ทาสแมวไม่ถูกใจสิ่งนี้! แพ้ขนแมวจัดการยังไงดี

ไหนใครชอบแมวมาก ๆ แต่ว่าพอเข้าไปหาแมวแล้วมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล คันยิบ ๆ ตามผิวหนังบ้าง ทาสแมวไม่ถูกใจสิ่งนี้ นี่คืออาการเบื้องต้นของการแพ้ขนแมว วันนี้กาโตโระพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับอาการแพ้ขนแมวของมนุษย์อย่างเรา ๆ นี่แหละว่าเป็นอย่างไร อาการที่เราเป็นอยู่คืออาการแพ้ขนแมวใช่ไหมนะ? รวมทั้งไปหาคำตอบว่าการแพ้ขนแมวเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้วเราจะสามารถจัดการกับอาการแพ้ขนแมวยังไงได้บ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ 

แพ้ขนแมวคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

อาการแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ (allengen) มากกว่าปกติ Allengen หรือสารก่อภูมิแพ้ไม่ใช่สิ่งอันตรายแต่เป็นร่างกายของเรานั่นแหละที่ตอบสนองอย่างสุดโต่งจนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น

ไม่สำคัญว่าเราจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ ภูมิคุ้มกันของร่างกายของคนเราสามารถสร้างโปรตีน (antibodies) ที่ตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ตลอด หลายคนอาจจะสงสัยว่าเราก็อยู่กับแมวมาหลายปีไม่เคยเห็นมีอาการแพ้มาก่อน ทำไมถึงมาเป็นเอาตอนนี้ นั่นก็เป็นเพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราสร้าง antibody ขึ้นมาตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้นั่นเองค่ะ อาการแพ้ขนแมวพบได้ทุกช่วงอายุและทุกช่วงเวลา 

สิ่งไหนบนร่างกายแมวที่ทำให้มนุษย์เกิดการแพ้ขนแมว 

สารก่อภูมิแพ้ส่วนใหญ่แล้วนั้นคือโปรตีน แต่สาเหตุที่ทำให้มนุษย์แพ้ขนแมวนั้นมีต้นเหตุมาจากต่อมไขมันและต่อมน้ำลายของแมวเป็นสาเหตุหลัก เมื่อดูจากพฤติกรรมของแมวที่ชอบนั่งเลียขนทั้งวันแล้วนั้นจึงทำให้สารก่อภูมิแพ้มาอยู่บริเวณขนของแมวเยอะนั่นเอง 

สารก่อภูมิแพ้ไม่ได้มาจากขนของแมวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในปัสสาวะ ผิวหนัง และอุจจาระได้อีกด้วย สารก่อภูมิแพ้มักจะมีน้ำหนักเบา สามารถล่องลอยไปตามอากาศและไปติดอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ในห้องได้

อาการแพ้ขนแมวมีอะไรบ้าง

อาการแพ้ขนแมวหลัก ๆ จะส่งผลต่อระบบหายใจ จมูก ตา ผิวหนัง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตอย่างมาก ทำให้นอนหลับยากและอ่อนเพลีย อาการหลัก ๆ ที่พบในคนที่มีอาการแพ้ขนแมวได้แก่ 

  • จาม
  • น้ำมูกไหล
  • ตาแดง น้ำตาไหลหรือคันตา
  • รู้สึกคันจมูก ช่วงคอและเพดานปาก 
  • ผิวหนังแห้งรู้สึกคัน 
  • มีผื่นขึ้น 
  • บางคนเป็นหนักอาจทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจและพบว่ามีอาการไอ เสียงหายใจหวีด แน่นอก หายใจสั้น ๆ ไม่เต็มปอด 

การแพ้ขนแมวอาจส่งผลทำให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรง ผื่นขึ้น คัน บวม หายใจไม่ออก ช็อกและเสียชีวิตได้ 

ยุทธวิธีจัดการกับการแพ้ขนแมว

การจัดการกับอาการแพ้ขนแมวของเรานั้นต้องดูแลจัดการให้ครอบคลุมทั้งตัวเราเอง ตัวของแมวและสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่จึงจะสามารถช่วยลดอาการแพ้ขนแมวของเราได้ 

จัดการแมวอย่างไร

  • อาบน้ำแมวทุกอาทิตย์ถ้าเป็นไปได้ การอาบน้ำช่วยลดความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ได้มากถึง 84 เปอร์เซ็นต์ โดยการอาบน้ำด้วยแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ แบรนด์ที่ได้มาตรฐานจะสามารถลดสารก่อภูมิแพ้ได้ 
  • ทำความสะอาดแมวเสร็จแล้วก็ต้องแปรงขน เลือกแปรงแบบไหนดี? อ่าน เยอะแยะไปหมด ทาสแมวจะเลือกแปรงขนแมวแบบไหนดีนะ
  • หลีกเลี่ยงการเป็นเจ้าของแมวหลายตัว ค่อนข้างตรงไปตรงมามาก ๆ เพราะว่ายิ่งจำนวนแมวเยอะก็จะทำให้มีสารก่อภูมิแพ้เยอะขึ้นตามมาด้วย 
  • การตอนหรือทำหมันแมวช่วยลดการผลิตสารก่อภูมิแพ้จากตัวแมวได้อย่างมาก 
  • ล้างมือทุกครั้งหลังอุ้มหรือสัมผัสแมว 

จัดการที่อยู่อาศัยอย่างไร

  • จำกัดบริเวณแมวไม่ให้เข้ามาอยู่ในห้องที่เราต้องใช้เวลาเยอะ ๆ เช่น ห้องนอน อย่าลืมว่าสารก่อภูมิแพ้มีขนาดเล็กมากสามารถกระจายตัวได้ในอากาศ แค่ในห้องที่มีแมวอยู่ก็สามารถพบสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ในอากาศได้แล้ว
  • เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ที่กักเก็บฝุ่นละอองได้ดีอย่างเช่น พรม ให้เป็นอย่างอื่น พรมต่าง ๆ สามารถกักเก็บสารก่อภูมิแพ้ได้มากกว่า 13 เท่าเมื่อเทียบกับพื้นเรียบ ๆ 
  • คนที่แพ้ขนแมวควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดบ้านด้วยตัวเอง หรือถ้าหากจำเป็นจริง ๆ ก็ควรจะสวมหน้ากากปิดจมูกระหว่างทำความสะอาดไปด้วย  หลังจากทำความสะอาดเสร็จ ห้องนั้นจะยังไม่ปลอดภัยทันที ต้องรออีก 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้สารก่อภูมิแพ้ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศกลับลงสู่พื้น
  • พิจารณาซื้อเครื่องกรองอากาศที่มีไส้กรอง HEPA วางเอาไว้ในห้องที่แมวใช้เวลามากที่สุดจะช่วยลดสารก่อภูมิแพ้ได้ 5-7 เท่าเลยทีเดียว
  • ดูดฝุ่นเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่มีไส้กรอง HEPA จะทำให้ลดสารก่อภูมิแพ้ในห้องนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไม้ปัดฝุ่น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำความสะอาดสูดดมสารก่อภูมิแพ้เข้าไปได้ง่ายขึ้น แนะนำว่าให้ทำความสะอาดฝุ่นโดยการเช็ดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด จะทำให้สารก่อภูมิแพ้ไม่กระจายล่องลอยไปในอากาศได้ดีกว่า 
  • เมื่อทำความสะอาดสิ่งปูนอนทั้งของคนและแมว รวมถึงเสื้อผ้า ให้ใช้น้ำอุ่นในการทำความสะอาดจะช่วยกำจัดสารก่อภูมิแพ้ได้ 

จัดการตัวเองอย่างไร

หากลองจัดการทั้งตัวแมวและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดูแล้วอาการแพ้ของคนส่วนใหญ่มักจะดีขึ้น แต่สำหรับบางคนก็ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นและยังมีอาการแพ้ขนแมวอยู่ จึงทำให้ต้องพึ่งยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา จะช่วยแก้ปัญหาในระดับเล็กน้อยอย่าง เช่น น้ำมูกไหล คันยิบ ๆ บริเวณจมูกและคอ จาม และน้ำตาไหลได้เท่านั้น แต่ไม่ควรทานยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป ทุกคนที่มีอาการแพ้ขนแมวควรไปหาคุณหมอ เพื่อได้รับการวินิจฉัยและได้รับยาอย่างถูกต้อง

คำถามสำคัญ ถ้าแพ้ขนแมวมาก ๆ เลี้ยงน้องไม่ได้ทำยังไงดี 

ทาสแมวใจไม่ดีเมื่อได้ยินคำนี้ เลี้ยงเขามาก็รักเขานั่นแหละ แต่ถ้าหากแมวที่เราเลี้ยงทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงและอาจส่งผลต่อสุขภาพของเราแล้วนั้นอาจจะจำเป็นต้องยอมแพ้ แต่เบื้องต้นอยากแนะนำให้ทำตามที่กล่าวมาก่อนค่ะ ก็คือจัดการตัวแมว จัดการสิ่งแวดล้อม และจัดการตัวเอง ถ้าไม่ไหวจริง ๆ การยกแมวให้กับคนอื่นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ถือว่าเป็นปัญหาหนักใจอีกอย่างนึงเลยนะคะสำหรับการแพ้ขนแมว ถ้าหากใครที่เริ่มมีอาการ ไอ จาม น้ำมูก น้ำตาไหล คันผิวหนัง คันคอ ให้ลองสังเกตดูก่อนค่ะว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่เราอยู่กับแมวหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ลองวิธีการจัดการที่แนะนำในบทความนี้ได้เลย จัดการให้ครอบคลุมทั้งตัวแมวทั้งสิ่งแวดล้อมและทั้งตัวเรา ในรายที่อาการแพ้ขนแมวไม่รุนแรงมากวิธีการเหล่านี้ช่วยได้มากจริง ๆ ค่ะ 

อ้างอิง

https://vet.osu.edu/sites/vet.osu.edu/files/legacy/documents/pdf/education/mph-vph/allergic%20to%20your%20cat.pdf

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า