชื้อได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ4
อาการ: มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนแรง ต่อมน้ำเหลืองบวมเป็นหนอง (โดยเฉพาะที่ใกล้บริเวณที่ถูกกัดหรือข่วน)
รู้หรือไม่ การป้องกันโรคแมวข่วนที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือ ลดโอกาสที่แมวจะสัมผัสเชื้อจากหมัด โดยการกำจัดหมัดให้หมดไปจากตัวแมว และการตัดเล็บแมวก็ลดโอกาสโดนข่วนเป็นแผลจากเล็บคม ๆ ของน้องเหมียว
ขั้นตอนดูแลตัวเองภายหลังโดนแมวกัดนิดเดียวแบบ step by step
รู้จักแผลแมวกัดแบบต่าง ๆ กันก่อน ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามความโหดของเจ้าเหมียว อาการแบบไหนที่ควรรีบไปหาหมอให้เร็วที่สุด
- แผลโดนแมวกัดที่ฉีกขาดและเลือดไหลไม่หยุด
- แผลโดนแมวกัดบวมแดง โดยเฉพาะรูเขี้ยวเล็ก ๆ อาจติดเชื้อแบคทีเรียจนอักเสบและเป็นหนองได้
- แผลโดนแมวกัดนิดเดียวหรือแมวข่วน แต่เจ้าเหมียวที่ทำร้ายเราเป็นแมวจรหรือแมวของคนอื่น ซึ่งไม่ทราบประวัติวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- แผลโดนแมวกัดนิดเดียวที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก หากแผลเริ่มมีอาการบวมแดง เจ็บปวดมากหรือบางกรณีรอบแผลไม่มีความรู้สึก (loss of sensation) มีหนองไหลออกมาจากแผล ต่อมน้ำเหลืองบวม มีไข้ อ่อนแรง เหล่านี้คือสัญญาณของการแผลติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้1
เมื่อเกิดเหตุการณ์โดนแมวกัดนิดเดียว อย่าเพิ่งคิดว่าแผลนิดเดียวจริง ๆ นะ ไม่น่าจะเป็นอะไรมากมาย ทุกครั้งที่โดนแมวกัดหรือข่วน ไม่ว่าจะไม่มีแผล แผลเล็กจิ๋ว ไปจนถึงแผลเขี้ยวลึกหรือแผลฉีกขาดที่เลือดไหลเยอะ ๆ ต้องรีบปฏิบัติตามคำแนะนำ3 ดังนี้
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หลาย ๆ รอบ จนแน่ใจว่าผิวหนังบริเวณที่โดนกัดหรือข่วนสะอาด
- สำรวจบาดแผลว่ารุนแรงแค่ไหน
- ไม่มีบาดแผลหรือมีรอยขีดข่วนเล็ก ๆ ที่ไม่มีเลือดออก ไม่เจ็บ
- แผลเล็ก ๆ หรือรอยข่วนที่ไม่ลึก อาจมีเลือดออกซิบ ๆ
- แผลเขี้ยวลึก รูเล็ก บริเวณรอยเขี้ยวมักปวดและบวมด้วย
- แผลฉีกขาดเลือดไหลเยอะ
- หากบาดแผลไม่รุนแรงมากเป็นเพียงรอยขีดข่วนหรือแผลไม่ลึก สามารถทำแผลเองที่บ้านได้ โดยใช้ยาทาแผล เช่น เบตาดีนหรือครีมทาแผลที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าปิดแผลที่สะอาด แผลแบบนี้ควรทำแผลทุกวันจนกว่าจะหายสนิท
- ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ล้างแผลหรือทาแผลสด เพราะรุนแรงเกินไปจนทำลายเนื้อเยื่อรอบ ๆ แผล ทำให้แผลหายช้า
- แผลเขี้ยวลึก รูเล็ก ปวดนิด ๆ แต่อันตรายกว่าที่คิด เพราะแผลแบบนี้อาจกักเก็บเชื้อแบคทีเรียจากน้ำลายแมวไว้ข้างในจนกลายเป็นหนองในที่สุด แม้ว่าจะล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วก็ตาม แนะนำให้ไปหาหมอโดยเร็วที่สุด
- แผลฉีกขาดเลือดไหลเยอะ หลังล้างแผลให้สะอาด ใช้ผ้าก๊อซสะอาดกดแผลเพื่อห้ามเลือดและรีบไปหาหมอทันที
- แผลตามข้อ 4 และ 5 ไม่ใช่ทำแผลเพียงอย่างเดียวแล้วจบ อาจต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันพิษสุนัขบ้าและบาดทะยัก รวมทั้งยาปฏิชีวนะด้วย (คุณหมอจะถามประวัติวัคซีนทั้งคนและแมว เพื่อวางแผนการรักษาต่อไปค่ะ)
แมวกัด มีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากน้อยแค่ไหน
ประเมินความเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้าโดยแบ่งแมวออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- แมวของเรา แมวเพื่อนบ้านหรือแมวจร – ข้อมูลนี้สำคัญในเรื่องข้อมูลการฉีดวัคซีนแมว โดยเฉพาะวัคซีนพิษสุนัขบ้า แมวที่เลี้ยงในบ้านมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าน้อยกว่าแมวจรมาก สำหรับแมวที่ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าสม่ำเสมอทุกปี มีโอกาสน้อยมากที่จะติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แต่อย่างไรก็ตามแผลโดนแมวกัดนิดเดียวก็มีความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ตามมาได้เช่นกัน
- แมวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแต่ไปเที่ยวนอกบ้าน มีโอกาสโดนสุนัขหรือแมวกัด แม้กระทั่งการออกล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเล็ก ๆ เช่น ค้างคาว หนูหรือกระรอก ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากกว่าแมวเลี้ยงในบ้าน อย่าลืมแจ้งความเสี่ยงนี้ให้คุณหมอทราบและกักตัวแมวเพื่อดูอาการผิดปกติ 10-15 วัน7
- แมวจร ไปหาคุณหมอเร็วที่สุด เพื่อฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่ทราบประวัติใดใดของแมวเลย แมวอาจป่วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าสามารถจับแมวได้ควรกักตัวแมวเพื่อดูอาการผิดปกติเช่นกัน ถ้าหากแมวตายในช่วงระยะเวลาเฝ้าระวังควรส่งศพแมวให้สำนักงานปศุสัตว์ใกล้บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้า
โดนแมวกัดแล้วอย่าลืมจับตาดูแมวเหมียวที่กัดเรา ตามขั้นตอนดังนี้
- พิจารณาความเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้าตามประเภทของแมว ถ้าหากแมวที่กัดหรือข่วนเป็นแมวของเราเองและฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเรียบร้อย ไม่ต้องกังวลว่าแมวจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
- แมวจรและแมวเที่ยวนอกบ้าน มีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการต่อสู้หรือล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็ก ๆ กรณีนี้จำเป็นมากที่จะต้องกักบริเวณแมว 10-15 วัน แนะนำให้ขังกรงที่มีความแน่นหนาและปลอดภัยต่อคนดูแลแมว ถ้าไม่สามารถกักบริเวณแมวที่บ้าน การฝากแมวไว้กับสัตวแพทย์ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน
- แมวจรที่ไม่สามารถกักบริเวณได้ กรณีนี้ดูอาการแมวยากหน่อย คงทำได้เพียงสังเกตอาการแมวเท่าที่ทำได้ หากพบว่าแมวมีชีวิตอยู่หลังจากกัดคนแล้ว 10-15 วัน ก็แสดงว่าแมวไม่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า (ตามทฤษฎีแมวที่แสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้าจะตายภายใน 7 วัน) แต่คนที่โดนแมวจรกัดหรือข่วน ไม่ต้องรอดูอาการแมว ควรไปหาคุณหมอเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันทันที
- แมวที่กัดมีอาการผิดปกติ น่าสงสัยว่าอาจติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เช่น เกรี้ยวกราดดุร้าย (แมวบางตัวกลับมีอาการซึมมากและพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมในทางตรงกันข้าม) หลบซ่อนตัว ตื่นตกใจง่าย กลืนลำบากทั้งอาหารและน้ำ น้ำลายไหลมาก ทรงตัวลำบาก ชักเกร็ง อัมพาตและเสียชีวิตภายหลังแสดงอาการป่วยประมาณ 7 วัน ควรแจ้งให้สำนักงานปศุสัตว์ในเขตพื้นที่ทราบ เพื่อตรวจสอบและป้องกันโรคระบาดต่อไป
บทสรุป
โดนแมวกัดนิดเดียวอย่าวางใจ เพราะนอกจากไวรัสที่ติดแล้วตายแน่นอนอย่างโรคพิษสุนัขบ้าหรือแบคทีเรียทั้งโรคบาดทะยักและแผลติดเชื้อ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา กาโตโระแนะนำเพียงการดูแลตัวเองเบื้องต้นจากแผลโดนแมวกัดนิดเดียว หากไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไรกับแผลและควรฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี แนะนำให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อวางแผนการรักษาให้ปลอดภัยมากที่สุด
อ้างอิง
- https://www.healthline.com/health/cat-bite
- https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/animal-bites
- https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-animal-bites/basics/ART-20056591?p=1
- https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/cat-scratch-fever
- https://www.healthline.com/health/rabies
- https://www.healthline.com/health/tetanus
- http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=505
- https://www.healthline.com/health/animal-bite-infections#risk-factors