กาโตโระคิดว่าหลายท่านอาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับกลิ่นปากของแมวเหมียวที่บ้าน ซึ่งระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป “แมวปากเหม็น” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อาการนี้สามารถบอกเราได้เบื้องต้นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายแมวแล้ว มาดูกันว่ากลิ่นปากของแมวบอกอะไรเราบ้าง
ปากและฟันของแมว จุดเริ่มต้นของกลิ่นปาก
แมวมีฟันน้ำนมและฟันแท้เหมือนกับมนุษย์ โดยฟันน้ำนมมีทั้งหมด 26 ซี่ จะเริ่มงอกขึ้นมาเมื่อลูกแมวอายุ 4 สัปดาห์และมีฟันน้ำนมขึ้นครบเมื่ออายุ 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อลูกแมวอายุ 6 เดือนฟันน้ำนมจะเริ่มร่วงหลุดไปและมีฟันแท้ที่แข็งแรงกว่าขึ้นมาทดแทนจำนวนท้ังหมด 30 ซี่1
90 เปอร์เซ็นต์ของแมวประสบปัญหาช่องปากและฟันอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต สำหรับแมวบางตัวปัญหาเหล่านี้อาจรุนแรงถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แมวปากเหม็น แมวน้ำลายไหล แมวเหงือกอักเสบ หรือแมวไม่กินอาหาร และในที่สุดอาจลงเอยด้วยการถอนฟัน1
แมวบางสายพันธุ์เกิดมาพร้อมความเสี่ยงปัญหาเรื่องช่องปากและฟันมากกว่าแมวสายพันธุ์อื่น เช่น อะบิสซิเนียน (Abyssinains), วิเชียรมาศ (Siamese), เมนคูน (Maine Coons), โซมาลิส (Somalis), เปอร์เซีย (Persians), ชินชิล่า (Chinchillas), บริติช ช็อตแฮร์ (British Shorthairs) และ เอ็กโซติก ช็อตแฮร์ (Exotic Shorthairs)1,2
“แมวหน้าสั้น” มักมีปัญหาช่องปากและฟันมากกว่าแมวโครงหน้าปกติ เนื่องจากลักษณะกะโหลกศีรษะของแมวหน้าสั้นไม่เหมือนแมวโครงหน้าปกติ แมวหน้าสั้นมีกระดูกขากรรไกรบน (Maxilla bone) ที่สั้นและโค้งขึ้นไปด้านบน เราสามารถสังเกตตำแหน่งจมูกของแมวหน้าสั้นเทียบกับตำแหน่งตา ยิ่งตำแหน่งจมูกอยู่สูงมากเท่าไหร่หมายความว่ากระดูกขากรรไกรบนโค้งมากเท่านั้น ซึ่งกระดูกขากรรไกรบนที่สั้นและโค้งนี้เองที่ทำให้การเรียงตัวของฟันบนกับฟันล่างไม่สบกัน ฟันเก หรือฟันซ้อน
สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับแมวหน้าสั้นคือ เกิดการสะสมหินปูนและเหงือกอักเสบได้ง่ายกว่าแมวสายพันธุ์อื่น ๆ2 เนื่องจากฟันบนกับฟันล่างไม่สบกัน ทำให้การเคี้ยวอาหารไม่ได้ช่วยขัดถูฟันเท่าที่ควรแม้จะกินอาหารเม็ดที่ค่อนข้างแข็งก็ตาม
กลิ่นแบบไหนที่เรียกว่า แมวปากเหม็น
กลิ่นปากแมวเป็นแบบไหน เหมือนกลิ่นปากคนหรือไม่? ตอบได้เลยว่ากลิ่นแบบเดียวกัน แต่กลิ่นปากแมวรุนแรงกว่าแน่นอนโดยเฉพาะแมวป่วยที่มีปัญหาช่องปากและฟัน
หากอยากรู้ว่าแมวเหมียวที่บ้านมีกลิ่นปากหรือไม่ ลองดมปากและลมหายใจของแมวใกล้ ๆ ตอนหลับสนิท ถ้ามีกลิ่นตุ่ย ๆ เหมือนกลิ่นปากของเราที่ไม่ได้แปรงฟันสัก 2-3 วัน นั่นล่ะ แมวปากเหม็นที่เรากำลังพูดถึง
คำเตือน อย่าดมกลิ่นปากแมวหลังกินอาหารเสร็จใหม่ ๆ นะ เพราะอาจจะสับสนกลิ่นปากแมวกับกลิ่นอาหารก็เป็นได้และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือตอนที่แมวนอนหลับสนิท
ทำไมต้องดมปากแมวตอนหลับด้วยล่ะ?
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมแมวกล่าวว่า แมวส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบให้มนุษย์กอด หอมหน้าแมวหรือเอาอะไรก็ตามไปสัมผัสหนวดแมว หากทำแบบนั้นกับแมวขี้หงุดหงิดอาจโดนข่วนหน้าได้ง่าย ๆ ดังนั้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการดมปากแมวก็คือตอนนอนหลับนี่ล่ะ
สาเหตุของแมวปากเหม็น
แมวปากเหม็นมีสาเหตุหลักแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับปากและฟันโดยตรงกับปัญหากลิ่นปากที่มีสาเหตุโน้มนำมาจากปัญหาภายนอกช่องปาก เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น
1. ปัญหาที่เกิดกับช่องปากและฟัน (Oral cavity and teeth)
แมว 50-90 เปอร์เซ็นต์เริ่มมีปัญหาช่องปากและฟันเมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไปและรุนแรงขึ้นไปตามอายุเมื่อไม่ได้รับการรักษา5 ซึ่งเราสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้โดยการจัดการเรื่องอาหารและดูแลความสะอาดภายในช่องปากของแมว
เรามารู้จักสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปากแมวและทำให้แมวปากเหม็นกันเถอะ
คราบแบคทีเรีย (Plaque) ลักษณะเป็นคราบสีขาวหรือสีเทาที่เคลือบอยู่บนผิวฟัน ค่อนข้างนิ่มแต่เกาะผิวฟันอย่างแน่นเหนียว หมายความว่า การกินน้ำไม่สามารถชะล้างคราบออกไปได้ ต้องอาศัยการขัดถู เช่น การแปรงฟันหรือการเคี้ยวอาหารที่ค่อนข้างหยาบจะช่วยการสะสมของคราบแบคทีเรียได้ เมื่อคราบแบคทีเรียก่อตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเหงือกและจากคราบนิ่ม ๆ ก็จะกลายเป็นหินปูนในที่สุด2,5
หินปูน (Tartar) มีจุดเริ่มต้นมาจากคราบแบคทีเรียที่สะสมกันมาอย่างยาวนานและเริ่มมีแคลเซียมมาเกาะจนทำให้แข็งขึ้น หินปูนทำให้เหงือกอักเสบและเหงือกร่น เราไม่สามารถแปรงฟันหรือแคะหินปูนหนา ๆ ออกเองได้ ต้องใช้อุปกรณ์ขูดหินปูนเพื่อทำความสะอาดช่องปาก2
เหงือกอักเสบ (Gingivitis) สาเหตุหลัก ๆ ของแมวเหงือกอักเสบมาจากการสะสมของคราบแบคทีเรียและหินปูน เราจะสังเกตเห็นขอบเหงือกอักเสบ บวม แดง และอาจพบเลือดออกได้ ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เหงือกอักเสบแมวจะยังใช้ชีวิตปกติ ถ้าเจ้าของไม่เปิดปากแมวดูก็อาจไม่ทราบว่าแมวเหงือกอักเสบและยังสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องไปหาหมอเพียงแค่แปรงฟันเพื่อเอาคราบแบคทีเรียออกเท่านั้น แต่หากปล่อยไว้จนเหงือกอักเสบรุนแรงขึ้น หินปูนเกาะหนา เหงือกร่น ตอนนี้ล่ะที่แมวจะเริ่มเจ็บปวด แมวน้ำลายไหล แมวปากเหม็นและแมวไม่กินอาหาร รวมทั้งมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาด้วย5
โรคปริทันต์ (Periodontitis) เป็นจุดที่เหงือกอักเสบอย่างรุนแรงจนทำให้เนื้อเยื่อที่ยึดเกาะรากฟันกับกระดูกกรามเริ่มสลายตัวไป มักพบในแมวแก่มากกว่าแมวเด็ก อาการของโรคคือ แมวฟันโยก เหงือกอักเสบ บวมแดง มีเลือดออกและเจ็บปวดมาก มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ซึ่งหากการติดเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าไปในรากฟันอาจเกิดก้อนฝี (Root tooth abscess) ขึ้นได้ (ก้อนฝีที่เกิดขึ้นเราอาจคลำพบก้อนบวมบริเวณใบหน้า ใต้ตา ต่อมน้ำเหลืองบวม หรือบางครั้งอาจจะทะลุเข้าสู่โพรงจมูกและมีอาการคล้ายเป็นหวัดมีน้ำมูกแบบเรื้อรัง)2,5
ฟันสลายตัว (Tooth Resorption) เป็นสาเหตุที่ทำให้แมวสูญเสียฟันซึ่งพบได้ประมาณ 30-70 เปอร์เซ็นต์5 ส่วนสาเหตุยังไม่แน่ชัดแต่มีความเป็นไปได้ตามทฤษฎีว่า ฟันเกิดการสลายตัวเนื่องจากถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง (Trauma) หรือการอักเสบ (Inflammation) ฟันจะสูญเสียสารเคลือบฟัน (Enamel) ลึกลงไปถึงเนื้อฟัน (Dentine) และค่อย ๆ สลายหรือหักไปในที่สุด ส่วนใหญ่ภาวะฟันสลายตัวสร้างความเจ็บปวดสำหรับแมวมาก7
2. ความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย (Systemic diseases)
กลิ่นปากที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นผลมาจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคผิวหนังที่เกิดจากอาการแพ้ ทำให้แมวมีแผลบริเวณริมฝีปากก็เป็นสาเหตุของแมวปากเหม็นได้
อาการที่พบอาจไม่ใช่แค่กลิ่นปากหรือแผลในปากเพียงอย่างเดียว แต่จะพบอาการอื่น ๆ ที่จำเพาะต่อโรคนั้นด้วย เช่น แมวผอมลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ เป็นหวัดแบบรุนแรงหรือผิวหนังอักเสบ เป็นต้น กรณีนี้การดมกลิ่นปากแมวเพียงอย่างเดียวสัตวแพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร ต้องอาศัยการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม
กลิ่นปากแบบไหนมาจากความผิดปกติภายในร่างกายไม่ใช่ที่ปาก
กลิ่นปากแบบไหน บ่งบอกว่าแมวเป็น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวานหรือมาจากผิวหนังอักเสบ บอกเลยว่าแยกกันค่อนข้างยาก จมูกมนุษย์อาจไม่สามารถแยกกลิ่นได้ดีขนาดนั้น บางครั้งเวลาพาแมวไปหาหมอ โดยเฉพาะแมวแก่ เราอาจเคยได้ยินว่าหมอขอตรวจค่าตับค่าไตเพราะได้กลิ่นปาก นั่นเป็นเพราะ แมวแก่มีโอกาสเจ็บป่วยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น และกลิ่นปากอาจเป็นหนึ่งในอาการที่หมอสงสัยว่าเกิดความผิดปกติขึ้นแล้วล่ะ ถ้าไม่ใช่มาจากปากก็มาจากความผิดปกติภายในร่างกายหรือทั้งสองสาเหตุ
กรณีที่แมวมีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไตและโรคเบาหวานอยู่แล้ว กลิ่นปากที่เปลี่ยนไปหรือรุนแรงขึ้นเป็นอาการที่เจ้าของใช้สังเกตว่า โรคที่เป็นอยู่อาจจะกำเริบขึ้นมาก็ได้นะ แต่อย่าลืมสังเกตอาการอื่น ๆ เช่น ซึมลง อาเจียน ไม่กินอาหาร ปัสสาวะสีผิดปกติ ถ่ายเหลว ไม่มีแรง เป็นต้น
แมวผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (feline eosinophilic granuloma)
แมวที่ผิวหนังอักเสบจากการแพ้สารบางอย่าง สามารถเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้ทั่วตัว บางครั้งพบว่าแมวมีแผลผิวหนังอักเสบบริเวณริมฝีปากทำให้แมวน้ำลายไหลและมีกลิ่นปาก และบ่อยครั้งอาจเกิดจากแมวแพ้น้ำลายหมัด ดังนั้นอย่าลืมหยอดยากำจัดหมัดให้แมวอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงปล่อยนอกบ้าน
เชื้อไวรัสกับปัญหาแมวปากเหม็น
แมวที่มีปัญหาเหงือกอักเสบ ปาก ลิ้น และกระพุ้งแก้มอักเสบเป็นแผลแบบเรื้อรัง (Chronic Gingivostomatitis) มักมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเอดส์แมว (FIV), ลิวคีเมีย (FeLv) และกลุ่มไวรัสหวัดแมว (Feline Calicivirus, Feline Herpesvirus และการติดเชื้อ Bartonella) ในอดีตแมวอาจจะเคยติดไวรัสแต่ไม่มีอาการใด ๆ หรือกำลังมีอาการของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าวร่วมกับมีแผลในปากด้วย8
เชื้อไวรัสแฝงตัวอยู่ในร่างกายแม้ว่าจะเคยติดเชื้อนานมาแล้ว รอคอยเวลาที่แมวอ่อนแอและเล่นงานระบบภูมิคุ้มกันของแมวทำให้ง่ายต่อการอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่แล้วในปาก โดยแสดงอาการมีแผลอักเสบแบบทั่วทั้งปาก ลิ้นและเหงือก น้ำลายไหล กินอาหารน้อยลงและเจ็บปวด
โรคติดเชื้อไวรัสเอดส์แมว, ลิวคีเมีย และหวัดแมว สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนแมว แน่นอนว่าการป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการรักษาอย่างแน่นอน เพราะนอกจากค่ารักษาจะแพงกว่าค่าวัคซีนแล้ว การติดเชื้อไวรัสดังกล่าวยังเป็นแบบติดแล้วติดเลย เชื้อไวรัสจะแฝงตัวในร่างกายแมวตลอดชีวิตรอเวลาร่างกายอ่อนแอและกลับมาแสดงอาการป่วยได้ตลอดเวลา
บทความแนะนำ วัคซีนแมว:เรื่องที่ต้องรู้ก่อนพาแมวไปฉีดวัคซีน
ตรวจสุขภาพช่องปากแมวง่าย ๆ ที่บ้านด้วยตัวเอง
ช่างสังเกต
เจ้าของแมวเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดแมวมากที่สุด การเป็นคนช่างสังเกตอาจทำให้เราพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มต้นและบางครั้งสามารถมองเห็นอาการผิดปกติก่อนที่จะอ้าปากแมวดูด้วยซ้ำ อาการของแมวที่มีปัญหาช่องปากและฟันมีดังนี้4
- แมวปากเหม็น
- แมวเหงือกอักเสบแดงและบวม
- แมวมีแผลในปาก
- แมวน้ำลายไหล
- ฟันหักหรือฟันหลุดหายไป
- มีคราบหินปูน
- แมวเกาหน้าหรือถูหน้าบ่อย ๆ
- แมวมีแผลบริเวณริมฝีปาก
- แมวตาแฉะ น้ำมูกไหล อาการคล้ายแมวเป็นหวัด
- หน้าบวม คางบวม ใต้ตาบวม หรือคลำพบก้อนผิดปกติบริเวณใบหน้าหรือลำคอ
- แมวไม่กินอาหาร
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มตรวจช่องปากแมว
การเตรียมตัวเราและอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนเริ่มปฏิบัติการตรวจแมวเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกบังคับด้วยวิธีอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวป่วยที่เจ็บปากอยู่แล้วยิ่งไม่อยากให้ใครมาแตะต้อง แต่ถ้าหากแมวของคุณเป็นแมวเหมียวนิสัยดีที่คุ้นเคยกับการจับหน้าหรืออ้าปากป้อนยาก็ขอแสดงความยินดีด้วย การตรวจปากแมวไม่น่ายากสำหรับกรณีนี้
อุปกรณ์ในการตรวจปากแมว
- ผ้าขนหนูสำหรับห่อตัวแมวกันเล็บข่วน (สำหรับแมวดื้อ ๆ)
- ไฟฉายเล็ก ๆ
- รางวัลสำหรับแมวเด็กดีที่ยอมให้ตรวจช่องปาก เช่น ขนมแมวเลีย
บทความแนะนำ วิธีจับแมว
อย่าลืมว่า เราต้องเริ่มจับบังคับจากความนุ่มนวลก่อนเสมอ ถ้าแมวไม่ยินยอมก็ไม่ควรบังคับแมวต่อไปด้วยความรุนแรงเพราะจะสร้างประสบการณ์ไม่ดีให้แก่แมว หากเริ่มฝึกการตรวจช่องปากให้กับแมวตั้งแต่เป็นเด็กโดยมีเงื่อนไขว่า “อ้าปากเสร็จแล้วมีขนมให้กินนะ” ชีวิตของทาสแมวหลังจากนี้จะง่ายขึ้นอย่างแน่นอนทั้งการตรวจปากแมวและการป้อนยา
คำเตือน การจับบังคับแมวสำหรับตรวจช่องปากต้องอาศัยความชำนาญและความคล่องแคล่วว่องไว เราอาจมีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการมองสำรวจในปากแมว ถ้าหากคุณไม่แน่ใจว่าจะสามารถจับแมวตรวจปากได้หรือไม่ ควรพาแมวไปหาหมอจะปลอดภัยต่อเจ้าของและแมวมากกว่า
เริ่มขั้นตอนตรวจปากแมวกันได้เลย
- ดมกลิ่นปากแมว (แนะนำให้ดมตอนแมวหลับสนิท)
- ตรวจฟันด้านหน้าและด้านข้างของแมวก่อน เพราะการเปิดแค่ริมฝีปากแมวยังไม่ถูกบังคับมากเท่าอ้าปากแมว หากจับแมวอ้าปากทันทีแมวบางตัวอาจไม่ยินยอมให้ตรวจอีกต่อไป
- จับแมวเปิดปากโดยการเงยหน้าแมวขึ้นและใช้มืออีกข้างเปิดปากแมวจากตรงกลางริมฝีปากอย่างช้า ๆ คล้ายกับวิธีป้อนยาเม็ดแมว ควรช่วยกันสองคนในขั้นตอนนี้ (การห่อแมวด้วยผ้าขนหนูก็เป็นวิธีที่ดีในการจับแมวอย่างปลอดภัยมากขึ้น)
- สำรวจช่องปากของแมวว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่โดยใช้ไฟฉายขนาดเล็กส่องดูข้างในช่องปาก
- ให้รางวัลแมวที่ให้ความร่วมมือในการตรวจปากและฟัน
ควรระวัง!!! การอ้าปากแมวที่ดูปกติเพื่อการตรวจสุขภาพกับแมวป่วยที่สงสัยว่ามีความผิดปกติในช่องปากไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าแมวป่วยย่อมมีความเจ็บปวด ทำให้การอ้าปากแมวป่วยทำได้ยากและแมวอาจไม่ยอมให้จับปากด้วยซ้ำ เจ้าของอาจจะโดนแมวกัดหรือข่วนได้นะ
วิธีป้องกันปัญหาแมวปากเหม็นที่เกิดจากหินปูนและคราบแบคทีเรีย
ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเจ้าแมวปากเหม็นมีจุดเริ่มต้นมาจากคราบแบคทีเรียและหินปูน รวมทั้งแมวที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์แมว, ลิวคีเมีย และหวัดแมว หากปล่อยให้มีหินปูนและคราบแบคทีเรีย ก็สามารถโน้มนำให้เกิดแผลในปากและเหงือกอักเสบได้ง่าย ๆ แล้วอาการยังรุนแรงกว่าแมวทั่ว ๆ ไปอีกด้วย มาดูกันว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะป้องกันปัญหาแมวปากเหม็น
อาหารแมว
ลักษณะของอาหารแมวมีผลโดยตรงต่อสุขภาพช่องปากและฟันของแมว อาหารเม็ดมีความหยาบทำให้แมวต้องเคี้ยวก่อนกลืน ช่วยให้เกิดการขัดถูที่ผิวฟันทำให้ลดโอกาสเกิดคราบแบคทีเรียสะสมได้ แต่แน่นอนว่าอาหารเม็ดที่ทั้งแห้งและแข็งอาจไม่น่าอร่อยเท่าอาหารเปียกหรือข้าวคลุกปลา หากการเปลี่ยนมากินอาหารเม็ดมันเป็นสิ่งที่ยากเหลือเกิน ลองค่อย ๆ ผสมอาหารเม็ดลงไปในอาหารเดิมทีละน้อยและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ทีละ 25% ของอาหารทั้งหมด รับรองว่าไม่เกิน 7 วันแมวจะยอมกินอาหารเม็ดอย่างแน่นอน
ฝึกแมวเหมียวให้กินน้ำเก่ง
แมวไม่ชอบกินน้ำใคร ๆ ก็รู้ แต่จะทำอย่างไรให้แมวกินน้ำเพิ่มขึ้น เพราะการกินน้ำนี่แหละเป็นการล้างคราบอาหาร ลดการสะสมคราบแบคทีเรียที่นำไปสู่การเกิดหินปูนและทุก ๆ ปัญหาของช่องปากและฟัน นอกจากนั้นยังช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น แมวกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แมวท้องผูก
ทาสแมวพยายามอย่างมากในการค้นหาวิธีให้แมวกินน้ำให้เพียงพอ โดยมีหลักการง่าย ๆ ดังนี้
- แอบสังเกตพฤติกรรมกินน้ำของแมว แมวบางตัวชอบน้ำไหล แมวบางตัวชอบน้ำนิ่ง ดังนั้น แมวจะเลือกกินน้ำจากถ้วย บ่อปลาหรือน้ำตกแมว แล้วแต่ความชอบของแมว ที่สำคัญคือ น้ำนั้นต้องสะอาด
- กลิ่นของน้ำก็มีผลต่อความอยากกินน้ำของแมว แมวชอบน้ำที่ไม่มีสี กลิ่น รส แมวส่วนใหญ่มีสัมผัสพิเศษที่ไวมากต่อกลิ่นแปลก ๆ แม้แต่กลิ่นชามพลาสติกก็ทำให้แมวบางตัวไม่กินน้ำซะแล้ว
- ลักษณะชามน้ำ เลือกลักษณะชามที่กว้างกว่าหน้าแมวและค่อนข้างเตี้ย จะทำให้แมวสะดวกต่อการกินน้ำมากขึ้น เพราะหนวดไม่ชนขอบชามและตายังมองสิ่งรอบตัวได้ขณะกินน้ำ นอกจากนั้นชามที่ไม่ค่อยมีกลิ่น เช่น เซรามิกหรือแก้วก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ดี
ทำความสะอาดปากแมว
การแปรงฟันให้แมวเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำความสะอาดปากแมว แต่แค่คิดว่าจะจับแมวอ้าปากแปรงฟันก็ดูจะเป็นเรื่องยากเย็น แต่ทุกอย่างเป็นไปได้หากค่อย ๆ ฝึกหัดให้แมวรู้ว่าการแปรงฟันไม่ได้น่ากลัว จะดีมากหากเราเริ่มให้แมวรู้จักแปรงสีฟันหรือปลอกนิ้วสำหรับแปรงฟันตั้งแต่เป็นลูกแมว โดยท่องไว้ในใจว่ามันเป็นกิจกรรมที่สนุกและอย่าลืมให้รางวัลแมวเสมอที่เป็นเด็กดียอมให้แปรงฟัน แมวอาจจะแสดงอาการไม่ชอบเลยหากต้องอ้าปาก ถ้าแมวต่อต้านก็ไม่ควรบังคับแมว ค่อย ๆ ฝึกแมวอย่างใจเย็นและอดทน
เลือกยาสีฟันสำหรับสัตว์โดยเฉพาะ เพราะปลอดภัยต่อแมวเมื่อต้องกลืนมันลงไปและรสชาติยังถูกปากแมวอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้แปรงฟันทุกวันหรือมากที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพในการลดการเกิดคราบแบคทีเรียและหินปูน
เทคนิคแปรงฟันให้แมว
เริ่มต้นจากเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมและชวนแมวให้เล่นแปรงฟัน เริ่มลูบไล้หน้าแมวและจับหน้าแมวเอียงขึ้น 45 องศา ค่อย ๆ สอดอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดไม่ว่าจะเป็นแปรงสีฟันขนาดเล็กหรือปลอกนิ้วก็ได้ ถูเบา ๆ ในขั้นตอนนี้หากเพิ่มยาสีฟันสำหรับสัตว์ก็จะทำให้การแปรงฟันง่ายขึ้น และอย่าลืมให้รางวัลแมวหลังแปรงฟันด้วยนะ เช่น ขนมที่เป็นมิตรกับฟัน
เทคนิคการแปรงฟันแมวคือ เริ่มจากฟันหน้าก่อนให้แมวคุ้นเคย เมื่อเริ่มยอมรับการแปรงฟันแล้วค่อยแปรงเข้าไปถึงฟันซี่ข้างใน เพราะหินปูนมักจะเกิดขึ้นมากที่ฟันกรามจึงไม่ควรละเลยที่จะแปรงฟันให้ครบทุกซี่โดยเน้นที่ขอบเหงือกทั้งด้านลิ้นและกระพุ้งแก้ม
ชวนแมวเล่น
การกัดแทะของเล่นแมว ก็ช่วยให้ฟันได้รับการขัดถูได้เช่นกัน ที่สำคัญคือการเลือกของเล่นสำหรับแมวโดยเฉพาะที่สามารถกัดแทะได้อย่างปลอดภัย
แมวบางตัวชอบเล่นต้นไม้ใบหญ้าแล้วยังแทะกินเข้าไปอีกด้วย หากแมวมีพฤติกรรมเล่นและกินต้นไม้ก็ควรเลือกปลูกต้นไม้ที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง
บทความแนะนำ ทำไมสุนัขและแมวจึงกินหญ้า
ตรวจฟันโดยสัตวแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจฟันโดยสัตวแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี แน่นอนว่าการพาแมวไปหาหมอจะได้รับการตรวจอย่างละเอียดมากขึ้น ถ้าหากเราพบปัญหาจะได้รีบจัดการอย่างรวดเร็วก่อนที่จะกลายเป็นแมวปากเหม็น
บทสรุป…
“แมวปากเหม็น” อาจซ่อนปัญหามากมายที่หากปล่อยปละละเลยไม่ดูแลอาจนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่แย่ของแมวได้ ลองจินตนาการดูว่าหากเราต้องทนอยู่กับปากที่มีหินปูนหนา ๆ น้ำลายเหนียว กลิ่นปากรุนแรง และเจ็บปากทุกครั้งที่เคี้ยวอาหาร ชีวิตที่เหลือคงไม่แฮปปี้ อย่าลืมสังเกตสุขภาพช่องปากและฟันแมวเหมียวที่บ้านและตรวจสุขภาพประจำปีกับสัตวแพทย์ด้วยนะ
อ้างอิง
1.https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/cornell-feline-health-center/health-information/feline-health-topics/when-kitty-needs-dentist
2.https://icatcare.org/advice/dental-disease-in-cats/
3.https://www.thesprucepets.com/how-to-examine-your-cats-teeth-552103
4.https://www.petbarn.com.au/petspot/cat/medical-vet-services-cat/7-signs-dental-disease-cats-bad-breath/
5.https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/cornell-feline-health-center/health-information/feline-health-topics/feline-dental-disease
6.https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/cornell-feline-health-center/health-information/feline-health-topics/bad-breath-sign-illness
7.https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdfdirect/10.1111/jsap.13132?download=true
8.https://todaysveterinarypractice.com/chronic-feline-gingivostamatitis-proven-therapeutic-approaches-new-treatment-optionsce-article/