ความเป็นมาของสายพันธุ์
แมวพันธุ์ บริติช ช็อตแฮร์ มีต้นกำเนิดมายาวนาน เป็นหนึ่งในแมวสายพันธุ์ ที่มีประวัติมายาวนานจากประเทศอังกฤษ โดยเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ทหารชาวโรมันได้นำแมวเข้ามาเลี้ยงในแคมป์ทหาร และแมวที่ถูกนำมาเลี้ยงนั้นได้ผสมกับแมวสายพันธุ์แมวป่าในอังกฤษ จนเกิดเป็นแมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ขึ้นและเป็นที่รู้จักครั้งแรกในงาน First-Ever Cat Show ในกรุงลอนดอน ปี ค.ศ. 1870
แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 แมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ ได้รับความสนใจลดลง เพราะแมวพันธุ์ขนยาว เช่น พันธุ์เปอร์เซีย ได้รับความนิยมมากขึ้น ประกอบกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้แมวพันธุ์นี้ลดจำนวนลงมากอย่างน่าใจหาย ภายหลังสงครามครั้งที่ 1 จบลง ได้มีการนำแมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ มาผสมกับสายพันธุ์เปอร์เซีย (Persian) , รัสเซียน บลู (Russian Blue) , ชาร์ตรู (French Chartreux) และ แมวพื้นเมืองขนสั้น (Domestic shorthair) เพื่อรักษาประชากรของบริติช ช็อตแฮร์ไว้ จนกลายเป็นลักษณะที่เป็นทางการของสายพันธุ์นี้เฉกเช่นในปัจจุบัน และได้รับการรับรองสายพันธุ์จาก Cat Fanciers’ Association (CFA) และ The International Cat Association (TICA) ในปี ค.ศ. 1970
ในแง่มุมของสัตว์เลี้ยง แมวพันธุ์ บริติช ช็อตแฮร์ แรกเริ่มถูกนำมาเลี้ยงอย่างแพร่หลายในอังกฤษ เพื่อกำจัดศัตรูพืช และสัตว์รบกวนในไร่เป็นเวลานานหลายศตวรรษ ในระหว่างนั้นเอง แมวบริติช ช็อตแฮร์ ได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์จนมีสัดส่วนร่างกายที่ดีเยี่ยม เหมาะแก่การล่าหนู โดยปรับให้มีขนาดตัวปานกลางถึงใหญ่ ลำตัวหนากำยำ ขามั่นคงแข็งแรง หัวกลมใหญ่ แก้มกลม ตาโตใหญ่ ขนสั้นหนาอัดแน่นแต่ไม่ยุ่งเหยิง และด้วยความสุภาพ อ่อนโยน ซื่อสัตย์ของแมวพันธุ์นี้ ทำให้ถูกนำมาเลี้ยงเป็นแมวในบ้านมากขึ้น
และในปลายศตวรรษที่ 18 ได้มีผู้เพาะพันธุ์สัตว์ นำแมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ มาผสมกับแมวแต่ละสายพันธุ์ ทำให้เกิดสีขนหลายแบบ ทั้งแบบสีล้วน ลายแท็บบี้ ลายกระดองเต่า สีควันบุหรี่ ลายที่มีสีเข้มเฉพาะจุด นอกจากนั้นในแต่ละแบบยังมีสีสันที่หลากหลายอีกด้วย แต่สีที่รู้จักคุ้นเคยกันดีและนิยมมากที่สุดคือ แมวบริติช ช็อตแฮร์สีบลู (British Blue) ซึ่งมีขนหนาสีเทาน้ำเงินทั้งตัว ตาสีเหลืองอำพัน หางยาวปานกลางปลายมนขนหนาแน่น
การดูแลทั่วไป
แมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ มีนิสัยรักสงบ กระฉับกระเฉง ขี้อ้อน ชอบอยู่ในบ้าน ไม่ต้องการกิจกรรมเยอะ ชอบสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวในบ้าน การดูแลจึงมีเพียงจัดการอาหารคุณภาพดีให้เพียงพอและเหมาสม มีที่ฝนเล็บ พื้นที่ผ่อนคลายเพื่อมองสิ่งเคลื่อนไหวรอบด้าน มีของเล่นหลากหลายเพื่อกระตุ้นการออกกำลังกายให้กับแมวพันธุ์นี้ ผู้เลี้ยงดูควรมีกิจกรรมเล่นกับแมวบ้าง มีที่นอนที่เหมาะสม มีมุมให้อยู่อย่างสงบที่หลบภัยได้ ดูเป็นส่วนตัว ไม่พลุกพล่าน และมีพื้นที่ข้าง ๆ เจ้าของให้นั่งอยู่เคียงข้างก็เพียงพอแล้ว
มีพื้นที่วางชามน้ำและอาหารที่สะอาด และเป็นส่วนตัว และเปลี่ยนน้ำและอาหารทุกวัน ควรมีชามน้ำหลายตำแหน่งในบ้าน หรือมีน้ำพุแมวจะทำให้แมวกินน้ำได้มากขึ้น เนื่องจากแมวบางตัวชอบน้ำไหล และบางตัวสายตาไม่ดี อาจมองระดับน้ำในชามไม่เห็น จึงลำบากในการก้มกินน้ำได้
พื้นที่ขับถ่ายที่สะอาดเสมอ กระบะทรายควรใหญ่กว่าตัวแมว 1.5 เท่าของความยาวตัวแมว ตักทำความสะอาดกระบะทรายทุกวัน และเปลี่ยนทรายแมวทั้งกระบะทุกสัปดาห์ ควรสังเกตุสีปัสสาวะและลักษณะอุจจาระทุกวัน
แม้จะเป็นแมวที่ดูรักสงบ นิ่งนิ่ง แต่บริติช ช็อตแฮร์ ก็ยังชอบที่จะออกไปเที่ยวนอกบ้านและสนุกกับการล่าอยู่เสมอ
สารอาหาร
อาหารที่เหมาะสำหรับแมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ คืออาหารแมวคุณภาพดีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุของแมว ควรมีสารอาหารครบถ้วนที่เหมาะกับแมว ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ นั่นคือ ควรได้รับ โปรตีน สูงจากเนื้อสัตว์ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นในแมว เช่น
Taurine (ทอรีน) เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นมากในแมว มีส่วนสำคัญในระบบการทำงานต่างของร่างกาย โดยเฉพาะระบบการรับรู้ และการมองเห็น ซึ่ง Taurine สามารถพบได้มากที่สุดในสัตว์ทะเลจำพวกหอย ปลาทะเล และสาหร่ายทะเล รองลงมาคือพบในเนื้อของสัตว์ปีก แต่เมื่อโดนความร้อน จากการปรุงสุก ทำให้สูญเสีย Taurine ได้ ดังนั้น ในฉลากอาหารควรระบุว่ามาการเสริม Taurine อยู่ด้วย
แคลเซียม มีความสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน
แมกนีเซียม มีความสำคัญในการเสริมความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท
และกรดไขมันที่จำเป็น เช่น Omega 3 และ Omega 6 เป็นต้น
ผักและผลไม้ไม่จำเป็นสำหรับแมว แต่สามารถให้ได้เพื่อเพิ่มน้ำให้กับร่างกายแมว เพราะส่วนใหญ่กินน้ำน้อย โดยผักผลไม้ที่แมวชอบและปลอดภัยต่อแมว คือ แตงกวา แคนตาลูป และแอปเปิ้ล
แต่ผักจำพวกหัวหอม กระเทียมและต้นหอม รวมทั้งผลไม้จำพวกส้มและมะนาว ไม่ควรให้แมวกินเด็ดขาด
สารอาหารจำพวกธัญพืช ไม่ควรให้กับแมว เพราะทางเดินอาหารแมวไม่เหมาะสมในการย่อยอาหารพวกธัญพืช
หากต้องการทำอาหารเองให้แมวแบบโฮมเมด ส่วนใหญ่อาจเป็นเนื้อดิบ ควรระวังเรื่องความสะอาดอย่างมาก เพราะแมวอาจติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิตจากอาเนื้อดิบและขั้นตอนการทำอาหารได้ และควรคำนึงถึงสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน อาจทำให้เนื้อสุกและเสริมทอรีนและวิตามินสังเคราะห์อื่น ๆ เพิ่มเติมให้เหมาะสมได้
ควรให้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว หรือให้เป็นมื้อ ๆ และคุมปริมาณอาหาร หรือใช้สูตรอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน (Indoor cat) ไม่ควรเทให้อาหารแบบไม่จำกัดหรือบุฟเฟท์ เพราะแมวพันธุ์นี้ทำกิจกรรมน้อยในแต่ละวัน หรือขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูหรือกิจกรรมของแมวแต่ละตัว เพราะแมวพันธุ์นี้หากกินอาหารหรือขนมมากเกินอาจเสี่ยงภาวะโรคอ้วนได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ตามมาได้
น้ำสะอาดควรมีไว้ในบ้านหลายตำแหน่ง และเปลี่ยนน้ำทุกวัน
การดูแลความสะอาด
แมวพันธุ์นี้มีขนสั้น ละเอียด ฟูหนา การดูแลขนเพียงแค่แปรงขนเป็นประจำทุกสัปดาห์ก็เพียงพอ อาจไม่จำเป็นต้องอาบน้ำบ่อย ๆ นอกจากนี้การแปรงขนยังช่วยให้แมวผ่อนคลาย ทำให้สุขภาพขนและผิวหนังแข็งแรง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงด้วย
ควรตัดเล็บ เช็ดหู ทุกสัปดาห์ และแปรงฟันบ่อย ๆ โดยสามารถดูวิธีการทำได้ที่นี่
How to ตัดเล็บแมวทำยังไงให้เจ้านายเล็บสั้นแบบไม่มีใครเจ็บตัว
How to แปรงฟันแมวแบบง่าย ๆ เจ้าเหมียวไม่หงุดหงิด | กาโตโระ
การดูแลสุขภาพ
การดูแลสุขภาพในแมวพันธุ์บริติช ช็อตแฮร์ ควรดูแลอย่างละเอียดทุกระบบเหมือนการดูแลสัตว์เลี้ยงทั่วไป ซึ่งอาจมีปัญหาสุขภาพได้หลากหลายระบบ แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยในแมวพันธุ์นี้ คือ
โรคปากอักเสบ (stomatitis) สามารถศึกษาเบื้องต้นได้จากบทความนี้ How to รับมือกับปัญหาแมวปากเหม็นแบบมือโปร
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (Hyperthrophic cardiomyopathy)
โรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease)
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) สามารถศึกษาเบื้องต้นได้จาก 2 บทความนี้ 4 ขั้นตอนพิชิตปัญหาแมวกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และ ทำไมกันนะ แมวเหมียวแสนดีกลายเป็นแมวฉี่ไม่เป็นที่สุดเลอะเทอะ
โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism)
โรคติดเชื้อพยาธิ (Tritrichomonas foetus)
โรคช่องท้องอักเสบ (Feline infectious peritonitis)
โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก (Intervertebral disc disease)
โรคนิ่ว (Urolithiasis) เป็นต้น
ดังนั้นการดูแลสุขภาพและความสะอาดเบื้องต้นให้กับแมวพันธุ์นี้เป็นประจำจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพบางระบบได้ เช่น ลดการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่ว และโรคปากอักเสบ เป็นต้น โดยดูแลเรื่องการให้อาหารที่เหมาะสม ควรตัดเล็บ แปรงฟัน แปรงขน เช็ดหู เช็ดรอบตาเป็นประจำทุกสัปดาห์
รักษาความสะอาดบริเวณสถานที่เลี้ยง ภาชนะใส่อาหารและที่ขับถ่าย ก็ช่วยให้แมวมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง อายุยืนได้
นอกจากนี้การพาน้องแมวไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ฉีดวัคซีน วัคซีนแมว: เรื่องที่ต้องรู้ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน และถ่ายพยาธิเป็นประจำ จะช่วยลดโอกาสการติดโรคติดเชื้ออื่น ๆ ให้กับน้องแมวที่เลี้ยงได้ด้วย